โรคใบจุด-ใบไหม้โพมอฟซีสทุเรียน ตอน 1
โรคใบจุด-ใบไหม้ในทุเรียนเชื้อราโพมอฟซีส ตอน 1 (การเข้าทำลาย)
(Phomopsis leaf spot or leaf blight)
เชื้อรา: โพมอฟซีส (Phomopsis durionis
Syd, 1932 หรือ Phomopsis
sp.)

"โรคใบจุด" ในทุเรียนหรือกรณีที่พบอาการของโรครุนแรงจนแผลขยายขนาดกลายเป็นแผลใบไหม้อาจเกิดตามขอบใบหรือหน้าใบ จึงมักเรียกว่า"โรคขอบใบไหม้"จากเชื้อราโพมอฟซีส (Phomopsis spp.) เป็นเชื้อราที่อยู่ในวงศ์วอลซาซีอี้ (Family: Valsaceae) ไฟลั่มแอสโคมายโคต้า (Phylum: Ascomycota)
เดิมในอดีตโรคนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักวิชาการเท่าใดนัก เนื่องจากเชื้อรามักทำลายใบแก่และอาการไม่รุนแรง จนต่อมาพบว่าเชื้อราทำให้มีอาการขอบใบไหม้ที่รุนแรงและใบได้หากปล่อยปละละเลย นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคผลเน่าในทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว[1] การปล่อยปละละเลยใบที่เกิดโรคและร่วงหล่นสู่พื้นจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราทั้งบนต้นและเศษซากพืช (Source of inoculum)
[1]โรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยว เป็นโรคที่เกิดขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยว โดยก่อนหน้านั้นจะไม่พบอาการของโรค ซึ่งอาการผลเน่าจะปรากฏเมื่อขนส่งถึงผู้จำหน่ายหรือผู้บริโภค เชื้อราโพมอฟซีส สามารถก่อให้เกิดโรคผลเน่าภายหลังการเก็บเกี่ยวในไม้ผลหลายชนิด เช่น มะม่วง มังคุด เงาะ ฝรั่ง ส้ม มะขาม ผลท้อ มะละกอ ถั่ว สตรอเบอร์รี่ นอกจากนี้ยังพบการเข้าทำลายของเชื้อราโพมอฟซีสที่ก้านดอก ดอกและผลอ่อนของทุเรียนอีกด้วย

ลักษณะอาการของโรค
อาการเริ่มแรกเกิดเป็นแผลจุดตายขนาดเล็ก (Necrotic spots) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มม. มีสีน้ำตาลเข้มถุงดำหรือสีน้ำตาลอมแดง มีสีเหลืองล้อมรอบแผลคล้ายวงแหวาน (Yellow halo)[2] เมื่อแผลขยายขนาดขึ้นมาเล็กน้อยราวๆ 2-3 มม. ตรงกลางแผลจะเป็นแผลช้ำต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมแดง ช่วงนี้รูปร่างแผลอาจมีรูปร่างกลมหรือหากแผลจุดแต่ละแผลอยู่ใกล้กันมากแผลที่ขยายขนาดขึ้นมาชนกันอาจทำให้มีรูปร่างไม่ชัดเจนในระยะนี้
ส่วนมากแผลจุดจะกระจายอยู่ทั่วไปบนใบและมักพบในใบแก่หรือบางครั้งพบในใบเพสลาดที่ถูกแมลงรบกวนหรือมีอาการขาดธาตุอาหาร ต่อมาเมื่อแผลขยายขนาดขึ้น อาจมีขนาดใหญ่กว่า 10-15 มม. ตรงส่วนกลางแผลจะมีสีขาวหรือสีขาวอมอมเทาชัดเจนขึ้น และมักพบจุดเม็ดเล็กๆ สีดำ (pycnidium)[3] ขนาดเท่าปลายเข็มหมุดกระจายอยู่ตรงการแผล
นอกจากนี้ยังพบแผลตามขอบใบด้วย เมื่อแผลขยายขนาดมาชนกันจนกลายเป็นแผลขนาดใหญ่ทั้งบนใบและขอบใบ แผลที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชและใบมีอายุสั้นลง ใบร่วงหล่นก่อนครบอายุหรือรบกวนกระบวนการเมตาบอลิซึมภายในเซลล์ใบพืช
[2]วงแหวนสีเหลืองรอบแผล Yellow halo คือ อาการเนื้อเยื่อเสียหายและเนื้อเยื่อตายของพืชที่เกิดมาจากเชื้อราสังเคราะห์สารพิษขึ้นมาและมีผลทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อพืช เช่น เชื้อราโพมอฟซีส พาสพาวลี้ (P. paspalli) เมื่อเข้าทำลายธัญพืชจะสังเคราะห์สารพิษไซโตชาลาซิน (cytochalasins) และสารพิษดังกล่าวพบว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย
[3]Pycnidium เป็นโครงสร้างที่หุ้มสปอร์ของเชื้อราที่อยู่ในระยะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ

การเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง (Latent infection)
ความน่าสนใจของเชื้อราสาเหตุโรคใบจุดในทุเรียน หรือ โรคขอบใบไหม้ในทุเรียน คือ การเข้าทำลายพืชแบบเชื้อแฝงของเชื้อราโพมอฟซีส (Latent infection) ตัวอย่างในองุ่น ใบองุ่นจะปรากฎแผลจุดที่ใบหลังติดเชื้อราโพมอฟซีส วิติโคล่า (P. viticola) ประมาณ 21 วัน และที่ลำต้นจะปรากฎแผลหลังการติดเชื้อ 28 วัน วีระณีย์ ทองศรี และสมศิริ แสงโชติ (2559) ในใบทุเรียนที่ทำให้เกิดแผลโดยการกรีดและทำการปลูกถ่ายเชื้อราโพมอฟซีสจะเกิดแผลใบจุดบริเวณที่กรีดแผลหลังปลูกถ่ายเชื้อ 20 วัน และจะปรากฎแผลใบจุดใหม่หลังปลูกถ่ายเชื้อ 32 วัน ส่วนการปลูกถ่ายเชื้อราโดยพ่นสปอร์ของเชื้อราโพมอฟซีสบนหน้าใบ (Adaxial surface) และใต้ใบ (Abaxial surface) พบว่าการพ่นที่ใต้ใบทำให้ใบทุเรียนติดเชื้อได้มากกว่าและพบการเข้าทำลายของเชื้อราสูงสุดในสัปดาห์ที่ 4 และยังคงพบการเข้าทำลายของเชื้อราตลอด 8 สัปดาห์หลังการปลูกถ่ายเชื้อ แต่พบในปริมาณที่ลดลง
จึงพอสรุปได้ว่า การเข้าทำลายของเชื้อราโพมอฟซีสลักษณะแฝงในใบทุเรียนจะเริ่มปรากฎแผลจุดหลังติดเชื้อราว 28-32 วัน หากใบทุเรียนมีแผลอยู่ก่อนแล้วหรือมีอาการขาดธาตุอาหาร แผลจุดจะปรากฎหลังการติดเชื้อราว 21 วัน

การเข้าทำลายแบบเชื้อแฝงนี้อาจเป็นผลมาจากพืชสร้างภูมิต้านทานจากการสังเคราะห์สารไฟโตอะเล็กซ์ซิน (Phytoalexin) ซึ่งเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อราก่อโรคในระยะแรก ทำให้การเจริญของเชื้อราอยู่เฉพาะบริเวณใต้ชั้น epidermis โดยไม่มีการเจริญเข้าสู่ภายในเซลล์พืช จึงไม่ปรากฏอาการแผลจุดหรือแผลใบไหม้ จนกระทั้งเนื้อเยื่อและเซลล์พืชมีอายุมากขึ้นปริมาณสารไฟโตอะเล็กซ์ซินจึงลดลง เส้นใยเชื้อราจึงสามารถเจริญลุกลามเข้าสู่ภายในเซลล์ทำให้เซลล์พืชตายและปรากฏแผลขึ้น
อ้างอิง:
นิพนธ์ วิสารทานนท์. 2542. โรคไม้ผลเขตร้อนและการป้องกันกำจัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 172 หน้า.
ปราโมช ร่วมสุข, รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม, รศ.ดร.สมศิริ แสงโชติ, รศ.ดร.อิทธิสุนทร นันทกิจ, ดร.ยศพล ผลาผล, สุเทพ สหายา. การสร้างสวนทุเรียนมือใหม่สู่มืออาชีพ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเฟรม-อัพ ดีไซน์. 2561. หน้า 51-52.
นิรนาม. 2557. โรคผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว.พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร. 129 หน้า.
พรทิพย์ วงศ์แก้ว. การชัดนำให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรค. วารสารวิชาการเกษตร ปีที่ 7 เล่มที่ 1-3 มกราคม-ธันวาคม 2532. หน้า 84-91.
พรศิริ บุญพุ่ม, สมศิริ แสงโชติ และเนตรนภิส เขียวขำ. ประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดเชื้อราที่ใช้ทั่วไปในสวนทุเรียน และสารเคมีกำจัดเชื้อราอื่นๆ ต่อการเจริญของเชื้อรา Phomosis spp. สาเหตุโรคผลเน่าและโรคใบจุดทุเรียน.ว. วิทย. กษ. 50 : 3 (พิเศษ). 2562. หน้า 143-146.
วีระณีย์ ทองศรี และสมศิริ แสงโชติ. การเข้าทำลายแฝงของเชื้อรา Phomosis sp. สาเหตุโรคใบจุดของทุเรียน (Durio zibethinus Murr) พันธุ์หมอนทอง. วารสารเกษตรพระจอมเกล้า 34 : (1) . 2559. หน้า 59 - 67.
ยงยุทธ ธำรงนิมิต. 2553. โรคไม้ผล. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : เกษตรสยามบุ๊คส์. 136 หน้า.
รศ.ดร.นุชนารถ จงเลขา, กาญจนา วิชิตตระกูลถาวร, รัติกาล ธัญหล้า, ยอดชาย นิ่มรักษา, วิรัชนีย์ เต๋จ๊ะวันดี. การควบคุมโรคใบจุดใบไหม้ของสตรอเบอรี่โดยใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์. มูลนิธิโครงการหลวง รายงานประจำปีตามโครงการวิจัย รหัสที่ 3060-3204 งบประมาณ 2543-2544.
Tongsri V., Songkumarn P, Sangchote S. Leaf spot characteristics of Phomopsis durionis on durion (Durio zibethinus Murray) and latent infection of the pathogen. Acta Universitatis Agriculturae et Silviculturae Mendelianae Brunensis.Vol. 64 No. 1. 2016. Pages 185-193.
Wikipedia contributors. "Dead arm of grapevine." Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 8 Aug. 2017. Web. 29 Dec. 2020.