ไส้เดือนฝอยทุเรียน.!! ภัยเงียบดับฝันทุเรียนปลูกใหม่
ไส้เดือนฝอยบุกทุเรียน.!! ภัยเงียบดับฝันทุเรียนปลูกใหม่
ศัตรูพืชที่ทวีความรุนแรงและแพร่ระบาดมากขึ้นในทุเรียนปลูกใหม่และแหล่งเพาะต้นกล้าทุเรียน

ใส้เดือนฝอย (Nematodes)
ใส้เดือนฝอย ถือเป็นศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้กับพืชในระดับเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง เข้าทำลายรากพืช หัวและเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ทำให้พืชมีลักษณะอาการคล้ายขาดธาตุอาหารเนื่องจากขาดธาตุและน้ำ ในบางพืชอาจรุนแรงจนทำให้ต้นเหี่ยวตายได้ เช่น พืชตระกูลแตง ไส้เดือนฝอยสร้างความเสียหายกับพืชปลูกมากกว่า 2,000 ชนิด เช่น ทุเรียน ชมพู่ หม่อน ลิ้นจี่ ลำไย กล้วย มังคุด เงาะ ฝรั่ง ท้อ น้อยหน่า ละมุด มะนาว ส้ม ส้มโอ มะละกอ องุ่น มะพร้าว หมาก ยูคาลิบตัส หน่อไม้ฝรั่ง ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ผักกาดหอม แรดดิช ผักชี พริก พริกไทย มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือเปาะ ยาสูบ กระเจี๊ยบเขียว แตงกวา แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป บวบ มะระ ฟักทอง หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม มันเทศ มันฝรั่ง พลู กวางตุ้ง กะหล่ำปลี คะน้า ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา สับปะรด อ้อย ตะไคร้ ชา กาแฟ มันสำปะหลัง เยอบีร่า บานชื่น ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ป่าหลายชนิด
ลักษณะทั่วไป
ไส้เดือนฝอย เป็นหนอนตัวกลม (round worm) และเป็นคนละชนิดกับไส้เดือนที่พบเห็นทั่วไป ไส้เดือนฝอยมีขนาดที่เล็กมากและส่วนใหญ่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น โดยมีขนาดลำตัวด้านกว้างน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ลำตัวใสและยาว ลักษณะรูปร่างเหมือนพยาธิที่ก่อโรคในคนและสัตว์ หรืออาจเปรียบได้ว่า "ไส้เดือนฝอย คือ พยาธิของพืช (Plant Parasitic Nematode)" ในทางวิชาการแม้สาเหตุผิดปกติของพืชจะเกิดจากไส้เดือนฝอย แต่ก็ถือเป็นโรคพืชชนิดหนึ่ง และเรียกอาการผิดปกตินี้ว่า "โรคไส้เดือนฝอยรากปม หรือโรครากปม"
ไส้เดือนฝอยมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne spp.) เพศเมียสามารถวางไข่ได้มากกว่า 100-250 ฟอง และมีการลอกคราบเพื่อเจริญวัย 3 ครั้งเป็นตัวเต็มวัยหรือตัวแก่ โดยใช้เวลาราว 15-25 วัน มีอายุตั้งแต่ 25-60 วัน ขึ้นอยู่กับชนิด สภาพภูมิอากาศและพืชอาหาร ไส้เดือนฝอยหลายชนิดสามารถสืบพันธุ์โดยไม่ต้องอาศัยน้ำเชื้อจากเพศผู้ได้ (parthenogenesis) บางชนิดลอกคราบจากวัยแรกภายในไข่เป็นวัยสอง แล้วจึงออกจากไข่ เช่น ไส้เดือนฝอยเรนิฟอร์ม (Rotylenchulus reniformis)

การเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย
ไส้เดือนฝอยเข้าทำลายส่วนที่อยู่ใต้ดินทั้ง ราก เหง้า และหัว โดยใช้ส่วนที่มีลักษณะเป็นเข็ม (stylet) แทงเข้ารากพืชแล้วปลดปล่อยเอนไซม์เพื่อทำลายผิวรากให้อ่อนนุ่มลง จากนั้นตัวอ่อนไส้เดือนฝอยจะชอนไชเข้าสู่รากพืชและดูดสารอาหารจากพืช การเจาะเข้าสู่รากพืชของไส้เดือนฝอยบางชนิด เมื่อเกิดรูแผลแล้วจะเป็นช่องทางให้ไส้เดือนฝอยตัวอื่นๆ ชอนไชผ่านรูนั้นด้วย ส่วนใหญ่ไส้เดือนฝอยจะก่อให้เกิดอาการรากเป็นปม เนื่องจากการแบ่งเซลล์ผิดปกติของรากส่วนที่ไส้เดือนฝอยฝังตัวอยู่ จึงขัดขวางการเคลื่อนย้ายของธาตุอาหารและน้ำ รากฝอยและรากขนมีปริมาณลดลง รากสั้น ทำให้พืชแสดงอาการคล้ายการขาดธาตุอาหาร ในระยะแรกส่วนเหนือดินของพืชจะแสดงอาการคล้ายขาดธาตุอาหาร โดยมักพบอาการใบเหลืองผิดปกติก่อน เช่น
1. อาการใบเหลืองหรือซีดขาวระหว่างเส้นใบ แต่อาการเหลืองระหว่างซีกซ้าย-ขวาของใบเหลืองไม่สมมาตรกันหรือต่างกัน
2. อาการใบเหลืองหรือซีดขาวที่เส้นกลางใบ
3. อาการใบเหลืองหรือซีดขาวที่เส้นใบย่อย
4. อาการใบด่าง ใบประด่าง ใบประเหลือง หรือเหลืองเป็นจ้ำๆ ตามหน้าใบ คล้ายอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส


ในพืชตระกูลแตง ใบที่อยู่ด้านล่างๆ จะแสดงอาการใบเหลืองคล้ายอาการขาดธาตุไนโตรเจนหรือโพแทสเซียม ต่อมาใบจะเริ่มเฉา ต้นเฉาคล้ายอาการขาดน้ำโดยที่ใบด้านบนอาจยังเขียวปกติ ใบล่างแห้งไหม้ ต่อมาจะยืนต้นตาย ในไม้ผลหากอาการรุนแรงอาจทำให้ใบซีดเหลืองหรือซีดขาว ต้นแคระเกร็น โตช้าและการแต่งกิ่งแขนงผิดปกติ ในฝรั่งจะก่อให้เกิดอาการใบเหลืองตามขอบใบและต่อมาจะกลายเป็นใบไหม้ แห้งกรอบและกิ่งแห้งตาย หากรุนแรงจะทำให้ฝรั่งยืนต้นตายได้
สำหรับในทุเรียน มักพบอาการที่ระบุทั้ง 4 ข้อด้านบนปะปนกันไปหรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของไส้เดือนฝอยที่เข้าทำลาย กรณีที่เกิดอาการใบด่างเหลืองดังที่กล่าวอาจเป็นผลมากจากรากถูกทำลายให้เกิดแผลตามผิวราก เปลือกรากแตกเป็นแผลและเกิดอาการเน่า แต่หากรากทุเรียนมีอาการรากปมต้นทุเรียนจะแสดงอาการใบซีดเหลืองคล้ายอาการขาดปุ๋ย โดยในระยะแรกๆ ใบที่เกิดก่อนหรือใบด้านล่างจะเหลืองคล้ายขาดธาตุกำมะถันหรือไนโตรเจน ต่อมาใบอ่อนและใบด้านบนจะเหลืองซีด ใบเล็กและแคระเกร็น หลังจากนั้นจะใบเหลืองทั้งต้นและชะงักการเจริญเติบโต ผลของการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยที่รุนแรง ต้นทุเรียนมักไม่ตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ย
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรากทุเรียนยังส่งผลให้เกิดช่องทางการเข้าทำลายซ้ำเติมของโรคพืช โดยเฉพาะเชื้อราไฟท็อปธอร่า และฟิวซาเรียม สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าและกิ่งแห้งตาย”

การแพร่ระบาดในทุเรียน
ไส้เดือนฝอยนั้นมีการกระจายตัวอยู่ทั่วไปทุกภูมิภาคของประเทศและทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีไส้เดือนฝอยที่จำแนกชนิดและพบในประเทศไทยมากถึง 138 ชนิด กระจายทั่วทุกภูมิภาค (สืบศักดิ์ สนธิรัตน, พ.ศ.2538) และคาดว่าน่าจะมีชนิดของไส้เดือนฝอยมากกว่าที่ได้จำแนกไว้แล้วอีกมาก อีกทั้งไส้เดือนฝอยแต่ละชนิดมีพืชอาหารค่อนข้างกว้างและมีพืชอาศัยที่เป็นวัชพืชหลายชนิด เช่น หญ้าข้าวนก ผักเบี้ย ขาเขียด เทียนนา หนวดปลาดุก แห้วหมู ก้ามกุ้ง สันตะวาใบพาย หญ้าตะกรัมและวัชพืชอื่นๆ
การแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยมักพบในทุเรียนปลูกใหม่ อายุ 1-3 ปี มากกว่าในทุเรียนอายุมาก แต่ก็พบการแพร่ระบาดในทุเรียนอายุมากได้เช่นกัน เพียงแต่อาการไม่รุนแรง ในแปลงเพาะพันธุ์ต้นกล้าทุเรียนที่พบการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยหากไม่รีบกำจัดแต่เนิ่นๆ หรือขาดประสบการณ์ในการสังเกตุลักษณะที่ปรากฏ อาจกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายไส้เดือนฝอย ในกรณีที่วางถุงเพาะต้นกล้าทุเรียนติดพื้นดินหรือมีการปูพื้น เมื่อราดน้ำชื้นแฉะหรือเอ่อล้นพื้นจะเป็นการส่งเสริมการกระจายไส้เดือนฝอยจากต้นที่ถูกทำลายไปสู่ต้นอื่นๆ จากประสบการณ์เคยพบอาการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยในแปลงเพาะต้นกล้ารุนแรงโดยต้นกล้าแสดงอาการใบด่างมากกว่า 70% ของต้นกล้าทั้งหมด การวางต้นกล้าบนตะแกรงยกสูงจากพื้นจะช่วยลดการแพร่กระจายลงได้ (หากทำได้ แต่ต้นทุนตะแกรงจะสูงมาก)
ชนิดของไส้เดือนฝอยที่เข้าทำลายรากทุเรียน
สำหรับในประเทศไทย บัญชา ชิณศรีและคณะ (พ.ศ. 2564) รายงานว่า พบไส้เดือนฝอย 4 ชนิดที่เข้าทำลายต้นทุเรียนอายุน้อย ได้แก่ ไส้เดือนฝอยเรนิฟอร์ม (Rotylenchulus spp.) ไส้เดือนฝอยรากข้าว (Hirschmanniella spp.) ไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne spp.) และไส้เดือนฝอยรากแผล (Pratylenchus spp.) ส่วนสืบศักดิ์ สนธิรัตน (พ.ศ. 2538) รายงานชนิดของไส้เดือนฝอยที่พบเข้าทำลายทุเรียนไว้ถึง 27 ชนิด ดังนี้
1) Criconemella curvata
2) Criconemella onoensis
3) Criconemella sp.
4) Diphtherophorasp.
5) Helicotylenchus sp.
6) Hemicycliophora sp.
7) Hemicriconemoides cocophilus
8) Hirschmanniella mucronata มักพบอยู่ร่วมกับH. oryzae
9) Hoplolaimus seinhorsti
10) Longidorus sp.
11) Meloidogyne javanica
12) Meloidogyne sp.
13) Paralongidorus sp.
14) Pratylenchus sp.
15) Pratylenchus brachyurus
16) Pratylenchus coffeae
17) Pratylenchus vulnus
18) Rotylenchulus reniformis
19) Rotylenchulus spp.
20) Scutellonema sp.
21) Trichodorus sp.
22) Tylenchorhynchus sp.
23) Tylenchulus semipenetrans
24) Tylenchulus sp.
25) Tylenchusspp.
26) Xiphinema radicicolaGoodey
27)
Xiphinema sp.

การป้องกันและกำจัด
สารกำจัดแมลงที่แนะนำ มีดังนี้
- สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1A ได้แก่ เบนฟูราคาร์บ 20% อัตรา 40-60 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร, ไทโอดิคาร์บ 75% อัตรา 50-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกลุ่ม 1B ได้แก่ ไตรอะโซฟอส 40% (ชื่อการค้า เช่น แพ็คฟอส, เอสโตฟอส) อัตรา 40-50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
- สารกำจัดแมลง กลุ่ม 2B คือ ฟิโพรนิล 5% อัตรา 50-60 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร (ชื่อการค้า เช่น แพ็คโปนิล) หรือ 25% อัตรา 10-12 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร (ชื่อการค้า เช่น เมคเซนด์25)
- สารกำจัดแมลง กลุ่ม 6 ได้แก่ อะบาเม็คติน อัตรา 50-60 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร (ชื่อการค้า เช่น ไดเมทิน, อะบา24)
- สารกำจัดแมลง กลุ่ม 23 ได้แก่ สไปโรเตตระเมท 15% OD และ 24% SC
- สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 7 ได้แก่ ฟลูโอไพแรม 40% SC
สำหรับการป้องกันต้นกล้าทุเรียนที่เพาะในถุงเพาะ ใช้สารกำจัดแมลงตัวใดตัวหนึ่งตามข้างต้นผสมน้ำรดถุงปลูก โดยใช้น้ำปริมาตร 2 ลิตร ต่อต้น กรณีใช้อิมิดาคลอพริด 1% หว่านรอบโคนต้นให้ทั่ว อัตรา 15-20 กรัม ต่อต้น โดยรดยาหรือหว่านทุก 21-30 วันครั้ง
การป้องกันก่อนย้ายกล้าปลูก ใช้สารกำจัดแมลงตัวใดตัวหนึ่งตามข้างต้นผสมน้ำราดแปลงปลูกให้ชุ่มก่อนย้ายกล้า 14-21 วัน โดยใช้น้ำปริมาตร 2 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร (ขณะราดดินควรมีความชื้นเล็กน้อย) กรณีใช้อิมิดาคลอพริด 1% หว่านรอบโคนต้นหรือรองก้นหลุม อัตรา 15-20 กรัม ต่อต้น และปฎิบัติเช่นนี้ซ้ำทุก 30 วัน จำนวน 4 ครั้ง หลังจากนั้นให้ปฏิบัติซ้ำทุก 3-4 เดือน จนต้นโตและมีระบบรากที่แข็งแรง
กรณีหลังปลูกทุเรียนไปแล้วและพบอาการโรคไส้เดือนฝอย ให้ใช้สารกำจัดแมลงตัวใดตัวหนึ่งตามข้างต้นผสมน้ำราดโคนต้นให้รอบทรงพุ่มและเลยออกมาเล็กน้อยราว 30-40 ซม. โดยใช้น้ำปริมาตร 2 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยราดทุก 7-10 วัน อย่างน้อย 2-4 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น) หลังจากนั้นให้ราดซ้ำทุก 21-28 วัน จนกว่าอาการของโรคจะหมดไป และควรกระตุ้นการแตกรากใหม่เพื่อชดเชยรากที่เสียหาย



แหล่งสืบค้น:
บัญชา ชิณศรี[1], ณัฐธิเดช บี่สา[1], กนกทิพย์ ทะลือ[1], พรทวัล พันธ์บุตร[1] และ กมลวรรณ พุทธวงค์[1].เคหการเกษตร.ปีที่ 45 ฉบับที่ 4 (เม.ย. 2564).หน้า 99-102.
สืบศักดิ์ สนธิรัตน.2538.ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชในประเทศไทย Plant Parasitic Nematodes of Thailand.ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 1. 275 หน้า.
[1]ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตร