โรคไวรัสวงแหวนมะละกอ เป็นหนึ่งในโรคที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดต่อการปลูกมะละกอทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 และได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสก่อโรคสามารถเข้าทำลายมะละกอได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยทำให้ต้นมะละกอแคระแกร็น ใบด่าง ใบเรียวแหลม มีจุดวงแหวนที่ผล ผลมีขนาดเล็กลง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลมะละกออย่างมาก ผู้ปลูกมะละกอจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ สาเหตุ อาการ วิธีการแพร่ระบาด และวิธีการป้องกันกำจัด เพื่อลดความเสียหายและเพิ่มผลผลิต
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอ สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส : ปาปาย่า ริงค์สปอต ไวรัส (Papaya ringspot virus ชื่อย่อ PRSV) เชื้อไวรัสเป็นอนุภาคกึ่งสิ่งมีชีวิต โดยไวรัสก่อโรคชนิดนี้เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) จัดอยู่ในวงศ์โพไทไวริดี้ (Family : Potyviridae) สกุลโพไทไวรัส (Genus : Potyvirus) อนุภาคไวรัสมีลักษณะเป็นแท่งยาว ขนาด 780x12 นาโนเมตร เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถถ่ายทอดผ่านการสัมผัสด้วยมือหรืออุปกรณ์การเกษตรจากต้นที่ติดเชื้อไปยังต้นปกติได้ โดยเฉพาะทางบาดแผลและถ่ายทอดโดยมีเพลี้ยอ่อนหลายชนิดเป็นพาหะ
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอ มีชนิดย่อย (biotype) ที่สำคัญ 3 ชนิด คือ
การแพร่เชื้อโดยแมลงพาหะ : โรคไวรัสวงแหวนมะละกอมีเพลี้ยอ่อนหลายชนิดเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัส เพลี้ยอ่อนที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยอ่อนฝ้าย (Aphis gossypii), เพลี้ยอ่อนถั่ว (A. craccivora) และเพลี้ยอ่อนยาสูบ (Myzus persicae) โดยเพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นมะละกอที่ติดโรคทำให้เชื้อไวรัสติดไปกับน้ำลายของเพลี้ยอ่อน แล้วถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่ต้นมะละกอต้นอื่นๆ ซึ่งเพลี้ยอ่อนสามารถรับเชื้อและแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการติดเชื้อและกลายเป็นแมลงพาหะ
การแพร่เชื้อโดยการสัมผัสและอุปกรณ์การเกษตร : เชื้อไวรัสยังสามารถแพร่ระบาดผ่านการสัมผัส โดยการใช้อุปกรณ์การเกษตรสัมผัสต้นที่ติดเชื้อและไปสัมผัสต้นอื่นๆ โดยไม่ได้ทำการล้างเชื้อก่อน เช่น มีด กรรไกร หรือติดไปกับมือผู้ปฏิบัติงาน
การแพร่เชื้อโดยเมล็ด : เอกสารบางแหล่งระบุว่า อาจพบเชื้อไวรัสปะปนบนผิวของเมล็ดได้ แต่การแพร่เชื้อผ่านทางเมล็ดยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด
มะละกอสามารถติดเชื้อไวรัสได้ทุกระยะการเจริญเติบโต อาการของโรคไวรัสวงแหวนมะละกอจึงอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของมะละกอ ระยะการเจริญเติบโต และสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปจะพบอาการ ดังนี้
การติดเชื้อไวรัสในระยะต้นกล้า : ทำให้เกิดอาการใบด่างเหลือง ใบมีขนาดเล็กกว่าปกติ รูปทรงของใบผิดรูป ใบเรียวแหลม ต้นมะละกอจะชะงักการเจริญเติบโตและหากเจริญต่อไปได้จนถึงระยะให้ผลผลิต การออกดอกและติดผลจะลดลง และอาจมีอาการใบยอดหงิก ยอดกุด คุด หรือด้วน และอาจยืนต้นตายได้
การติดเชื้อในระยะออกดอกติดผล : ส่วนใหญ่มะละกอมักติดเชื้อในระยะที่เริ่มให้ผลผลิต โดยจะพบอาการยอดอ่อนเหลือง ใบรองๆ ลงมา จะมีอาการแต้มสีเหลืองกระจาย และต่อมาใบจะมีลักษณะใบด่างเหลือง ใบบิดเบี้ยว งอ ปลายใบเรียวผิดปกติ
อาการที่ก้านใบ : จะพบอาการจุดช้ำ หรือเป็นทางยาวสีเขียวเข้ม โดยเฉพาะบริเวณก้านที่อยู่ติดลำต้น
อาการที่ผล : ผลจะเป็นจุดวงคล้ายวงแหวน เป็นรอยช้ำ ในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อจะพบอาการจุดวงแหวนในผลแก่ใกล้สุก และเห็นจุดได้ชัดกว่าในผลอ่อน ผลจะมีขนาดเล็กกว่าต้นที่ไม่ติดเชื้อ เมื่อผ่าผลจะพบว่า บริเวณที่เป็นจุดวงแหวนเนื้อผลจะแข็งเป็นไต มีสีคล้ำลงเล็กน้อย เมื่อผลสุกเนื้อจะมีรสขม
เนื่องจากยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไวรัสวงแหวนมะละกอให้หายขาดได้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยมีวิธีการดังนี้
การป้องกัน
1. ใช้พันธุ์มะละกอที่ต้านทานโรค : ปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์มะละกอที่ต้านทานโรคไวรัสวงแหวน เช่น มะละกอสายพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม (GM Papaya) ซึ่งสามารถช่วยลดความเสียหายจากโรคได้ หรือการปรับปรุงพันธุ์โดยนำมะละกอพันธุ์ต้านทาน (Vasconcella quercifolia) มาผสมข้ามกับพันธุ์อื่นทำให้ได้พันธุ์มะละกอใหม่ที่มีความสามารถต้านทานไวรัสได้บ้าง แต่ผลผลิตและคุณภาพไม่เหมาะแก่การบริโภค
2. กำจัดต้นที่เป็นโรค : เมื่อพบต้นมะละกอที่แสดงอาการของโรค ควรถอนและทำลายทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปยังต้นอื่นๆ โดยการขุดรากถอนโคนต้นมะละกอไปกลบฝั่ง เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดลงได้ แต่ได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดได้ราว 1-2 ปี สาเหตุอาจเพราะการกำจัดเศษซากของต้นที่ติดเชื้อได้ไม่หมด
3. การป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อน : โดยพ่นสารกำจัดแมลง เพื่อควบคุมประชากรเพลี้ยอ่อนซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญ เนื่องจากเพลี้ยอ่อนมีความสามารถในการถ่ายทอดเชื้อไวรัสได้สูง และเชื้อไวรัสยังมีพืชอาศัยที่เป็นวัชพืชตามแปลงปลูกหรือแปลงหญ้ารกร้าง เช่น ตำลึง หรือวัชพืชในตระกูลแตงชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีกำจัดแมลงควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้พ่นสารด้วย ตัวอย่างสารกำจัดแมลงที่แนะนำใช้กำจัดเพลี้ยอ่อน เช่น ไดโนทีฟูแรน 20% WG อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (เช่น ฟูเรนโน่), ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 30 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร (เช่น แพ็คโปรนิล), ไพมีโทรซีน 50% WG อัตรา 15-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (เช่น แพ็คโทรซีน) เป็นต้น
*หมายเหตุ: ห้ามใช้สาร "คลอฟีนาเพอร์" พ่นมะละกอเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการไหม้ที่ใบ ดอกหรือผลได้ง่าย
4. การใช้วัคซีนหรือการชักนำให้มะละกอสร้างภูมิต้านทาน : เป็นหลักการเดียวกันกับการใช้วัคซีนในคน โดยภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตร (จารุรัตน์, 2537; วิชัยและคณะ, 2542) ได้มีการนำไวรัสก่อโรคที่มีความรุนแรงมาทำให้เชื้ออ่อนแอลง แล้วปลูกถ่ายเชื้อให้กับต้นกล้ามะละกอช่วยลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสวงแหวนที่ติดเชื้อหลังจากปลูกมะละกอลงได้ แต่วิธีการนี้มีข้อจำกัดอยู่มาก กล่าวคือ ต้นมะละกอที่ติดเชื้อไวรัสวงแหวนภายหลังจากปลูกถ่ายวัคซีน แม้จะแสดงอาการติดโรคลดลงแต่ยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ และสามารถถ่ายทอดไปยังต้นอื่นได้ นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสบางชนิดเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถต้านทานเชื้อไวรัสได้ทุกชนิด
สำหรับการใช้สารบางชนิดเพื่อชักนำภูมิต้านเชื้อไวรัสแม้ต้นมะละกอจะไม่แสดงอาการติดเชื้อหรือลดการแสดงอาการของโรค แต่ต้นมะละกอยังคงติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สารที่ชักนำภูมิต้านทานเชื้อไวรัส เช่น
คอรัส โดยมีคำแนะนำพ่นในอัตรา 10-15 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบอาการโรคไวรัสวงแหวนมะละกอ และต้องพ่นต่อเนื่องทุก 7-10 วัน
5. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของเชื้อไวรัส : ไม่ควรปลูกพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา มะระ บวบ ฟักทอง แคนตาลูป และแตงโม ใกล้กับแปลงมะละกอ เนื่องจากพืชเหล่านี้เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัสวงแหวนมะละกอ
6. กำจัดวัชพืช : วัชพืชหลายชนิดเป็นพืชอาศัยของโรคไวรัส เช่น ตำลึง วัชพืชเถาว์เลื้อย และวัชพืชตระกูลแตง เป็นต้น
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายรุนแรงมากต่อผู้ปลูกมะละกอ การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย ต้นมะละกอที่ติดโรคไวรัสวงแหวนไม่สามารถรักษาให้หายขาด การปล่อยต้นติดเชื้อเก็บไว้เป็นการสะสมเชื้อและเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสสู่ต่ออื่นๆ ต่อไป
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000