Logo

บั่วปมมะม่วง (Mango gall midge) ศัตรูพืชในมะม่วง

Thirasak Chuchoet • October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง (Mango gall midge) ศัตรูพืชในมะม่วง
แมลงบั่วปมมะม่วง คืออะไร..?

   บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กมากรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน (พ่นสารกำจัดแมลง) ตัวอ่อนของบั่่มปมมะม่วงเป็นตัวหนอนที่สร้างความเสียหายกับใบมะม่วงทั้งใบอ่อนและใบแก่ ในฤดูช่วงออกดอก-ติดผลอ่อนระหว่างช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ซึ่งสภาพอากาศแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของบั่วปมมะม่วงและพบความเสียหายอันเนื่องมาจากตัวหนอนซึ่งเป็นตัวอ่อนของบั่วปมมะม่วงเจาะเข้าทำลายกัดกินดอกและผลอ่อนอยู่ภายใน ทำให้ดอกและผลอ่อนร่วงหล่นได้

การแพร่ระบาดของบั่วปมมะม่วง

   บั่วปมมะม่วง เป็นศัตรูพืชมะม่วงที่แพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ (ความชื้นในอากาศ) หรือฝนทิ้งช่วง โดยพบว่าในช่วงผลมะม่วงใกล้สุกจะพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น เช่น ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และเมษายน-พฤษภาคม สำหรับประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของบั่วปมมะม่วงได้ทุกภาคของประเทศ

ลักษณะการเข้าทำลายของบั่วปมมะม่วง

   บั่วปมมะม่วง ตัวเต็มวัยมีรูปร่างคล้ายยุงมีปากแบบซับดูด สามารถทำลายได้ตั้งแต่ใบ ดอก และผลอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากมะม่วง ลักษณะอาการที่เด่นชัดที่มะม่วงถูกเข้าทำลายจะปรากฏที่ใบเป็นสำคัญ ทั้งใบอ่อนและใบแก่ โดยพบตุ่มเม็ดทรงกลมบนหน้าใบ ตุ่มมีขนาดเล็ก ประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ในระยะแรกจะเป็นตุ่มนูนขึ้นมาจากเนื้อใบเล็กน้อย มีสีเหลือง ต่อมาตุ่มนูนนั้นจะพัฒนาขึ้นมาเป็นก้อนเม็ดทรงกลมมีสีเหลือง หลังจากนั้นตุ่มเม็ดจึงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและเป็นสีดำในที่สุด ในตุ่มเม็ดดังกล่าวจะมีตัวหนอนของบั่วปมมะม่วงอาศัยอยู่ ซึ่งตุ่มเม็ดเกิดขึ้นจากเนื้อเยื้อพืชมีกลไกต่อต้านสิ่งแปลกปลอมและมีลักษณะคล้ายตุ่มหูด ในระยะตุ่มเม็ดมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำจะพบรูที่ตุ่มด้านบนซึ่งเป็นรูที่เกิดจากการเจาะออกมา

    หากตัวหนอนเจาะเข้าดอกมะม่วง ดอกจะมีลักษณะบวมโป่งพอง ขนาดของดอกโตกว่าดอกปกติ เมื่อผ่าดอกจะพบตัวหนอนสีครีมใสหรือสีเหลืองอยู่ภายใน ในผลอ่อนจะพบตุ่มนูนโป่งพองและพบจุดสีน้ำตาลหรือดำที่ผลเป็นร่องรอยการเจาะออกของบั่วปมมะม่วง

ชีววิทยาของบั่วปมมะม่วง

   บั่วปมมะม่วง (Mango gall midge) 

   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Procontarinia matteiana Kieffer & Cecconi 

   ชื่อพ้อง : 

       Erosomyia mangiferae Felt

       Dasineura mangiferae Felt

       Erosomyia indica Grover & Prasad

       Mangodiplosis mangiferae Tavares

       Procystiphora mangiferae(Felt)

    วงศ์ (Family) : Cecidomyiidae

    อันดับ (Order) : Diptera

    วงจรชีวิตของบั่วปมมะม่วง 

    วงจรชีวิตจากระยะไข่จนถึงเป็นตัวเต็มวัย มีอายุเฉลี่ย 7-12 วัน และตลอดอายุขัยเพศผู้มีอายุได้ราว 17-20 วัน ส่วนเพศเมียมีอายุขัยราว 20-25 วัน ดังนี้

   ตัวเต็มวัย (adults) :ตัวเต็มวัยของบั่วปมมะม่วง มีรูปร่างคล้ายยุง ลำตัวสีเหลืองอมเขียว หรือสีเขียว มีขนาดเล็กมาก ปีกคู่หน้าโปร่งใส มีขนเล็กๆ จำนวนมากที่ขอบ ปีกคู่หลังลดรูปเป็นติ่ง ขาคู่หลังใหญ่กว่าขาคู่หน้าและขาคู่กลาง ส่วนท้องมีสีเหลืองมองเห็นได้ชัดเจน ในเพศผู้ ส่วนท้องยาวและเรียว และมีขนเล็กๆ อยู่ที่ปลาย ในขณะที่เพศเมีย ส่วนท้องจะทู่มน มีอวัยวะวางไข่อยู่ที่ปลายท้อง 

    ความยาวจากส่วนหัวจรดปลายของบั่วปมมะม่วงเพศผู้ เฉลี่ย 1.3 มิลลิเมตร ความกว้างเมื่อกางปีกออก เฉลี่ยกว้าง 2.8 มิลลิเมตร เพศเมียมีความยาวโดยเฉลี่ย 1.4 มิลลิเมตร ในขณะที่ความกว้างของปีกที่กางออกเฉลี่ย 3 มิลลิเมตร

    ตัวเต็มวัยของบั่วปมมะม่วง จะมีอายุขัยเฉลี่ยราว 2-4 วัน โดยเพศผู้จะมีอายุขัยสั้นกว่าเพศเมีย เพศเมียหลังจากเจริญเป็นตัวเต็มวัยราว 1 วัน จะเริ่มวางไข่ โดยเพศเมียแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ราว 8-10 ฟอง

   ไข่ (eggs) : บั่วปมมะม่วงเพศเมียวางไข่ทีละฟอง โดยมักวางไข่ที่บริเวณหน้าใบของใบอ่อนมะม่วงมากกว่าวางไข่บริเวณใต้ใบหรือที่ช่อดอกมะม่วง

    ไข่ที่เพิ่งวางใหม่ๆ มีขนาดเล็ก โปร่งแสง รูปร่างยาวรี และมีสีเหลืองอ่อน ความยาวของไข่เฉลี่ย 0.2 มิลลิเมตร กว้างเฉลี่ย 0.15 มิลลิเมตร ในขณะที่ความกว้างอยู่ระหว่าง 0.10 ถึง 0.17 มม. ไข่ของบั่วปมมะม่วงมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 2.5 วัน และมีอัตราการฟักไข่เป็นตัวหนอนเฉลี่ย 55%-60%

   ตัวหนอน (instar) : บั่วปมมะม่วงระยะตัวหนอน มี 3 ช่วงวัย และมีอายุขัยเฉลี่ย 5-9 วัน แต่ละช่วงวัยจะลอกคราบเพื่อเจริญเป็นวัยถัดไป โดยลอกคราบทั้งสิ้น 3 ครั้ง ก่อนเข้าดักแด้

   ตัวอ่อนวัยที่ 1 (first instar) : เมื่อฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช หลังจากนั้นคาดว่ามีสารเคมีบางชนิดที่อาจเกิดจากตัวเต็มวัยเพศเมียฉีดเข้าไปขณะวางไข่หรือตัวอ่อนภายในไข่สร้างขึ้น มีผลกระตุ้นให้เนื้อเยื่อเพื่อเกิดการสร้างตุ่มปมขึ้นที่ใบ (หูด) โดยตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ภายในตุ่มปมนั้น ตัวหนอนในระยะนี้มีขนาดเล็ก บอบบาง ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ไม่มีขา ปลายทั้งสองข้างมน และมีสีขาว มีความยาวลำตัวเฉลี่ย 0.35 มิลลิเมตร และความกว้างเฉลี่ย 0.15 มิลลิเมตร ตัวหนอนใช้เวลาเจริญเติบโตเฉลี่ย 1-1.5 วัน จึงลอกคราบเป็นตัวหนอนวัยถัดไป

   ตัวหนอนวัยที่ 2 (second instar) :หนอนวัยนี้เริ่มมีสีเหลืองอ่อน และกินอาหารมาก โดยตัวหนอนมีความยาวตั้งแต่ 0.50- 0.7 มิลลิเมตร และความกว้าง 0.3 ถึง 0.5 มม. ซึ่งมีระยะเจริญเติบโตราว 1.5-2.5 วัน ก่อนลอกคราบ

   ตัวหนอนวัยที่ 3 (third instar) : ตัวหนอนวัยนี้มีลักษณะลำตัวแบน รูปทรงกระบอก มีสีเหลือง ส่วนหัวมีลักษณะเป็นก้อนกลม และมีสีเหลืองหม่น หนอนในระยะที่ 3 สามารถแยกแยะได้ง่ายจากหนอนในระยะที่ 2 โดยพิจารณาจากพัฒนาการของส่วนปาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายตะขอ และแผ่นแข็งบริเวณส่วนหัว 

    โดยมีความยาวเฉลี่ย 1 มิลลิเมตร และความกว้าง 0.6-0.7 มิลลิเมตร โดยมีระยะเวลาเจริญเติบโตเฉลี่ย 2.5-4.5 วัน

   ดักแด้ (pupa) : เมื่อการเจริญเติบโตของระยะตัวหนอนเสร็จสมบูรณ์ หนอนจะหยุดกินอาหาร มีสีเข้มขึ้น เคลื่อนไหวน้อยลง และหยุดการเคลื่อนไหว ซึ่งถือว่าเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ ในระหว่างระยะก่อนเข้าดักแด้ สีจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ระยะเวลาก่อนเข้าดักแด้จะกินเวลาอยู่ราว 0.5-1.5 วัน

    บั่วปมมะม่วงจะเข้าดักแด้ภายในตุ่มปม ดักแด้มีสีเหลืองอมน้ำตาล โดยมีความยาวเฉลี่ย 1-1.2 มิลลิเมตร ความกว้าง 0.7-0.9 มิลลิเมตร โดยเข้าดักแด้นานราว 5.0-8.5 วัน ก่อนเป็นตัวเต็มวัย

การป้องกันกำจัดบั่วปมมะม่วง

    1. เมื่อพบใบที่เกิดตุ่มปมที่เกิดจากการเข้าทำลาย ควรตัดไปทำลาย

    2. พ่นสารกำจัดแมลงเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เช่น 

       สารกำจัดแมลง กลุ่ม 6 : อีมาแมกติน 1.92% (เช่น แพ็คกิ้งอี, แพ็คติน, เอ็นนาโกร) อัตรา 20-30 ซีซี.

       สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1B : ไดคลอร์วอส 50% (เช่น พีไซด์) อัตรา 30-40 ซีซี., ไตรอะโซฟอส 40% (เช่น แพ็คฟอส, เมอร์เล็ท) อัตรา 30 ซีซี., โพรฟีโนฟอส 50% (เช่น พีโป้, เอเจนต้า) อัตรา 30 ซีซี.

       สารกำจัดแมลง กลุ่ม 4A : อะซีทามิพริด 20% SP (เช่น แพ็คมอร์, แอ็กมิพริด) อัตรา 10-15 กรัม

       สารกำจัดแมลง กลุ่ม 15 : ลูเฟนนูรอน 5% อัตรา 20 ซีซี., โนวาลูรอน 5% อัตรา 20 ซีซี., หรือคลอร์ฟลูอะซูรอน และไดฟลูเบนซูรอน เป็นต้น

   *หมายเหตุ: อัตราแนะนำต่อน้ำ 20 ลิตร

แหล่งสืบค้น : 

   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร

    Erosomyia mangiferae (mango gall midge).PlantwisePlus Knowledge Bank 21845. https://doi.org/10.1079/pwkb.species.21845

    MB Zala and TM Bharpoda. Biology of mango leaf gall midge, Procontarinia matteiana Kieffer & Cecconi (Diptera: Cecidomyiidae). The Pharma Innovation Journal 2023; 12(12): 3757-3762.

    M. Hasnain, M. N. Aslam, M. A. Sangi, S. KhanAuthors Info & Affiliations. “Mango midge: Erosomyia mangiferae”. PlantwisePlus Knowledge Bank Factsheets for Farmers 20157800168. https://doi.org/10.1079/pwkb.20157800168

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
การเจริญเติบโตของพืชในแต่ละระยะจะใช้ปุ๋ย N-P-K ในสัดส่วนใกล้เคียงกันเสมอในการเจริญพัฒนา
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
การเจริญเติบโตของพืชในแต่ละระยะจะใช้ปุ๋ย N-P-K ในสัดส่วนใกล้เคียงกันเสมอในการเจริญพัฒนา ไม่ใช่ว่าระยะใบอ่อนต้องการไนโตรเจนสูง ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมต่ำ..
More Posts
Share by: