Logo

เพลี้ยหอยเกล็ดรัสเซลล์.!! ในทุเรียน

Thirasak Chuchoet • May 29, 2024
เพลี้ยหอยเกล็ดรัสเซลล์.!! ในทุเรียน

เพลี้ยหอยสกุล Pit scale ศัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดของทุเรียนเล็ก

    เพลี้ยหอยเกล็ดรัสเซลล์

   ชื่อวิทยาศาสตร์: แอสเทอโรเลคาเนียม อันกูลาตั่ม (Asterolecanium ungulatum Russell)

   วงศ์ (Family): แอสเทอโรเลคาไนดี้ (Asterolecaniidae)

   วงศ์ใหญ่ (Superfamily): คอกคอยดี้ (Coccoidea)

   อันดับ (Order): เฮมิพเทอร่า (Hemiptera)

รูปร่างลักษณะ

    เพลี้ยหอยที่พบบริเวณใต้ใบทุเรียนและบางครั้งแพร่ระบาดเพิ่มจำนวนประชากรเพลี้ยมากๆ จะพบตามกิ่งอ่อน-ยอดอ่อน โดยเฉพาะในทุเรียนปลูกใหม่ ถึงอายุ 2 ปี เพลี้ยหอยชนิดนี้มีลักษณะทรงกลม ลำตัวแบน​ หลังนูนขึ้นเล็กน้อย​ มีไขเคลือบลำตัวสีขาวใสปกคลุมลำตัว เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะมีสีเหลือง​ ในระยะแรกลำตัวจะมองเห็นเป็นสีขาวขุ่นเนื่องจากยังไม่มีตัวอ่อนอยู่ใต้ท้อง​ แต่เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนใต้ท้องตัวแก่วัยเจริญพันธุ์จึงเห็นเป็นสีเหลืองอ่อน

    เพลี้ยหอยชนิดนี้ เป็นเพลี้ยหอยในสกุลเพลี้ยหอยเกล็ด (pit scale) ถูกจำแนกชนิดและตีพิมพ์ลงในเอกสาร  "A classification of the scale insect genus Asterolecanium" ในปี ค.ศ. 1941​ โดยหลุยส์ รัสเซลล์ หรือหลุยส์ รุสเซลล์ (Louise May Russell) รายงานฉบับนี้พบครั้งแรกที่หมู่เกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์​ บรูไน และมาเลเซีย ในประเทศไทยผู้เขียนพบครั้งแรกที่ จังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี ราวปี พ.ศ. 2560 ต่อมาพบในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเพลี้ยติดมากับต้นพันธุ์จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และต่อมาพบตามภาคตะวันออกบางพื้นที่​ เพลี้ยหอยรัสเซลล์เป็นเพลี้ยที่อยู่ในวงศ์ใหญ่ (Superfamily)  คอกคอยดี้ (Coccoidea) เช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอยชนิดอื่นๆ สำหรับชื่อ​  "เพลี้ยหอยรัสเซลล์"​ เป็นการเรียกชื่อ​เพื่อให้เกียรติแก่ผู้จำแนกชนิด (อย่างไม่เป็นทางการ)​

ภาพ: เพลี้ยหอยเกล็ด  A. ungulatum ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทุเรียนมูซังคิง อายุต้น 5 ปีเศษ

ภาพ: เพลี้ยหอยเกล็ด  A. ungulatum ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและกิ่งก้านของทุเรียนอายุน้อย

ภาพ: เพลี้ยหอยเกล็ด  A. ungulatum ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและกิ่งก้านของทุเรียนอายุน้อย

การเข้าทำลาย

    การทำลายของเพลี้ยหอยเกล็ด A. ungulatum ส่วนมากพบในต้นกล้าพันธุ์ทุเรียน และทุเรียนปลูกใหม่ อายุไม่เกิน 2-3 ปี แต่หากกำจัดไม่หมดหรือปล่อยปละอาจพบในทุเรียนอายุมากกว่านี้ได้​ เพลี้ยหอยเข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่บริเวณใต้ใบแก่ทุเรียน ทำให้หน้าใบเป็นจุดแต้มเหลืองกระจายทั่วใบ ทำให้ใบอายุสั้นลง ใบแห้งกร้านและหลุดล่วงในเวลาต่อมา หากเข้าทำลายตั้งแต่ระยะใบอ่อนหรือยอดที่เกิดใหม่จะทำให้ใบเหลืองหงิกงอ ในทุเรียนเล็กที่ขาดการดูแลเพลี้ยสามารถแพร่ขยายจำนวนและดูดกินน้ำเลี้ยงได้เกือบทั้งต้น

    ในทุเรียนปลูกใหม่ พบว่า เพลี้ยหอยเกล็ดสามารถดูดกินน้ำเลี้ยงตามก้านใบอ่อนและกิ่งยอดอ่อน ทำให้กิ่งก้านใบอ่อนม้วนงอ ข้อสั้น ใบอ่อนหงิกงอม้วนลงและตามหน้าใบเป็นจุดสีเหลือง ต้นแคระแกร็น และชะงักการเจริญเติบโต

วงจรชีวิต

    เพลี้ยหอยเกล็ด A. ungulatum ยังไม่พบรายงานการศึกษาวงจรชีวิต​ แต่หากอ้างอิงสกุลของเพลี้ยหอยเกล็ดแอสเทอโรเลคาเนียม(Genus: Asterolecanium)​ พบว่า เพลี้ยหอยในสกุลนี้หลายชนิดสามารถแพร่พันธุ์​โดยไม่ต้องผสมพันธุ์​ได้​ (parthenogenesis)​ เช่น​ เพลี้ยหอยเกล็ดปุสทูเลนส์​ (A. pustulans)

    เพลี้ยหอยเกล็ด A. ungulatum วางไข่และฟักเป็นตัวอ่อน​อยู่ภายในใต้ท้องของตัวเต็มวัยเพศเมีย​ (วัยสืบพันธุ์) ตัวอ่อนที่ฟักออกมาของเพลี้ยสกุลนี้ส่วนใหญ่​ตัวอ่อนเพศเมียจะมี​ช่วงวัยที่เป็นตัวอ่อน 3 ช่วง​ ส่วนตัวอ่อนเพศผู้ มี 5 ช่วงวัย​

   ตัวอ่อนวัยคลาน​ (crawlers):​ ตัวอ่อนวัยนี้จะมีขา​ 3 คู่​ และคลานออกจากใต้ท้องตัวเต็มวัย เคลื่อนที่เพื่อหาจุดที่จะดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช

   ตัวอ่อนวัย​ 1-4​ (instar 1St - 4th): ตัวอ่อนวัยคลานเมื่อลอกคราบเป็นตัวอ่อนในวัยถัดไปจะมีขาหดสั้นลง​ ดังนั้น ตัวอ่อนในวัย​ 1-4 จะเคลื่อนที่ได้น้อยมาก​ และจะขยับตัวไปไม่ไกลจากจุดแรกที่เจาะดูดกินน้ำเลี้ยง

   ตัวเต็มวัย​ หรือตัวแก่ /วัยเจริญพันธุ์ (Adults): ​เพศเมีย จะมีการฝั่งตัวลงไปในเนื้อเยื่อพืชเล็กน้อยและจะไม่เคลื่อนที่อีก​ ส่วนเพศผู้จะมีปีก

ภาพ: เพลี้ยหอยเกล็ด  A. ungulatum และกลุ่มไข่กับตัวอ่อนที่อยู่ใต้ท้องตัวเต็มวัยเพศเมีย

การกำจัด

    เนื่องจากเพลี้ยหอยเกล็ด A. ungulatum อยู่ตามใต้ใบ​และมีไขเคลือบ​ลำตัว​ โดยไขเคลือบมีลักษณะเช่นเดียวกับไขขี้ผึ้ง​ ดังนั้น น้ำจะเกาะลำตัวเพลี้ยค่อนข้างน้อยหรือไม่ได้​ การพ่นสารกำจัดแมลงที่เป็นสูตรผสมสารในรูปน้ำ​ ผง​ ยาเม็ด​ และน้ำเนื้อครีม จึงเป็นข้อจำกัดค่อนข้างมาก หากเลือกใช้สารกำจัดแมลงในรูปสูตรดังที่กล่าว มีความจำเป็นจะต้องใช้สารเคลือบผิวที่เป็นน้ำมัน (ออยล์: oils) ผสมร่วมด้วย เช่น ไวท์​ออยล์ หรือพาราฟินออยล์​ เพื่อเสริมการเคลือบไข ยืดเกาะและสารเข้าสู่ลำตัวของเพลี้ยได้ดียิ่งขึ้น

    จากการติดตามสังเกตุและทดสอบซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง​ของผู้เขียน พบว่า​ สารกำจัดแมลง กลุ่ม​ 1B​ เช่น​ โพรฟีโนฟอส​ 50% (ชื่อการค้า เช่น  พีโป) ไดอะซินอน 60% (ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น  ลีน่อน) และพิริมิฟอส​ 50% ให้ผลดีในการกำจัด[1]​ อัตราใช้ 350-400 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร และควรพ่นเน้นไปที่ใต้ใบ​ นอกจากนี้ การใช้สารกำจัดแมลงกลุ่มกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง จะช่วยลดการแพร่ระบาดหรือกำจัดเพลี้ยได้ดียิ่งขึ้น เช่น สารกำจัดแมลง กลุ่ม 7C ได้แก่ ไพริฟรอกซิเฟน 10% (ชื่อการค้าที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร[2] ปัจจุบันมี 3 ชื่อการค้า (ณ เดือน พ.ค.67) ได้แก่  แพ็คซิเฟน แอ็กเฟน และ  ไพริโกร) โดยใช้อัตรา 250-400 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร สารกำจัดแมลงยับยั้งการเจริญของแมลงอีกกลุ่มที่พอใช้ได้ คือ กลุ่ม 16 ได้แก่ บูโพรเฟซีน 40% (ตัวอย่าง ชื่อการค้า เช่น  แพ็คบูซิน) อัตราแนะนำขั้นต้น 300 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร ขึ้นไป[3]

    เนื่องจากเพลี้ยหอยเกล็ด  A. ungulatum ออกไข่และมีตัวอ่อนระยะแรกอยู่ใต้ท้อง จึงมีความจำเป็นต้องพ่นสารกำจัดแมลงซ้ำ 2-4 ครั้ง​ โดยพ่นทุก​​ 10-14 วัน​ ต่อเนื่อง​ และหลังจากนั้นราว​ 1.5-2 เดือน​ ควรพ่นซ้ำ​อีก​ 2​ ครั้งทุก​ 10-14​ วัน

   ข้อสังเกตุ: สารกำจัดแมลง กลุ่ม​ 4A และกลุ่ม 23 แม้จะมีคุณ​สม​บัติดูดซึมที่ดี​ แต่ประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยหอย-เพลี้ยแป้งมักไม่ค่อยได้ผลตามที่คาดหวัง

[1]โพรฟีโนฟอส​, ไดอะซินอน และพิริมิฟอส​ มีกลิ่นฉุน หรือเหม็นค่อนข้างสูง

[2]ไพริฟรอกซิเฟน 10% ปัจจุบันหลังมีกระแสในการป้องกันกำจัดเพลี้ยได้ดี จึงมีผู้จัดจำหน่ายนำสารดังกล่าวที่ไม่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรมาจำหน่ายมากขึ้น

[3]ข้อสังเกตุ สาร “ไพริฟรอกซิเฟน”​ มีประสิทธิภาพมากกว่า​ “บูโพรเฟซีน” ในการกำจัดเพลี้ยหอย-เพลี้ยแป้ง อาจเพราะมีการใช้สารกลุ่ม 16 กันมานานและมักใช้อัตราที่ต่ำกว่าอัตราแนะนำ (บูโพรเฟซีน 40% อัตราต่ำกว่าอัตราแนะนำ เช่น 100-200 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร)

ภาพ: เพลี้ยหอยเกล็ด  A. ungulatum ที่กำลังจะสิ้น ส่วนตัวอ่อนที่อยู่ใต้ท้องยังมีชีวิตเป็นปกติและคลานออกมาจากท้องตัวเต็มวัย

ภาพ: เชื้อราเหลืองเข้ากินซากและเจริญเติบโตในซากของเพลี้ยหอยเกล็ด  A. ungulatum

แหล่งสืบค้น: 

    พิสูทธิ์ เอกอำนวย.2566.โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ 2023 Diseases and Pests of Economic Importance Update 2023 edition.พิพิธภัณฑ์แมลงสยาม (Siam Insect-Zoo & Museum).พิมพ์ที่ บริษัทอมรินทร์พริ้นตอ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).1067 หน้า

    เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2559.การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกะหล่ำ เทคนิคการพ่นสารฆ่าแมลงในพืชผักและกลไกการต้านทานสารฆ่าแมลงของแมลงศัตรูผักที่สำคัญ.กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.จัดทำโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย.86 หน้า.

    Louise May Russell.1941.A classification of the scale insect genus Asterolecanium.Miscellaneous publication / United States Department of Agriculture, no. 424.Washington, D.C, U.S. Dept. of Agriculture, 1941.322 page.

    IRAC.2019.Insecticide Mode of Action Training slide deck IRAC MoA Workgroup Version 1.0, April 2019.

    (https://irac-online.org)

    IRAC.2024.MODE OF ACTION CLASSIFICATION SCHEME VERSION 11.1, JANUARY 2024.

    (https://irac-online.org)

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: