โรคใบจุด-ใบไหม้โพมอฟซีสทุเรียน ตอน 2
โรคใบจุด-ใบไหม้ในทุเรียนเชื้อราโพมอฟซีส ตอน 2 (การป้องกันกำจัด)
(Phomopsis leaf spot or leaf blight)
เชื้อรา: โพมอฟซีส (Phomopsis durionis Syd, 1932 หรือ Phomopsis sp.)

ชีววิทยาของเชื้อราโพมอฟซีส
เชื้อราโพมอฟซีส เป็นเชื้อราสาเหตุก่อโรคพืชในพืชหลายชนิดและพบแพร่ระบาดไปทั่วโลก ลักษณะที่สังเกตุได้ง่ายไม่ว่าจะก่อโรคในส่วนใดของพืช คือ เม็ดจุดเล็กๆ สีดำพิคนิเดียม (pycnidium) ที่กระจายอยู่ทั่วไปในแผล ซึ่งเชื้อราจะสร้างขึ้นตลอดเวลา
สำหรับโรคผลเน่าทุเรียนที่เกืดจากเชื้อราโพมอฟซีส อาการผลเน่าจะพบว่าระหว่างร่องหนามเป็นสีดำเข้ม เนื่องจากพิคนิเดียมเจริญอยู่ระหว่างร่องหนาม แต่แผลเน่าไม่ฉ่ำน้ำเหมือนโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟท็อปธอร่า (Phytophtora palmivola) ส่วนโรคผลเน่าแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อราคอลเล็ทโตทริคั่ม (Colletotrichum spp.) จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน
เชื้อราโพมอฟซีสในระยะเมเลมอร์ฟ (Teleomorph stage) จะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยการสร้างแอสโคสปอร์ (Ascospores) และระยะแอนนามอร์ฟ (Anamorph stage) จะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ

แอสโคสปอร์จะถูกห่อหุ้มด้วยแอสคัส (ascus) เพื่อทำหน้าที่ป้องกัน และแอสโคสปอร์สามารถแพร่กระจายไปตามลมและฝนได้เป็นระยะทางไกล
โคนิเดียจะถูกห่อหุ้มด้วยพิคนิเดียม ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดกลมเล็กๆ สีดำ พิคนิเดียมจะฝังลงไปในเนื้อเยื่อพืช มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 140-210 ไมครอน มีช่องเปิด (Ostiole) สั้นๆ โผล่พ้นเนื้อเยื่อออกมา ในสภาพความชื้นที่เหมาะสมโคนิเดียจะอาศัยลมหรือฝนในการแพร่กระจ่ายเชื้อ ส่วนต่างๆ ของพืชที่มีบาดแผล เช่น การตัดแต่งกิ่งหรือถูกแมลงทำลายและเกิดบาดแผลจะเป็นช่องทางเข้าสู่เซลล์พืชของโคนิเดีย แต่ถึงแม้บริเวณที่โคนิเดียตกสัมผัสกับพืชจะไม่มีบาดแผล โคนิเดียก็สามารถสร้างแอพเพรสซอเรียม (appressorium) เจาะแทงเข้าไปในเนื่อเยื่อหรือเซลล์พืชได้
นอกจากนี้พิคนิเดียมยังสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ใบและผลทุเรียนที่เป็นโรคหากร่วงหล่นลงพื้นและไม่มีการเก็บไปฝั่งหรือเผาทำลาย จะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา

สารป้องกันกำจัดโรคพืชบางกลุ่มใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อราโพมอฟซีส
พรศิริ บุญพุ่มและคณะ, 2562 ได้เปรียบเทียบสารป้องกันกำจัดโรคพืช คือ คาร์เบนดาซิม[1] กับสารชนิดอื่นๆ ในห้องปฏิบัติการทดลอง พบว่า conidia ของเชื้อราโพมอฟซีส (Phomosis spp.) ดื้อสารคาร์เบนดาซิม ที่อัตราครึ่งหนึ่งของคำแนะนำ คิดเป็น 18.34% อัตราแนะนำบนฉลาก คิดเป็น 14.68% และที่อัตราเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งของอัตราแนะนำ[2] คิดเป็น 8.26%
[1]คาร์เบนดาซิม อยู่ในโครงสร้างสารเคมีเบนซิมิดาโซล (benzimidazole) กลไกการออกฤทธิ์อยู่ในสารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 1 เช่นเดียวกับโครงสร้างสารเคมีไทโอฟาเนท (thiophanate) ซึ่งโดยหลักการแล้วหากเชื้อก่อโรคดื้อสารตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มกลไกออกฤทธิ์ นั้นๆ เชื้อมีโอกาสจะดื้อสารอื่นๆ ในกลุ่มสารป้องกันกำจัดโรคพืชไปด้วย แต่การดื้อ (ยา) สารป้องกันกำจัดโรคพืชอาจแตกต่างกันไปตามโครงสารทางเคมีของแต่ละสาร
สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 1 ประกอบไปด้วย
1. โครงสร้างสารเคมีเบนซิมิดาโซล ได้แก่ คาร์เบนดาซิม เบโนมิล และไทอะเบนดาโซล
2. โครงสร้างสารเคมีไทโอฟาเนท ได้แก่ ไทโอฟาเนท และไทโอฟาเนท-เมทิล
[2]อัตราแนะนำ: ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นอัตราแนะนำบนฉลากคาร์เบนดาซิม (carbendazim) 50%

การป้องกันกำจัด
1. เศษซากของใบทุเรียนที่ร่วงหล่น หากพบว่ามีการติดโรคควรเก็บไปเผาทำลายหรือหากเผาไม่ได้ให้ขุดหลุมฝั่งที่ระดับความลึก 1-1.5 ม.
2. การใช้เชื้อราปรปักษ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องปริมาณเชื้อที่เหมาะสมและอัตราที่เหมาะสมในการพ่นทางใบ แต่มีงานวิจัยหลายฉบับ รายงานว่า เชื้อราไตรโคเดอร์มา มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเส้นใยของเชื้อราโพมอฟซีสในห้องปฏิบัติการได้ (ในจานอาหารเลี้ยงเชื้อ ซึ่งเชื้อราปรปักษ์และเชื้อก่อโรคสัมผัสกันโดยตรง)ผู้เขียนตั้งขอสังเกตุว่า เชื้อราไตรโคเดอร์มาในทางปฏิบิติภาคสนาม (พ่นทางใบในสวนทุเรียน) อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยับยั้งเชื้อราโพมอฟซีสได้และเชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในดิน (Soil borne fungi) อาจไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศหรือบนต้นพืชได้นานเพียงพอที่จะยับยั้งเชื้อราก่อโรค
3. หากมีความจำเป็นต้องพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ควรพ่นสารที่มีฤทธิ์ดูดซึมร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม M03 เช่น แมนโคเซบ 80% (ชื่อการค้า เช่น พีเทน80), โพรพิเนบ 70% (ชื่อการค้า เช่น พีโคล70) อัตรา 40-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ซิงค์ไทอะโซล 20% อัตรา 40-50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกลุ่ม M04 ได้แก่ แคปเทน 50% อัตรา 40-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกลุ่ม M05 ได้แก่ คลอโรทาโลนิล 50% อัตรา 30-40 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันหรือชะลอการดื้อสารป้องกันกำจัดโรคพืช
สำหรับสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีฤทธิ์ดูดซึม และอัตราแนะนำเบื้องต้น[3] ได้แก่
1. กลุ่ม 3 ได้แก่ เฮกซะโคนาโซล 5% (ชื่อการค้า เช่น วิวสต็อป) อัตรา 30-40 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร, ไดฟิโนโคนาโซล+โพรพิโคนาโซล 15+15% (ชื่อการค้า เช่น พีมูเร่) อัตรา 15-20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร, โพรคลอราซ 45% (ชื่อการค้า เช่น โบแอ็ก) อัตรา 15-20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
2. กลุ่ม 11 เช่น ไพราโคสโตรบิน 25% (ชื่อการค้า เช่น แพ็คสโตรบิน) อัตรา 10-15 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
3. กลุ่ม 11+3 ได้แก่ อะซอกซีสโตรบิน+ไดฟิโนโคนาโซล 20%+12.5% (ชื่อการค้า เช่น ทวินโป) อัตรา 20-25 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
4. กลุ่ม 27+M03 ได้แก่ ไซมอกซานิล+แมนโคเซบ 8%+64% (ชื่อการค้า เช่น
ดีโฟร่า) อัตรา 25-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิต
*อัตราแนะนำอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพความรุนแรงของโรค สภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน และอนาคตเชื้อก่อโรคอาจต้านทานสารได้มากขึ้น
**เมื่อพบการระบาดของโรคและมีความจำเป็นต้องพ่นสาร ควรพ่นสารอย่างน้อย 2-3 ครั้งห่างกัน 7-10 วัน (หากพบการระบาดรุนแรงควรพ่นทุก 5-7 วันครั้ง)
[3]อัตราแนะนำมาจากผลการวิจัยสารป้องกันกำจัดโรคพืชต่อเชื้อราโพมอฟซีสที่เก็บตัวอย่างเชื้อจากทุเรียนในห้องปฏิบัติการภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับกลุ่มบริษัท แอ็กโกร (ประเทศไทย)
แหล่งสืบค้น:
นิพนธ์ วิสารทานนท์. 2542. โรคไม้ผลเขตร้อนและการป้องกันกำจัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 172 หน้า.
ปราโมช ร่วมสุข, รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม, รศ.ดร.สมศิริ แสงโชติ, รศ.ดร.อิทธิสุนทร นันทกิจ, ดร.ยศพล ผลาผล, สุเทพ สหายา. การสร้างสวนทุเรียนมือใหม่สู่มืออาชีพ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเฟรม-อัพ ดีไซน์. 2561. หน้า 51-52.
นิรนาม. 2557. โรคผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว.พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร. 129 หน้า.
พรทิพย์ วงศ์แก้ว. การชัดนำให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรค. วารสารวิชาการเกษตร ปีที่ 7 เล่มที่ 1-3 มกราคม-ธันวาคม 2532. หน้า 84-91.
พรศิริ บุญพุ่ม, สมศิริ แสงโชติ และเนตรนภิส เขียวขำ. ประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดเชื้อราที่ใช้ทั่วไปในสวนทุเรียน และสารเคมีกำจัดเชื้อราอื่นๆ ต่อการเจริญของเชื้อรา Phomosis spp. สาเหตุโรคผลเน่าและโรคใบจุดทุเรียน.ว. วิทย. กษ. 50 : 3 (พิเศษ). 2562. หน้า 143-146.
วีระณีย์ ทองศรี และสมศิริ แสงโชติ. การเข้าทำลายแฝงของเชื้อรา Phomosis sp. สาเหตุโรคใบจุดของทุเรียน (Durio zibethinus Murr) พันธุ์หมอนทอง. วารสารเกษตรพระจอมเกล้า 34 : (1) . 2559. หน้า 59 - 67.
ยงยุทธ ธำรงนิมิต. 2553. โรคไม้ผล. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : เกษตรสยามบุ๊คส์. 136 หน้า.
รศ.ดร.นุชนารถ จงเลขา, กาญจนา วิชิตตระกูลถาวร, รัติกาล ธัญหล้า, ยอดชาย นิ่มรักษา, วิรัชนีย์ เต๋จ๊ะวันดี. การควบคุมโรคใบจุดใบไหม้ของสตรอเบอรี่โดยใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์. มูลนิธิโครงการหลวง รายงานประจำปีตามโครงการวิจัย รหัสที่ 3060-3204 งบประมาณ 2543-2544.
Tongsri V., Songkumarn P, Sangchote S. Leaf spot characteristics of Phomopsis durionis on durion (Durio zibethinus Murray) and latent infection of the pathogen. Acta Universitatis Agriculturae et Silviculturae Mendelianae Brunensis.Vol. 64 No. 1. 2016. Pages 185-193.
Wikipedia contributors. "Dead arm of grapevine." Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 8 Aug. 2017. Web. 29 Dec. 2020.