ความเค็มของดินและน้ำที่ใช้รดพืช ในบทความนี้หมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือที่ละลายน้ำได้อยู่ในปริมาณมากจนกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต เกลือที่พบมักเป็นสารประกอบของเกลือโซเดียม คลอไรด์และซัลเฟต เช่น โซเดียมคลอไรด์ (NaCl-)โซเดียมซัลเฟต (NaSO4-) แคลเซียมคลอไรด์ (CaCl-)และแมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4-)
น้ำชลประทานหรือน้ำรดพืช จะหมายถึง น้ำที่มีเกลือละลายปะปนกับน้ำในปริมาณมาก อาจมีที่มาจากดินชั้นล่างมีเกลืออยู่มาก น้ำกร่อยหรือน้ำทะเล การปล่อยน้ำจากการทำนาเกลือไหลลงสู่แหล่งน้ำ และน้ำเสียที่ปล่อยจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งเกลือมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี น้ำที่มีเกลือปะปนจึงแพร่กระจายเกลือไปสู่พื้นที่ต่างๆ ได้ และส่งผลกระทบต่อพืช
1) การสลายตัวหรือผุพังของหินเกลือ (Rocksalt) : หินเกลือเหล่านี้อยู่ในชั้นใต้ดิน น้ำที่ซึมซาบไปถึงหินเกลือและเกลือจะละลายน้ำได้เนื่องจากเกลือมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เมื่อหน้าดินเกิดการระเหยของน้ำจะเกิดแรงดึงน้ำ (capillary force) น้ำใต้ดินจึงแพร่ขึ้นมาสู่หน้าดินพร้อมด้วยเกลือที่ละลายน้ำ ทำให้หน้าดินมีความเค็มเพิ่มขึ้น ต่อเมื่อหน้าดินแห้งจากการระเหยของน้ำจึงหลงเหลือคราบเกลือไว้บริเวณหน้าดินและผิวดิน อาจเห็นเป็นคราบเกลือสีขาว
2) มีน้ำใต้ดินเค็มอยู่แล้ว : น้ำเค็มที่ระดับตื้นใกล้ผิวดิน น้ำนี้สามารถซึมแพร่ขึ้นสู่ชั้นหน้าดินและนำเกลือติดขึ้นมาด้วยโดยอาศัยแรง capillary force เมื่อน้ำระเหยแห้งก็จะทำให้มีเกลือสะสมอยู่บนหน้าดิน
3) พื้นที่บางแห่งเป็นที่ต่ำ : พื้นที่ต่ำบางครั้งจะเป็นแห่งรับน้ำที่มีความเค็ม เช่น พื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึง หรือมีน้ำกร่อยหนุนเข้าพื้นที่ ซึ่งอาจเข้าปะปนกับแหล่งน้ำธรรมชาติและทำให้แหล่งน้ำมีการสะสมเกลือเพิ่มสูงขึ้น
โดยทั่วไปในฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตกชุก ในพื้นที่ดินเค็มอาจมีความเค็มลดลงได้มากกว่า 1 mS/cm แต่เมื่อฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง ดินจะกลับมามีความเค็มเพิ่มสูงขึ้น
ผลกระทบของดินและน้ำที่มีความเค็มต่อพืช หลายประการ คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง หรืออาจตายได้ 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือได้รับธาตุบางชนิดมากเกินไปจนเป็นพิษ และ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน กายภาพของดินเลวลง น้ำซึมซาบได้น้อยหรือช้าลง รากพืชชอนไชได้ยากและคุณสมบัติทางเคมีของดินเปลี่ยนไป
พื้นที่ดินเค็มส่วนใหญ่มักเกิดจากธรรมชาติ เช่น ในชั้นใต้ดินมีภูเขาหินเกลือ (Salt dome) ใต้พื้นดิน โดยเฉพาะของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกระจายอยู่ทั่วไปและเป็นแหล่งของหินเกลือ (Rocksalt) ตั้งแต่พื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ, อ.ด่านขุนทด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา, อ.บรบือ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เชื่อมต่อทุ่งกุลาร้องไห้ อ.ธวัชบุรี อ.เสลภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จนถึง จ.ยโสธร, อ.เขื่องใน อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี, จ.หนองคาย และจ.อุดรธานี เป็นต้น
พื้นที่ที่มีน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยหนุนตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล และแม่น้ำที่มีทางออกสู่ทะเล
การจำแนกดินเค็มอาศัยคุณสมบัติของดิน มาพิจารณา ดังนี้
1) ค่าการนำไฟฟ้าของดินและน้ำ เรียกว่า “ค่า EC (Electrical conductivity)” เป็นการวัดปริมาณหรือความเข้มข้นของเกลือที่ละลายในดินหรือน้ำ
ค่าการนำไฟฟ้า มีหน่วยเป็น “mS/cm (มิลลิซีเมน ต่อเซนติเมตร)” หรือ “dS/m (เดซิซีเมน ต่อเมตร)” และ “mmho/cm (มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร)” ซึ่งทั้ง 3 หน่วยมีค่าตัวเลขเท่ากัน และ “µS/cm (ไมโครซีเมน ต่อเซนติเมตร)”
โดยตัวเลขค่า EC 1,000 µS/cm เท่ากับ 1 mS/cm หรือเท่ากับ 640 ppm และโดยทั่วไปนิยมใช้หน่วยวัดเป็น mS/cm
ค่าความเค็มของน้ำ สามารถใช้เครื่องมือวัดได้ค่า EC โดยตรง เครื่องมือวัดนิยมเรียกว่า “ปากกาวัดค่า EC (EC, pH water proof)” ส่วนการวัดค่าความเค็มของดินใช้เครื่องมือวัดแบบเดียวกันกับที่ใช้วัดค่าความเค็มของน้ำ สำหรับการวัดความเค็มของดินจะใช้วิธี “การสกัดค่า EC จากดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำ (Electrical conductivity at Saturation extract; ECe)” ซึ่งเป็นการใช้น้ำเป็นตัวทำละลายเกลือที่อยู่ในดินให้ละลายออกมา ปกติจะใช้อัตราส่วนของดินต่อน้ำ เช่น 1:1, 1:2 หรือ 1:5 ในทางวิชาการจะกำหนดให้ต้องระบุอัตราส่วนของดินต่อน้ำด้วย แต่ในทางปฏิบัติของเกษตรกรอาจระบุหรือไม่ก็ได้
ค่า EC จะสัมพันธ์กับอุณหภูมิของสารละลายน้ำในดินหรือน้ำที่วัดค่า EC กล่าวคือ ช่วงระหว่างอุณภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส ค่า EC ที่วัดได้จะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากค่ากลางของอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิทุก 1 องศาเซลเซียส ค่า EC จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง 2% เช่น วัดค่า EC ของดินที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสได้เท่ากับ 4.00 mS/cm ดังนั้น ค่า EC ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จะเท่ากับ 3.64 mS/cm
2) ค่า SAR (Sodium Absorption Ratio ; SAR) คือ อัตราส่วนของโซเดียมต่อแคลเซียมและแมกนีเซียมซึ่งมีอยู่ในน้ำ หน่วยที่ใช้วัดไอออนบวกเหล่านี้ คือ มิลลิกรัมสมมูลย์ต่อลิตร (geq.wt.)
ดังสมการ
3) ค่า ESP (exchangeable sodium percentage ; ESP) คือ เปอร์เซ็นต์ของโซเดียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดินเมื่อเทียบกับค่า CEC ของดิน มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ของประจุบวกที่แลกเปลี่ยนได้ (cation exchange capacity ; CEC) ซึ่งมีหน่วยเป็นมิลลิกรัมสมมูลย์ต่อดิน 100 กรัม เพื่อจำแนกความเป็นโซดิกของดินได้ เมื่อค่า ESP มีค่ามากกว่า 15
ดังสมการ
4) ค่า pH ของดิน โดยปกติดินที่มีความเค็มมักจะมีค่า pH เป็นด่าง
การวัดค่าความเค็มของดินมีหลายวิธี แต่ที่นิยมและเกษตรกรสามารถตรวจสอบได้เองเบื้องต้น จะใช้ค่า EC โดยพิจารณาร่วมกับค่า pH ซึ่งปัจจุบันปากกาวัดค่า EC และ pH แบบดิจิตอล (EC, pH water proof) ทีใช้งานได้ดีมีราคาเพียง 400-600 บาท
ประเภทความเค็มของดิน สามารถแบ่งตามคุณสมบัติเคมีและกายภาพ ได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1) ดินเค็ม (saline soil) คือ ดินที่มีเกลือที่ละลายน้ำได้อยู่ในสารละลายดินมากจนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช มีค่า EC มากกว่า 2 mS/cm ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ค่าเปอร์เซ็นต์ของโซเดียมที่แลกเปลี่ยนได้ (ESP) น้อยกว่า 15 และค่า pH มักจะน้อยกว่า 8.5 หรืออยู่ในสภาพ pH เป็นกลาง
2) ดินโซดิก (sodic soil) คือ ดินที่มีค่าเปอร์เซ็นต์ของโซเดียมที่แลกเปลี่ยนได้ (ESP) ปริมาณมาก จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช โดยมีค่า ESP มากกว่า 15 ค่า EC ต่ำกว่า 2 mS/cm ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และมีค่า pH อยู่ ระหว่าง 8.5-10 เกลือที่ละลายน้ำได้มักเป็นเกลือคาร์บอเนตและเกลือไบคาร์บอเนตของโซเดียม เมื่อ pH ของดินสูงเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมและแมกนีเซียมที่ละลายได้ทำให้แคลเซียมและแมกนีเซียมในสารละลายดินมีค่าต่ำ การที่มีปริมาณโซเดียมที่แลกเปลี่ยนได้สูงมากเกินไปทำให้ดินมีสมบัติกายภาพเลว คือ ดินฟุ้งกระจายและมีโครงสร้างที่ไม่อยู่ตัว ฝุ่นดินนี้จะแทรกตัวอยู่ตามช่องว่างของดิน จึงทำให้ดินแน่นน้ำไม่ค่อยซึมผ่านและการไถพรวนยาก และส่งผลต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารหลายชนิดต่อพืชโดยเฉพาะธาตุ สังกะสี แมงกานีส เหล็ก ทองแดง โบรอน เป็นต้น
3) ดินเค็มโซดิก (saline-sodic soil) เป็นดินเค็มที่เป็นดินโซดิกด้วย คือ ดินที่มีเกลือปริมาณมากเกินไป มีค่า EC มากกว่า 2 mS/cm ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ค่าเปอร์เซ็นต์ ESP มากกว่า 15
ระดับค่าความเค็มของดิน ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช
1) ดินไม่เค็ม : ค่า EC น้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 mS/cm (มีสารละลายเกลือ น้อยกว่า 0.1%) ไม่มีผลกระทบต่อพืช
2) ดินเค็มเล็กน้อย : ค่า EC ระหว่าง 2-4 mS/cm (มีสารละลายเกลือ น้อยกว่า 0.1-0.2%) มีผลกระทบต่อพืชไม่ทนเค็ม เช่น บวบ พริกหวาน หอมใหญ่ กุหลาบ ทานตะวัน ข้าวโพด มะกอก องุ่น
3) ดินเค็มปานกลาง : ค่า EC ระหว่าง 4-8mS/cm (มีสารละลายเกลือ น้อยกว่า 0.2-0.4%) มีผลกระทบต่อพืชหลายชนิด เช่น กะหล่ําดอก กระเทียม หอมแดง แตงโม ข้าวทนเค็ม ฝรั่ง กระถินณรงค์ มะม่วงหิมพานต์ สะเดาอินเดีย ยูคาลิปตัส มะยม
4) ดินเค็มมาก : ค่า EC ระหว่าง 8-16 mS/cm (มีสารละลายเกลือ น้อยกว่า 0.4-0.8%) พืชทนเค็มเท่านั้นที่เจริญเติบโตได้ เช่น ผักโขม ผักกาดหัว คะน้า ชบา เฟื่องฟ้า ละมุด มะขาม มะขามเทศ สน สะเดาไทย พุทรา มะพร้าว สมอ
5) ดินเค็มจัด : ค่า EC มากกว่า 16 mS/cm (มีสารละลายเกลือ น้อยกว่า 0.8%) พืชทนเค็มน้อยชนิดที่เจริญเติบโตได้
1) พืชขาดน้ำ
ในดินที่มีเกลือปะปนอยู่มากหรือดินเค็มพืชจะขาดน้ำได้ง่ายแม้ในดินจะมีน้ำอยู่ เป็นภาวะความเครียดแรงดันออสโมติก (Osmotic pressure stress) การรดน้ำสู่ดิน ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง น้ำจะแพร่ออกไปทุกทิศทางไปยังดินบริเวณที่มีน้ำน้อยกว่าหรือความชื้นในดินต่ำกว่า เมื่อน้ำแพร่เข้าสู่บริเวณเขตรากพืช น้ำจะแพร่ผ่านเยื้อหุ้มเซลล์เข้าสู่รากพืชโดยอาศัยความต่างศักย์ของค่าชลศักย์ (Water Potential ; WP) โดยปกติค่าชลศักย์ หรือค่า WP ในดินจะมีค่าสูงกว่าภายในรากพืช หรืออีกนัยหนึ่งคือ น้ำในดินมีความเข้มข้นของสารละลายน้อยกว่าความเข้มข้นของสารละลายภายในรากพืช น้ำและแร่ธาตุต่างๆ จึงออสโมซีส (แพร่ผ่านเยื้อหุ้มเข้าสู่ราก)
ในดินระดับความเค็มมากถึงระดับดินเค็มจัดมีเกลือที่สามารถละลายน้ำได้มาก เมื่อเกลือละลายน้ำจึงส่งผลให้ความเข้มข้นของสารละลายเกลือในน้ำมีมากขึ้น ค่า WP ของน้ำจึงลดต่ำลง เมื่อถึงจุดที่ค่า WP ลดต่ำลงจนมีค่า WP ต่ำกว่ารากพืช จะเกิดการเคลื่อนที่ของน้ำภายในรากพืชออกสู่ภายนอก (ไปสู่ดินที่มีสารละลายเกลือเข้มข้น) เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “พลาสโมไลซีส (Plasmolysis)” ซึ่งจะทำให้เซลล์ภายในรากพืชเกิดการสูญเสียน้ำ น้ำจากเซลล์ข้างเคียงจะเคลื่อนที่เข้ามาทดแทนน้ำที่สูญเสียไปและเกิดขึ้นต่อเป็นลูกโซ่ไปยังเซลล์อื่นๆ เมื่อถึงระดับหนึ่งเซลล์จะหดตัวและเหี่ยว
หากสารละลายในดินยังมีความเค็มสูง ในระยะสั้นพืชจะสูญเสียน้ำจากการเคลื่อนที่ของน้ำย้อนกลับสู่ดินอาจทำให้รากตาย เกิดอาการใบไหม้ที่ปลายใบหรือขอบใบได้ หากเหตุการณ์ดำเนินต่อไปอาจทำให้พืชตายเหี่ยวแห้งตายได้
2) พืชแสดงอาการขาดธาตุ
เกลือที่ละลายในดินจะมีโซเดียมไอออน (Na2+) คลอไรด์ไอออน (Cl-) หรือคาร์บอเนต (CO3) เข้มข้นมากเกินไป ส่งผลทำให้พืชขาดแคลนธาตุโพแทสเซียม (K) ได้ง่าย เนื่องจากโซเดียมไอออน (Na2+) เป็นปรปักษ์กับธาตุประจุบวกและมีศักย์ไฟฟ้าสูงกว่าโพแทสเซียมไอออน (K+) พืชจึงสูญเสียโพแทสเซียมและแสดงอาการขาดธาตุโพแทสเซียม ทำให้เกิดอาการขอบใบเหลืองจากปลายใบไปตามขอบใบ (ขอบใบเหลืองเป็นรูปตัว V) ในบางพืชอาจเกิดอาการใบไหม้ร่วมด้วย ส่งผลต่อการเจริญเติบโตลดลง
3) ความเป็นพิษของการได้รับธาตุเกลือ
เกลือที่ละลายจะแตกตัวได้โซเดียมไอออน (Na2+) และคลอไรด์ไอออน (Cl-) มาก ส่งผลให้พืชได้รับธาตุทั้ง 2 มากเกินไปและก่อให้เกิดความเป็นพืชต่อพืช การได้รับโซเดียมมากเกินไปทำให้เอนไซม์ทำงานผิดปกติและเซลล์ถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการใบไหม้ที่ขอบใบ ใบเหลือง ร่วง การเจริญเติบโตชะงักงัน และผลผลิตลดลง อาการเป็นพิษของคลอไรด์จะคล้ายความเป็นพิษของโซเดียม บางครั้งใบอาจมีสีบรอนซ์ตามขอบใบ
4) ความเครียดที่เกิดจากการสร้างและสะสมสารอนุมูลอิสระ
ความเครียดจากการได้รับโซเดียมและคลอไรด์มากเกินไป ส่งผลให้พืชเกิดภาวะเครียด (Plant stress) ชักนำให้เกิดการสร้างและสะสมสารอนุมูลอิสระมากเกินไป เช่น อนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ (superoxide radicals ; O2●-) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide ; H2O2) และอนุมูลอิสระไฮดร็อกซิล (hydroxyl radicals ; OH●) ซึ่งจะทำลายส่วนต่างๆ ของเซลล์ เช่น โปรตีน กรดนิวคลีอิก ไขมันในเยื่อหุ้มเซลล์ เกิดอาการใบเหลือง ใบไหม้ และใบร่วง
นอกจากนี้จากงานวิจัยยังพบว่า พืชจะได้รับไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียม (NH4+) ได้ลดน้อยลง มีการสะสมไนเตรท (NO3-) มากขึ้น
การแก้ไขดินที่มีความเค็มอันเนื่องมากจากมีหินเกลืออยู่ชั้นใต้ดิน หรือมีน้ำเค็มในชั้นดิน และพื้นที่ที่มีน้ำทะเลและน้ำกร่อยหนุน จะต้องแก้ไขปัญหาต่อเนื่องยาวนาน และอาจต้องปฏิบัติตลอดเวลาหากพืชปลูกเป็นพืชที่ไม่ทนความเค็ม ซึ่งความเค็มเกิดจากเกลือที่ละลายน้ำโดยส่วนใหญ่จะเป็นเกลือของโซเดียมคลอไรด์ เมื่อเกลือละลายน้ำจะแตกตัวให้โซเดียมไอออน (Na2+) ซึ่งมีศักย์ไฟฟ้าสองบวก และคลอไรด์ไอออน (Cl-) ที่มีศักย์ไฟฟ้าลบ ดังนั้น ตามหลักประจุไฟฟ้าการใช้ประจุไฟฟ้าบวกที่มีศักย์สูงกว่าโซเดียมไอออนย่อมสามารถไล่หรือผลักโซเดียมไอออนออกไปจากดินบริเวณเขตรากพืชได้ โดยใช้แคลเซียมไอออน (Ca2+) ซึ่งมีศักย์ไฟฟ้าสูงกว่า
แม้การใช้แคลเซียมสามารถผลักโซเดียมไอออนออกไปได้ แต่เป็นการผลักลงไปสู่ชั้นดินด้านล่างเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องรักษาความชื้นของหน้าดินสม่ำเสมอ และในช่วงฤดูแล้งที่น้ำระเหยออกจากดินได้มาก น้ำจะเป็นตัวขับเคลื่อนเกลือจากชั้นดินด้านล้างขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้น ในฤดูแล้งจึงจำเป็นต้องหมั่นสำรวจความเค็มและผลักดันโซเดียมไอออน นอกจากนี้ไอออนแคลเซียม (Ca2+) และยังช่วยเพิ่มความโปร่งและร่วนซุยของดิน เพิ่มการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศของดิน
ส่วนคลอไรด์ไอออนจะถูกชะล้างออกไปจากดินได้ง่ายโดยใช้น้ำปริมาณมากหรือช่วงฝนตกชุก
1) ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรท หรือปุ๋ยสูตร 15-0-0 +(18-19%Ca)
ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรทเมื่อละลายน้ำจะแตกตัวได้ไนโตรเจนไอออนประจุลบในรูปไนเตรท (NO3-) และแคลเซียมไอออนประจุบวกสอง (Ca2+) โดยเป็นไอออนแคลเซียมที่สามารถเคลื่อนย้ายจากชั้นดินบนลงสู่ชั้นดินล่างได้ดี และลึกไม่น้อยกว่า 75 ซม. (ถึงระดับรากฝอยของพืชเกือบทุกชนิด) ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรทเป็นปุ๋ยที่ละลายเร็ว เมื่อหว่านแล้วลดน้ำตามจะสามารถละลายได้ทันที
2) ปูนยิปซั่ม (CaSO42-)
ยิปซั่มทางการเกษตร เป็นแหล่งของแคลเซียมที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เมื่อละลายน้ำจะได้แคลเซียมไอออน (Ca2+) และกำมะถันในรูปของซัลเฟตไอออน (SO42-) ยิปซั่มที่นำมาใช้ในทางการเกษตรเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย (ต่างประเทศ), การทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และการทำเหมืองแร่ที่เกิดจากการตกตะกอนของทะเลในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์และภาคใต้
ข้อดีของยิปซั่ม คือ ละลายและแตกตัวได้แคลเซียมไอออนได้เร็วกว่าปูนโดโลไมท์ (แต่ก็ใช้เวลาเป็นเดือนหรือมากกว่า) และสามารถเคลื่อนย้ายลงสู่ดินชั้นล่างได้ดีกว่าปูนโดโลไมท์ โดยสามารถเคลื่อนย้ายลงดินชั้นล่างได้ไม่น้อยกว่า 75 ซม.
3) ปูนโดโลไมท์ (แคลเซียมคาร์บอเนต ; CaCO32-)
เป็นแหล่งแคลเซียมและแมกนีเซียม ปัจจุบันมีการนำมาปั้นเม็ดเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน หว่านง่ายไม่ฟุ่งกระจาย แต่มีราคาสูงกว่าแบบฝุ่นผง ราว 100-250 บาท/กระสอบ เช่น กรีนลีฟMIC แม้มีราคาที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ได้แร่ธาตุและสารเพิ่มประโยชน์พืชอื่นๆ ด้วย เช่น แร่ภูเขาไฟที่ประกอบด้วยจุลธาตุที่สำคัญต่าง ฮิวมิค เกาลีนไนท์ ซิลิก้า และกรดอะมิโน
โดโลไมท์ มีคุณสมบัติในการปรับดินกรดให้เป็นกลาง (acid-neutralizing substance) แต่มีข้อจำกัด คือ ละลายช้า แตกตัวให้แคลเซียมไอออนและแมกนีเซียมไอออนช้ากว่าปูนยิปซั่ม ซึ่งอาจใช้เวลานาน 5-6 เดือน แต่กรีนลีฟMIC ปรับแก้ไขจุดอ่อนของปูนโดโลไมท์ด้วยการบดด้วยเครื่องบดเจ็ทมิลล์ จนได้ความละเอียดไม่น้อย 325 เมซ ก่อนนำมาปั้นขึ้นเม็ด เพื่อให้สะดวกต่อการหว่านและช่วยให้การแตกตัวของแคลเซียมเร็วขึ้น
แคลเซียมไอออนจากปูนโดโลไมท์เคลื่อนย้ายลงชั้นดินล่างได้น้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้นหน้าดินลึกไม่เกิน 30-40 ซม. เนื่องจากถูกดูดซับโดยดินเหนียวได้ง่าย (แต่ทำให้ดินเหนียวโปร่ง และร่วงซุยเพิ่มขึ้น) การใส่โดโลไมท์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
สำหรับไม้ผล ใช้แคลเซียมไนเตรท 15-0-0 หว่านในอัตรา 100 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 2 เมตร โดยหว่านให้ทั่วทรงพุ่มและเลยออกมานอกทรงพุ่มราว 50-80 ซม. ให้น้ำตามในปริมาณปกติหรือเพียงพอให้ปุ๋ยละลาย และรักษาความชื้นของดินตลอดระยะเวลา 3-5 วัน หลังจากนั้นจึงกระแทกน้ำในปริมาณมาก โดยให้น้ำวันเว้นวัน ราว 3 ครั้ง หลังจากกระแทกน้ำครบ 3 ครั้งแล้ว ภายใน 7-10 วัน ให้ทำซ้ำตามขั้นตอนเดิมอีกครั้ง หลังจากทำซ้ำครั้งที่ 2 แล้ว ราว 25-30 วัน ให้หว่านโดโลไมท์ หรือ กรีนลีฟMIC ในอัตรา 100-150 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ให้รอบทรงพุ่ม โดยหว่านเดือนละครั้ง
สำหรับพืชผัก เช่น แตงกวา เมล่อน พริก มะเขือเทศ ใช้แคลเซียมไนเตรท 15-0-0 หว่านในอัตรา 35-40 กก.ต่อไร่ (หว่านเฉพาะบนร่องที่เตรียมขึ้นแปลงปลูก) ให้น้ำตามในปริมาณปกติหรือเพียงพอให้ปุ๋ยละลาย และรักษาความชื้นของดินตลอดระยะเวลา 3-5 วัน หลังจากนั้นจึงกระแทกน้ำในปริมาณมาก โดยให้น้ำวันเว้นวัน ราว 3 ครั้ง สำหรับดินทรายจัดให้น้ำทุกวันต่อเนื่อง 3 วัน หลังจากนั้นจึงย้ายต้นกล้าลงปลูกหรือหยอดเมล็ด หลังจากย้ายกล้าปลูก 25-30 วัน ให้หว่านโดโลไมท์ หรือ กรีนลีฟMIC ในอัตรา 50 กก. ต่อไร่ ให้ทั่วแปลงปลูก โดยหว่านทุก 20-25 วัน ครั้ง
* หมายเหตุ: สำหรับแปลงพืชผัก การยกร่องแปลงปลูกในลักษณะเป็นร่องและให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดจะช่วยลดการสะสมของคราบเกลือบริเวณเขตรากของพืชผักได้ (ตามภาพ)
ผักใบ เช่น กะหล่ําดอก กระเทียม หอมแดง แตงโม ผักกาดหัว คะน้า ค่อนข้างทนต่อดินเค็มปานกลาง-ดินเค็มมาก (ค่า EC 4-8 mS/cm) สำหรับพื้นที่ดินเป็นกรดหว่านด้วย กรีนลีฟMIC อัตรา 50-75 กก.ต่อไร่ ก่อนเตรียมแปลงปลูก 14-21 วัน และหว่านซ้ำทุก 21-28 วัน ในอัตรา 50 กก.ต่อไร่ สำหรับพื้นที่ดินด่างหว่านด้วยยิปซั่ม อัตรา 40-50 กก.ต่อไร่ ก่อนเตรียมแปลงปลูก 14-21 วัน และหว่านซ้ำทุก 21-28 วัน ในอัตรา 50 กก.ต่อไร่
สำหรับนาข้าว หว่าน กรีนลีฟMIC หรือโดโลไมท์ หว่านครั้งแรกก่อนไถคราดกลบตอฟางหรือไถทำเทือก ในอัตรา 50-75 กก.ต่อไร่ และหว่านครั้งที่ 2 ในระยะก่อนข้าวตั้งท้อง อัตรา 25-30 กก.ต่อไร่
แหล่งสืบค้น :
วิชิตพล มีแก้ว, ณัฐพล ขันธปราบ, สุรศักดิ์ ละลอกน้ํการปรับตัวของพืชภายใต้ภาวะที่มีความเค็ม(Adaptation of Plants under Salinity).ก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์ ปีที่ 10 (2): 2553, หน้า 28-37.
เฉลิมพล เกิดมณีและคณะ.โครงการวิจัยพื้นฐานและพัฒนาพันธุ์ไม้ป่าทนเค็มโดยใช้เทคโนโลยี่ชีวภาพ.โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย.87 หน้า.
สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์.2544.สรีรวิทยาของพืช Plant physiology.พิมพ์ครั้งที่ 4; กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.237 หน้า.
เอิบ เขียวรื่นรมย์.2550.ดินเค็มในประเทศไทย.ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.28 หน้า.
เอกสารเผยแพร่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.ภาวะความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดินเค็ม.www.archive.lib.cmu.ac.tb. สืบค้น
5 พ.ย. 2567
Arunee Yuvaniyama et al. Effect of saline water on soil property and salt tolerance of plant.p 450-460.
Suputtra Sarasaen et al.Potential for Salinity Tolerance of some Perennial Plants.J Sci Technol MSU.Vol 37. No 2, March-April 2018.
Saffan, S.E.S. (2008). Effect of salinity and osmotic stresses on some economic plants.Research Journal of Agriculture and Biological Sciences, 4(2): p. 159-166.
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000