Logo

เพลี้ยจักจั่น​ฝอยทุเรียน.!! (ยอดก้านธูป)

Thirasak Chuchoet • May 13, 2024
เพลี้ยจักจั่น​ฝอยทุเรียน.!! ยอดอ่อนไหม้เหลือแต่กิ่งให้ดูต่างหน้า

เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน (Durian leafhopper)

ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ: เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยน้ำมัน

ชื่อวิทยาศาสตร์: Amrasca durianae Hongsaprug

วงศ์: ซิคาเดลลิดี้ (Family: Cicadellidae), อันดับ: เฮมิพเทอร่า (Order: Hemiptera)

ยอดก้านธูป หรือยอดไม้กวาดในทุเรียน

    ต้นทุเรียนที่มีกิ่งก้านบริเวณยอดหรือปลายยอดแห้งตาย มีลักษณะคล้ายก้านธูปหรือก้านไม้กวาด สาเหตุอาจเกิดได้จากหลายประการ อาทิ เกิดจากโรคกิ่งแห้งตาย (Fusarium die-back disease) อาการขาดธาตุแคลเซียมและโบรอนในช่วงอุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ หรือต้นทรุดโทรมหลังการเก็บเกี่ยว แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงสาเหตุที่มาจาก "เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน"

    อาการยอดแห้งตายคล้ายยอดไม้กวาดในทุเรียน ที่มีสาเหตุจากเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน (Durian leafhopper) บางพื้นที่เรียกเพลี้ยชนิดนี้ ว่า "เพลี้ยกระโดด" ที่ได้ชื่อนี้อาจเป็นเพราะชาวสวนสังเกตุ​พฤติกรรม​การเคลื่อนไหว​ของเพลี้ยจักจั่น​ฝอย​ทุเรียน​ ที่มีลักษณะ​คล้าย​การกระโดดไปด้านข้างเหมือนการเดินของ "ปู"

    เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนเป็นแมลงศัตรูพืชที่อยู่ในอันดับ "เฮมิพเทอร่า" และอยู่ในวงศ์เดียวกันกับเพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยจักจั่นชาสีเขียว เพลี้ยจักจั่นฝอยมะม่วง เพลี้ยจักจั่นช่อมะม่วง (เพลี้ยจักจั่นมะม่วง) เพลี้ยจักจั่นสีเขียวในข้าว เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยักในข้าว เพลี้ยจักจั่นแดงในอ้อย และมีความใกล้ชิดทางชีววิทยากับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว ที่อยู่ในวงศ์เดลฟาซิดี้ (Family: Delphacidae) ดังนั้น แม้ในเชิงวิชาการจะยังขาดข้อมูลการศึกษาด้านชีววิทยาของเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนค่อนข้างมากแต่ก็พอจะอ้างอิงกับเพลี้ยจักจั่นชนิดอื่นได้


อาการยอดก้านธูปเนื่องจากเพลี้ยจักจั่นฝอยเข้าทำลาย

​รูปร่างลักษณะ​

    เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน (Durian leafhopper) เป็นศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายในระดับเศรษฐกิจ มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษตามพืชที่พบหลัก คือ "ทุเรียน (Durian)"  (ปัจจุบัน เพลี้ยชนิดนี้ยังไม่พบการเข้าทำลายในพืชอื่น) และชื่อตัวตามลักษณะการทำลาย คือ "leafhopper (ลีฟฮอพเพอร์)" ชื่อ leafhopper มาจากคำว่า "leaf" หมายถึง "ใบ" เป็นส่วนที่ถูกเข้าทำลายหลัก กับคำว่า "hopper" หมายถึง "ผู้กระโดด" ซึ่งเรียกตามลักษณะการเคลื่อนที่ของแมลงในวงศ์นี้หรือวงศ์ใกล้เคียง โดยมีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบกระโดดเฉียงไปด้านข้างของลำตัวคล้ายปู นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้เรียกลักษณะอาการของใบพืชที่ถูกทำลายจากเพลี้ยเหล่านี้ ที่มีลักษณะไหม้คล้ายถูกน้ำร้อนลวก ว่า "hopper burn (ฮอพเพอร์เบิร์น)"

    เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน ไม่ใช่แมลงศัตรูพืชที่พึ่งพบใหม่แต่เป็นศัตรูพืชที่พบมานานทุเรียน ในระยะ 5-6 ปีหลังมานี้เอง ที่พบว่า สร้างความเสียหายกับใบอ่อนทุเรียนมากขึ้น และมีรุนแรงมากกว่าเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน อีกทั้งเพลี้ยชนิดนี้ยังสร้างความทนทานต่ออัตราสารกำจัดแมลงมากขึ้น (Tolerance) ความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงมากขึ้น (Resistance) และพบว่ามีสารกำจัดแมลงหลายชนิดที่มีผลต่อการระบาดเพิ่มขึ้น (Resurgence)

อาการยอดอ่อน-ใบอ่อนไหม้คล้ายถูกน้ำร้อนลวก เกิดจากน้ำลายที่เป็นเอนไซม์พิษ

    รูปร่างลักษณะทั่วไปคล้ายคลึง​กับ​เพลี้ยจั๊กจั่นฝอยมะม่วง เพลี้ยจักจั่นฝ้าย และเพลี้ยจักจั่นชาสีเขียว การจำแนกเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน โดยส่วนหัว (pronotum และ scutellum) เป็นสีน้ำตาลอ่อนอมเขียว บริเวณ​ใกล้​ขอบหน้าผากมีจุดดำ 2 จุด (ปลายส่วนหัว) และมีเส้นสีขาวเป็นรูปเครื่องหมายบวก (+) พาดยาวตรงกลาง scutellum และมีจุดสีน้ำตาลเรียงเป็นระยะ ปีกใสสีเขียวอ่อน กลางปีกค่อนไปทางด้านปลายมีจุดสีดำ 4 จุด เรียงพาดขวาง

รูปร่างลักษณะของเพลี้ยจักจั่นฝอยตัวเต็มวัย (ตัวแก่)

การทำลายและความเสียหาย​

    เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและใบเพสลาดของทุเรียนโดยไม่ทำลายใบแก่ การดูดกินน้ำเลี้ยงของเพลี้ยจักจั่นแต่ละชนิดส่วนมากจะทำให้อาการใบไหม้ ​เพลี้ย​จักจั่นทุกชนิด​มีปากแบบ​เจาะดูด​ (piercing sucking type) การดูดกินน้ำเลี้ยงโดยการเจาะดูด ซึ่ง​ไม่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อใบ​พืชเสียหายมากนัก​ แต่ความเสียหายเกิดจากการใช้เอนไซม์ที่เป็นพิษในน้ำลาย​ย่อยผนังเซลล์พืช​ทำให้ผนังเซลล์บางลงและแตก หลังจากนั้นของเหลว​หรือน้ำเลี้ยง​ภายในเซลล์​จะซึมออกมา​ อาการผนังเซลล์แตกนี้ทำให้เกิดอาการไหม้​ "hopper burn" โดยปกติเพลี้ยจักจั่นฝอยมักดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณขอบใบมากกว่าเนื้อใบ​ อาการใบไหม้ระยะแรกมีลักษณะ​คล้าย​ถูกน้ำร้อน​ลวก​ ต่อมาเมื่อแผลไหม้เริ่มแห้งจะทำให้ขอบใบม้วนงอ หากถูกทำลายรุนแรง​ใบอ่อนจะร่วงหล่น​ การระบาดของเพลี้ยต่อเนื่องจะทำให้ใบอ่อน​เกิดอาการไหม้รุนแรงทั้งต้นและใบร่วงเหลือแต่ก้าน ชาวสวนเรียกอาการทีเหลือแต่ก้านนี้ว่า "ยอดก้านธูป"

วงจรชีวิต

    ยังไม่พบรายงาน​วงจรชีวิต​ของเพลี้ย​จั๊กจั่น​ฝอย​ทุเรียน ดังนั้น​ จึง​อ้างอิง​วงจรชีวิต​ของ "เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย" วงจรชีวิตมีดังนี้

   1. ตัวเต็มวัยหรือตัวแก่ (adults): มีอายุเฉลี่ยราว 21-28 วัน แต่สามารถมีอายุได้นานถึง 53 วัน โดยเพศเมียมีอายุยืนยาวกว่าเพศผู้ ปกติเพศเมียมีสัดส่วนมากกว่าเพศผู้ 1.3 ต่อ 1 ตัว

   2. ไข่ (eggs): ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวในเนื้อเยื่อพืชตามเส้นใบ หรือบางครั้งวางไข่ที่ก้านใบอ่อนๆ เพศเมีย 1 ตัว วางไข่เฉลี่ย 15 ฟอง ไข่ใช้เวลา 4-7 วัน จึงฟักออกมาเป็นตัวอ่อน

   3. ตัวอ่อน (nymphs): ตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝอยไม่มีปีก เมื่อแรกฟักจะมีระยางค์ที่ต่อมาพัฒนาเป็นปีกคล้ายลูกไก่ที่พึ่งฟัก ตัวอ่อนมีการเจริญเติบโต 5 วัย โดยการลอกคราบ (คล้ายปูนิ่มที่ลอกคราบเพื่อขยายขนาดตัว) เมื่อลอกคราบแต่ละครั้งลำตัวจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ตัวอ่อนมีน้ำลายที่เป็นพิษเช่นเดียวกับตัวเต็มวัยและมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ฟักออกจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัยราวๆ 7-21 วัน ขึ้นอยู่กับแหล่งอาหารและสภาพอากาศ

รูปร่างลักษณะของเพลี้ยจักจั่นฝอยตั้งแต่ฟักออกจากไข่จนถึงตัวเต็มวัย

ตัวเต็มวัยว่างไข่ในเนื้อเยื่อพืช โดยวางไข่บริเวณเส้นใบหรือก้านใบอ่อน

แหล่งที่พบ​การระบาด

    พบการแพร่ระบาดเป็นประจำเกือบทุกพื้นที่การเพาะปลูกทุเรียนโดยเฉพาะในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง​ เช่น ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและภาคกลาง ส่วนภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างพบการระบาดเป็นครั้งคราว

การป้องกันกำจัด (อัพเดทข้อมูล ณ พ.ค.2567)

    1. เมื่อพบการเข้าทำลายของเพลี้ย ควรพ่นสารกำจัดศัตรูพืชต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ครั้ง ทุก 5-7 วัน เช่น สารกำจัดแมลง กลุ่ม​ 29 ได้แก่ ฟลอนิคามิด​ 50% อัตรา​ 50-100​ กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ กลุ่ม​ 9 ได้แก่ ไพมีโทรซีน 50% (ชื่อการค้า เช่น ไพแม็ก, แพ็คโทรซีน) อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ผสมร่วมกับสารกำจัดแมลง กลุ่ม 3A ได้แก่ ไบเฟนทริน 10% อัตรา 250-300 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร, อีโทเฟนพรอกซ์ 20% อัตรา 300-400 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือกลุ่ม 13 ได้แก่ คลอฟีนาเพอร์ 10%, 24% หรือ 40% อัตรา 400-600, 200-300, 100-150 ซีซี. (ตามลำดับ) ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือกลุ่ม 1A เช่น ฟิโนบูคาร์บ 50% อัตรา 350-400 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือกลุ่ม 1B ได้แก่ ไดอะซินอน 60%, โปรฟีโนฟอส 50% (ชื่อการค้า เช่น พีโปร), ไดเมโทเอท 50% หรือเฟนโทเอท 50% (ชื่อการค้า เช่น พีเอท50) อัตรา 350-400 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร 

*สารกำจัดแมลง กลุ่ม​ 3A​ ใช้ได้เฉพาะ​ไบเฟนทริน​ เพอร์เมทิลและอีโทเฟนฟร็อก เท่านั้น​ เนื่องจากไม่มีไซยาไนด์​เป็น​องค์ประกอบ​ในโครงสร้าง​ทางเคมี

**กรณี​ พบการระบาดรุนแรงอาจผสมสารกำจัดแมลงดังกล่าว​ร่วมกับ สารกำจัดแมลง กลุ่ม 16 ได้แก่ บูโพรเฟซีน​ 40% (ชื่อการค้า เช่น แพ็คบูซิน) อัตรา​ 300-400​ ซีซี.ต่อน้ำ 200 ลิตร​ หรือ กลุ่ม 7C ไฟริพรอกซิเฟน 10% (ชื่อการค้า เช่น แพ็คซีเฟน) อัตรา​ 300-350​ ซีซี​.ต่อน้ำ 200 ลิตร

***การผสม ไวท์ออยล์ หรือพาราฟินออยล์ ทดแทนสารจับใบจะช่วยให้กำจัดเพลี้ยได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น เอนโดซ่า อัตรา 400-500 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ เรดฮ็อท อัตรา 200-250 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร

    2. การป้องกันก่อนพบการเข้าทำลายในระยะใบเริ่มแตกใบอ่อน ควรพ่นป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้

        สารกำจัดแมลง ​กลุ่ม​ 4A ได้แก่ ไดโนทีฟูแรน 20%, ไทอะมีโทแซม 25%, อิมิดาโคลพริด 70%, อะซีทามิพริด 20% หรือ โคลไทอะนิดีน 16%  อัตรา 150-200 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือไทอะโคลพริด 24%SC อัตรา 200 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ​

        กลุ่ม​ 4C ได้แก่ ซัน​ฟ็อก​ซา​โฟล 50% อัตรา 150-200 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ

        กลุ่ม 4D ได้แก่ ฟลูไพราดิฟูโรน 20% อัตรา 150-250 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร 

        *เลือกใช้สารตัวใดตัวหนึ่ง

แหล่งสืบค้น:

    ขยัน สุวรรณ.ไม่ระบุปีที่พิมพ์.แมลงและไรศัตรูพืชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย.ภาควิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่.494 หน้า.

    ธวัช ปฏิรูปานุสร และเพชรหทัย ปฏิรูปานุสร.2552.ศัตรูข้าวและศัตรูธรรมชาติในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน.ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว.304 หน้า.

    สุเทพ สหายา.2561.รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง และไรศัตรูพืช.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ.108 หน้า.

    คู่มือผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร.2566.พิมพ์ครั้งที่ 1.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.183 หน้า.

    เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2559.การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกะหล่ำ เทคนิคการพ่นสารฆ่าแมลงในพืชผักและกลไกการต้านทานสารฆ่าแมลงของแมลงศัตรูผักที่สำคัญ.กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.จัดทำโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย.86 หน้า.

    เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2559.การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูไม้ผล และเทคนิคการพ่นสารที่เหมาะสม (รุ่นที่ 1).สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.จัดทำโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย.162 หน้า.

    เอกสารวิชาการ.2564.การใช้สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชเพื่อแก้ไขปัญหาความต้านทานศัตรูพืช.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.146 หน้า.

    IRAC.2019.Insecticide Mode of Action Training slide deck IRAC MoA Workgroup Version 1.0, April 2019.

    (https://irac-online.org)

    IRAC.2024.MODE OF ACTION CLASSIFICATION SCHEME VERSION 11.1, JANUARY 2024.

    (https://irac-online.org)

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: