Logo

ลำดับผสมยา​และฮอร์โมน​-อาหารเสริมทางใบ

Thirasak Chuchoet • June 3, 2024
ลำดับผสมสารกำจัด​ศัตรูพืช​และฮอร์โมน​-อาหารเสริมทางใบ

ขอขอบคุณ:

อาจารย์อรพรรณ วิเศษสังข์  (อดีตนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญโรคพืช กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร)

ผู้อบรมความรู้เรื่องโรคพืชและการป้องกันกำจัด และการเรียงลำดับการผสมสารกำจัดศัตรูพืชแก่ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นข้อมูลหลักของบทความนี้

.

Thirasak Chuchoet - 3 มิ.ย. 2567

    การพ่นยา​ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า​มีการผสมสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดในการพ่นยาแต่ละครั้ง​​ ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน​ อันได้แก่​ เพื่อป้องกันกำจัดโรค-แมลงและไรศัตรูพืช (pesticide prevention and curation) ควบคุมการเจริญเติบโต​ (hormone treatment) เสริมปุ๋ยธาตุหลัก​และธาตุรอง-เสริมทางใบ​ (nutrients element foliar) และการเติมสารเสริมประสิทธิภาพ (adjuvants)​ การผสมยาหลายชนิดในการพ่นแต่ละครั้ง มีทั้งข้อดีและข้อเสียหลายประการให้พิจารณา​ดังต่อไปนี้

ข้อดี

    1. สามารถป้องกันและกำจัดโรค​-แมลงและไรศัตรูพืช​ได้ในคราวเดียว

    2. การผสมสารหลายชนิดช่วยชะลอการดื้อยาของศัตรูพืช

    3. เพิ่มโอกาสในการแก้ไขสถานการณ์ระบาดของศัตรูพืชหลายชนิดในเวลาเดียวกัน

    4. ประหยัดเวลาและค่าแรงงานในการพ่นยา

    5. การผสมยาหลายชนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาดีขึ้น

    6. ลดโอกาสความถี่ในการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช

ข้อเสีย

    1. สารกำจัดศัตรูพืชอาจมีประสิทธิภาพลดลง ยาบางชนิดผสมเข้ากันไม่ได้ อาจเกิดการตกตะกอน แยกชั้น เป็นคราบน้ำมัน คราบวุ้นหรือเจล

    2. ปริมาณความเข้มข้นของยารวมกันทุกชนิดเข้มข้นมากเกินไปอาจก่อความเป็นพิษต่อพืช เช่น ชะงักการเจริญเติบโต ใบไหม้ ใบกระด้าง-แห้งกร้าน​ หรือใบเสื่อมอายุเร็วกว่าปกติ

    3. สิ้นเปลื้อง อันเนื่องมาจากการผสมสารกำจัดศัตรูพืชที่มีกลไกออกฤทธิ์เหมือนกัน​ (ใช้ยาซ้ำซ้อน)​

    4. ประสิทธิภาพลดลงเนื่องจากความเชื่อที่ว่า "ผสมสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดสามารถลดอัตราการผสมลงได้" ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด

    แต่อย่างไรก็ดีเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประชากรโลก​ ผู้ผลิต​ (เกษตรกร)​ มีความจำเป็นไม่น้อยที่ต้องพ่นยาหลายชนิดในรอบการเพาะปลูกรุ่นหนึ่งๆ​ เพื่อรักษาคุณภาพ​และปริมาณ​ของผลผลิต​ ดังนั้น​ หากมีความจำเป็นต้องผสมยาหลายชนิด​ จึงควรพิจารณา​และปฎิบัติ​ด้วยความระมัดระวัง​ในการผสมยาใดๆ​ ก่อน-หลัง​ (ลำดับการผสม)​ การผสมยามีหลักการผสมอยู่ 2-3 แนวทาง​ และมีการเผยแพร่กันมากขึ้นอยู่กับแนวทางของผู้เผยแพร่​ อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย​ ​โดยไม่มีถูก-ผิด​ ชัดเจน​ 100% เนื่องจากการผสมยาแต่ละชนิดมีความแตกต่างทางด้านโครงสร้างสารประกอบเคมีอย่างมาก​ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงลำดับการผสมยาก่อน-หลัง​ โดยพิจารณา​จากคุณสมบัติทางเคมี สมบัติหลังการละลาย การเข้ากันได้ของยาหรือการเสริมฤทธิ์​ทางกายภาพเพื่อลดการเกิดปฏิกิริยา​เคมี​ สมบัติของประจุไฟฟ้า (ไอออน​บวก-ลบ)​ เปอร์เซ็นต์​สารออกฤทธิ์​ อัตราการผสม​ และสมบัติความเป็นกรด-ด่าง​ เป็นต้น

สิ่งที่ควรรู้ก่อนผสมสารกำจัดศัตรูพืช

1. ส่วนประกอบสูตรผสมสารกำจัดศัตรู (Pesticide formula ingredients) 

    สารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้งาน​จำแนกตามวิธีการใช้​ เป็น​ 2 ลักษณะ​ คือ​ ผลิตภัณฑ์​สำเร็จรูปพร้อมใช้งาน​ เช่น​ สารกำจัดศัตรูพืช​ชนิดเม็ดหว่านพร้อมใช้งานโดยไม่ต้องผสมน้ำ​ สารคลุกเมล็ด​ ผงโรย​ หรือสเปรย์​สำเร็จรูป​ ตัวอย่างเช่น​ สเปรย์​กันยุง​ สเปรย์กำจัดมด ปลวกและแมลงสาบ​ตามบ้านเรือน​ (ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีกลุ่ม ไพริทรอยด์/ไพริทริน​ (กลุ่ม​ 3A) ได้แก่​ เพอร์เมทริน​ เอสไบโอทริน​ ทรานส์ฟลูทริน​ ปัจจุบันมีสารเคมีกลุ่ม​ นีโอนิโคตินอยด์​ ด้วย​ เช่น​ อิมิดาโคลพริด​ ไดโนทีฟูเรน)​ ​เหยื่อลด​มด​และหนู และผลิตภัณฑ์​ที่ต้องผสมก่อนใช้งาน​ ทั้งผสมน้ำ​ น้ำมัน​ หรือในรูปก๊าซก่อน

    สารกำจัดศัตรูพืช​ จะประกอบไปด้วยสารต่างๆ​ ได้แก่​ สารออกฤทธิ์​ ตัวทำละลาย​ สารพา​ สารลดแรงตรึงผิว​ และสารเสริมฤทธิ์​อื่นๆ​ ดังนี้

    1.1 สารออกฤทธิ์​ (active ingredient: a.i.)

    สารออกฤทธิ์​ (a.i.) คือสารที่มีฤทธิ์​ในการกำจัดศัตรูพืช​ ในการผลิตสารกำจัดศัตรูพืช​เริ่มต้นจากการนำสารออกฤทธิ์​ความเข้มข้นสูง/เนื้อเทค​ หรือสารตั้งต้น​ (technical material) เป็นส่วนประกอบหลักเพื่อควบคุมปริมาณ​สารออกฤทธิ์​ คุณภาพ​ สารเจือปน​ และคุณ​สมบัติ​ทางกายภาพ​ ​ในการผลิตสารกำจัดศัตรูพืช​เป็นสูตรผสมชนิดใด​ (formulation type) จะพิจารณา​จากสารออกฤทธิ์​ความเข้มข้นสูง​​ ว่า​ มีคุณสมบัติการละลายด้วยน้ำหรือสารอินทรีย์ชนิดใด​ จุดหลอมเหลว​ จุดเดือด​ การระเหยเป็นไอ​ การคงสภาพของสาร​ การสลายตัว​ และความเป็นกรด-ด่าง​ เป็นต้น​ สารออกฤทธิ์​ความเข้มข้นสูง​จะมีลักษณะ​ทางกายภาพแตกต่างกันไป​ เช่น​ มีลักษณะ​เป็นเกล็ด​ (flake) ผง​ (powder)​ ผลึก​ (crystal) ของเหลวหนืด​ (liquid)​ หรือแก๊ซ​ (gas)

    ผลิตภัณฑ์​สารกำจัดศัตรูพืช​ ​ด้านหน้าของฉลากจะระบุส่วนสำคัญที่ควรทราบ​ (อย่างยิ่ง)​ ประกอบด้วย

   กลุ่มสารกำจัดศัตรูพืช (pesticide group): อยู่ด้านบนของฉลาก​ ระบุประเภทสารกำจัดศัตรูพืช​ ได้แก่​ สารกำจัดแมลง​ สารกำจัดไร​ สารป้องกันกำจัดโรคพืช​ และสารกำจัดวัชพืช​ โดยระบุกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์​ของยา​ เช่น​ กลุ่ม​ 30​ สารกำจัดแมลง​ บ่งบอกถึง​ ผลิตภัณฑ์​นี้เป็นสารกำจัดแมลง​ กลไกการออกฤทธิ์อยู่​กลุ่ม 30

   ชื่อการค้า (trade name): เป็นชื่อการค้าของผลิตภันฑ์​อยู่ถัดลงมาจากกลุ่มสารกำจัดศัตรูพืช​

   ชื่อสามัญ​ (common name): อยู่ถัดมาจากชื่อการค้า​ เป็นชื่อเรียกสารออกฤทธิ์​ของสารกำจัดศัตรูพืช​แทนที่ชื่อสารสำคัญหรือสารเคมี​ ซึ่งเป็นชื่อสั้นๆ​ เพื่อสะดวกและง่ายต่อการจดจำชื่อในการเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืช​ เช่น​ โบรฟลานิไลด์​ (broflanilide)​ โดยกำกับชื่อภาษาอังกฤษ​ด้วย​ 

   กลุ่มสารเคมี​ (chemical group): อยู่ถัดมาจากชื่อสามัญ​ เป็นชื่อกลุ่มสารเคมี​ ที่บ่งบอกถึงลักษณะ​โครงสร้างทางเคมีหลัก​ หรือหมู่ฟังชั่นของโมเลกุลสารออกฤทธิ์​ เช่น​ meta-diamide

   สารสำคัญ​ (active ingredient: a.i.): อยู่ถัดมาจากกลุ่มสารเคมี​ เป็นชื่อสารออกฤทธิ์​ โดยมีชื่อเรียกตามระบบการเรียกชื่อของ​ "ไอยูแพค (IUPAC)​" และเป็นส่วนสำคัญที่ระบุปริมาณ​สารออกฤทธิ์​ (a.i.) และสูตรผสม​ (formulation type) เช่น​ 6'-bromo-α,α,α,2-tetrafluoro-3-(N-methylbenzamido)-4'-(1,2,2,2-tetrafluoro-1-(trifluoromethyl)ethyl)benz-o-toluidide 

    โดยด้านหลังชื่อสารสำคัญ จะระบุปริมาณ​สารออกฤทธิ์​เป็นเปอร์เซ็น​ต์​ (%)​ มีหน่วยความเข้มข้น[1] ได้แก่ W/W, W/V และ V/V

    1. W/W หมายถึง เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักสารออกฤทธิ์​ต่อน้ำหนักของผลิตภันฑ์ หรือร้อยละโดยน้ำหนักของสารถูกละลายในสารละลาย 100 ส่วน เรียกว่า ร้อยละโดยมวล (percent by weight) เช่นสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 5% W/W หมายถึง​ผลิตภัณฑ์​สารกำจัดศัตรูพืช​ ปริมาณ​ 100 กรัม​ มีสารออกฤทธิ์ที่เป็นอีมาเมกตินเบนโซเอต​ 5 กรัม (ร้อยละ​ 5)

    2. W/V หมายถึง เปอร์เซ็นต์​โดยน้ำหนักสารออกฤทธิ์​​ต่อปริมาตรของผลิตภันฑ์ หรือร้อยละโดยน้ำหนักของสารถูกละลายในสารละลาย 100 ส่วน เช่นโบรฟลานิไลด์​​ 20​% W/V​ หมายถึง​ ผลิตภัณฑ์​สารกำจัดศัตรูพืช​ ปริมาตร​ 1 ลิตร หรือ 1,000 ซีซี.​ มีสารออกฤทธิ์​ที่เป็นโบรฟลานิไลด์​ 200 กรัม (ร้อยละ​ 20)

    3. V/V หมายถึง เปอร์เซ็นต์​โดยปริมาตรสารออกฤทธิ์​​ต่อปริมาตรของผลิตภันฑ์ หรือร้อยละโดยปริมาตรของสารถูกละลายในสารละลาย 100 ส่วน เช่น สารออกฤทธิ์ A 35% V/V หมายถึง​ ผลิตภัณฑ์​สารกำจัดศัตรูพืช​ ปริมาตร​ 1 ลิตร หรือ 1,000 ซีซี.​ มีสารออกฤทธิ์​ A​ เท่ากับ 350 ซีซี หรือมิลลิลิตร (ร้อยละ​ 35)

    ถัดจากเปอร์เช็นต์สารออกฤทธิ์​ จะระบุ​ "สูตรผสม​ (formulation type)" โดยปกติ​ (นิยม)  ​ใช้อักษร​ภาษา​อังกฤษ​เป็นตัวย่อ​ 2 ตัว[2] เช่น​ 20% W/V SC โดยตัวย่อภาษาอังกฤษ​ SC จะหมายถึง  ​สูตรผสมยาในรูป​น้ำครีม​ มีลักษณะ​เป็นของเหลวโดยทั่วไปมีสีขาวขุ่น​ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะนำมาใช้ประกอบการเรียงลำดับการผสมยาก่อน-หลัง

[1]หน่วยความเข้มข้น W/W อยู่ในรูปของแข็ง เช่น ผง เม็ด เกล็ด โดยมีสารตั้งต้นเป็นของแข็ง, V/V อยู่ในรูปของเหลว เช่น สารกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่เป็นน้ำใส โดยมีสารตั้งต้นเป็นของเหลวหรือก๊าซ หน่วยความเข้มข้นทั้ง W/W และ V/V มักนิยมไม่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ แต่ให้เข้าใจว่ามีหน่วยความเข้มข้น W/W เมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของแข็งและ V/V ในผลิตภัณฑ์รูปของเหลว ส่วน W/V เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลว เช่น น้ำครีม น้ำใส่ และอิมัลชั่น โดยมีสารตั้งต้นเป็นของแข็ง

[2]สูตรผสม​ ใช้อักษร​ภาษาอังกฤษ​ตัวย่อ​ 2​ ตัว​ ตามระบบของกลุ่มผู้ผลิตสารเคมีการเกษตรนานาชาติ ​(International Group of Association of Manufacturers of Agrochemical Products: GIFAP)

    1.2 สารไม่ออกฤทธิ์​ หรือสารเฉื่อย​ (inert ingredient)

    สารไม่ออกฤทธิ์ คือสารที่ไม่มีฤทธิ์ในการกำจัดศัตรูพืช แต่มีบทบาทสำคัญในการทำให้สารออกฤทธิ์มีประสิทธิภาพ การคงสภาพสารออกฤทธิ์ การนำพาสารออกฤทธิ์เข้าสู่เป้าหมายการออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น สารเหล่านี้ได้แก่

       1) สารทำละลาย หรือตัวทำละลาย (solvent): เป็นตัวทำลายสารออกฤทธิ์ความเข้มข้นสูง หรือเทคตั้งต้น เพื่อผลิตสารกำจัดศัตรูพืชในรูปสูตรผสมของเหลวหรือทำละลายก่อนนำไปผลิตในรูปสูตรผสมของแข็ง การเลือกตัวทำลายจะพิจารณาจากความสามารถในการทำละลาย ความเป็นพิษต่อพืช (phytotoxicity) ความเป็นพิษต่อคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม การติดไฟ การระเหย และการผสมเข้ากันได้ของประจุไอออนขั้วบวก-ขั้วลบของสารตัวทำลายกับสารออกฤทธิ์

        ตัวทำละลายที่สะดวก ง่ายและปลอดภัย คือ น้ำ แต่สารออกฤทธิ์ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติการละลายน้ำได้น้อย จึงมีการใช้สารอินทรีย์ (ส่วนใหญ่เป็นสารประกอบน้ำมัน) เป็นตัวทำละลาย

       2.2 สารพา (carrier)

        เป็นสารไม่ออกฤทธิ์ มีลักษณะเป็นของแข็งที่มีคุณสมบัติในการดูดซับสารออกฤทธิ์ เช่น แป้ง ดินเหนียวละเอียด ซิลิกา ฯ ใช้ในการเตรียมสูตรผสมสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นของแข็ง เช่น สูตรผง สูตรเม็ด หรือสูตรผสมของเหลวชนิดแขวนลอย เช่น สูตรน้ำครีม

       2.3 สารลดแรงตรึงผิว (surfactant)

        เป็นส่วนผสมที่เสริมลงไปในสูตรผสมชนิดของเหลวในสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สารออกฤทธิ์สามารถเข้ากับน้ำได้ดีขึ้น และช่วยให้สารกำจัดศัตรูพืชสัมผัสกับพืชได้ดียิ่งขึ้น ลดแรงตรึงผิวระหว่างยากับใบพืช เพิ่มการเกาะติดพื้นผิวใบพืช สามารถจำแนกสารลดแรงตรึงผิวออกได้เป็น 3 ชนิด ตามลักษณะของการมีขั้ว (ไอออนบวก/ลบ) ได้แก่ สารลดแรงตรึงผิวที่มีประจุลบ (anionic surfactant) สารลดแรงตรึงผิวที่มีประจุบวก (cationic surfactant) และสารลดแรงตรึงผิวที่ไม่มีประจุ (non-ionic surfactant)

        นอกจากสารไม่ออกฤทธิ์ ทั้ง 3 ที่กล่าวมา ยังมีสารอื่นๆ ที่เติมในผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชอีก เช่น สารเพิ่มการคงสภาพ (stabilizer) สารลดการตกตะกอน (anti-precipitant) สารป้องกันการเกิดฟอง (antifoam agent) สารเสริมฤทธิ์ (synergist) เช่น การเสริมสารไพเพอโรนิลบิวทอกไซด์ (piperonyl butoxide: PBO) ในสารเคมีกลุ่มไพริทรอยด์/ไพริทริน (สารกำจัดแมลง กลุ่ม 3A) ในการกำจัดยุง หรือกรดซาลิซิลไฮดร็อกซามิก​ (salicylhydroxamic acid: SHAM) ในสารเคมีกลุ่มสโตรบิลูริน (สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 11) และการเติมสารอื่นๆ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การเติมสี กลิ่น สารที่ทำให้เกิดการอาเจียน หรือแม้แต่สารยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดเพื่อลดการย่อยสารออกฤทธิ์และจับตัวเป็นก้อน ตะกอน หรือวุ้น

2. ความเป็นกรด-ด่างของน้ำต่อประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืช (Water pH and the effectiveness of pesticides)

    คุณสมบัติความเป็นกรด-ด่างของน้ำส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงความเป็นด่างของน้ำมากกว่าความเป็นกรด โดยเฉพาะสารกำจัดแมลงกลุ่ม "คาร์บาเมต และ ออร์กาโนฟอสเฟต" หากผสมสารเหล่านี้ในน้ำที่เป็นด่าง จะลดประสิทธิภาพของยาอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้ไม่มีความสามารถในการกำจัดแมลงได้ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากน้ำที่เป็นด่างนี้ เรียกว่า "อัลคาไลน์ไฮโดรไลซิส (alkaline hydrolysis)"

    น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่ใช้ผสมสารกำจัดศัตรูพืชจะมีความผันแปรของแร่ธาตุ และสารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำและส่งผลต่อความเป็นกรด-ด่างของน้ำ โดยมากการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงมักเกิดตามฤดูกาล ความเป็นกรดหรือด่างของน้ำมีหน่วยวัดเป็น pH มีค่า 0-14 

    การวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำ หมายถึง การวัดปริมาณความเข้มข้นที่ละลายอยู่ในน้ำของ "ไฮโดรเจนไอออน หรือโปรตอน (hydrogen ion: H+) และไฮดร็อกซิลไอออน (hydroxide ion: OH-)"

    ค่า pH เท่ากับ 7 คือ มี "ไฮโดรเจนไอออน" และ "ไฮดรอกซิลไอออน" ละลายอยู่เท่ากัน หมายถึง น้ำมีความเป็นกรด-ด่าง เป็นกลาง

    ค่า pH น้อยกว่า 7 คือ มี "ไฮโดรเจนไอออน" ละลายอยู่มากกว่า "ไฮดรอกซิลไอออน" หมายถึง น้ำมีความเป็นกรด

    ค่า pH มากกว่า 7 คือ มี "ไฮโดรเจนไอออน" ละลายอยู่น้อยกว่า "ไฮดรอกซิลไอออน" หมายถึง น้ำมีความเป็นด่าง หรือเบส

    ความเป็นกรด-ด่างของน้ำที่อาจส่งผลเสียต่อความเสถียรหรือความคงตัวของสารกำจัดศัตรูพืชเป็นผลมาจากปฏิกิริยา "ไฮโดรไลซิส (hydrolysis)" ความหมายว่า สารกำจัดศัตรูพืชเมื่อละลายน้ำและแตกตัวให้ประจุไฟฟ้าขั้วบวก (แคทไอออน; cation [+]) และประจุไฟฟ้าขั้วลบ (แอนไอออน; anion [-]) จะถูกย่อยโดยโมเลกุลของน้ำ ได้ 2 แบบ คือ

    สารกำจัดศัตรูพืชให้ไฮโดรเจนไอออน (H+) แก่น้ำ ทำให้โมเลกุลน้ำรับโปรตรอน 1 ประจุ จากโมเลกุลของน้ำ สูตรเคมี H2O เป็น H3O+ (ไฮโดรเนียมไอออน) หรือ

    สารกำจัดศัตรูพืชรับไฮโดรเจนไอออน (H+) จากน้ำ ทำให้โมเลกุลน้ำเสียโปรตรอน 1 ประจุ จากโมเลกุลของน้ำ สูตรเคมี H2O เป็น OH- (ไฮดร็อกซิลไอออน)

    ภายใต้สภาวะไฮโดรไลซิสที่เกิดขึ้นนี้ สถานะของสารกำจัดศัตรูพืชอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ คือ

    1) สารคงตัว มีประสิทธิภาพเช่นเดิม 

    2) สารคงตัว มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

    3) สารไม่คงตัว มีประสิทธิภาพลดลง

    โดยทั่วไปสภาพน้ำที่เป็นด่างจะส่งผลกระทบต่อความคงตัวของสารกำจัดศัตรูมากกว่าน้ำที่เป็นกรด การไฮโดรไลซิสด้วยน้ำด่าง (alkaline hydrolysis) จะย่อยสลายสารกำจัดศัตรูพืชให้ประสิทธิภาพลดลง หรืออยู่ในรูปที่ไม่เป็นพิษ (ไม่ออกฤทธิ์กำจัดศัตรูพืช) ซึ่งสารกำจัดแมลงมีความอ่อนไหวต่อการย่อยสลายด้วยด่างมากกว่าสารป้องกันกำจัดโรคพืช, สารกำจัดวัชพืช และสารควบคุมการเจริญเติบโต ผลลัพธ์ที่ได้คือ สารกำจัดศัตรูพืชออกฤทธิ์น้อยลงและประสิทธิภาพต่ำ

    การย่อยสลายของสารกำจัดศัตรูพืชสามารถวัดได้ในแง่ของ "ค่าครึ่งชีวิต (half-life)" หมายถึง หากสารกำจัดศัตรูพืชชนิดหนึ่งมีค่าครึ่งชีวิต เท่ากับ 1 ชั่วโมง ปริมาณสารออกฤทธิ์จะลดลง 50% หลังผ่านไป 1 ชั่วโมง และในชั่วโมงถัดไปจะเหลือเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์ 25% และชั่วโมงถัดไปจะเหลือ 12.5% และท้ายที่สุดสารกำจัดศัตรูนี้ก็จะแทบไม่มีผลต่อศัตรูพืช เป็นต้น ผลกระทบของค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำต่อสารกำจัดศัตรูพืชจะแตกต่างกันไปในแต่ละสารออกฤทธิ์ สารปรุงแต่งของแต่ละผู้ผลิตและการผสมสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดในถังพ่นเดียวกัน

   ตัวอย่าง ผลกระทบของน้ำที่เป็นด่างต่อสารกำจัดศัตรูพืช เช่น ไทอะมีทอกแซม และแคปแทน ดังนี้

   ไทอะมีทอกแซม เป็นสารกำจัดแมลงที่อ่อนไหวต่อการย่อยสลายด้วยน้ำด่าง น้ำที่มีค่า pH เท่ากับ 5 จะคงตัวและจะคงอยู่ในน้ำเป็นเวลา 10 กว่าวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อค่า pH เพิ่มขึ้นเป็น 7 ค่าครึ่งชีวิตจะลดลงเหลือประมาณ 63 ชั่วโมง และที่ pH 9 ครึ่งชีวิตจะเหลือเพียง 1.5 ชั่วโมง

   แคปแทน เป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่อ่อนไหวต่อการย่อยสลายด้วยน้ำด่าง น้ำที่มีค่า pH 5 จะคงตัวและจะคงอยู่ในน้ำเป็นเวลา 32 ชั่วโมง เมื่อค่า pH เพิ่มขึ้นเป็น 7 ค่าครึ่งชีวิตจะลดลงเหลือประมาณ 8 ชั่วโมง และที่ pH 8 ค่าครึ่งชีวิตจะเหลือเพียง 10 นาที

    ดังนั้น ในการผสมสารกำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่ความเป็นกรด-ด่างของน้ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ค่า pH 5.5-6.5 หากน้ำมีความเป็นด่างควรปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของน้ำก่อนผสมสารกำจัดศัตรูพืช โดยเติมกรดซิตริก (กรดไฮดร็อกซิลโพรเพน​ ​ไตรคาร์บอกซีลิก;  Hydroxypropane tricarboxylic acid)​, กรดน้ำส้ม (กรดอะซีติก; acetic acid)[3], น้ำส้มสายชู (ผลิตจากกรดน้ำส้ม) หรือกรดมด (กรดฟอร์มิก​; Formic acid /Methanoic acid)​ ซึ่งกรดเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสารบัฟเฟอร์​ pH ของน้ำหรือสารละลาย 

    ทำการทดสอบการปรับค่า​ pH ของน้ำด้วยกรดดังกล่าว "ในน้ำ​ปริมาตร​ 5 ลิตร"​ โดยเติมกรดครั้งละ​ 1 ซีซี​ (ใช้เข็มไซริงค์ดูดยาขนาด​ 5 ซีซี​. หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป)​ จนกว่าน้ำจะเป็นกรดอ่อน​ มีค่า​ pH เท่ากับ​ 6-6.5​ หรือ 5.5-6.5 

   สมมุติ​ว่า​ น้ำจะเป็นกรดอ่อนเมื่อเติม​กรดซิตริก​ 2 ซีซี​ ต่อน้ำ​ 5 ลิตร​ ให้ปรับเป็นอัตราใช้ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ โดยคูณด้วย​ 4 เท่า​ หรือปรับเป็นอัตราใช้ต่อน้ำ​ 200​ ลิตร​ คูณด้วย​ 40​ เท่า​ และถ้าปรับเป็นอัตรา​ใช้ต่อน้ำ​ 1,000​ ลิตร​ คูณด้วย​ 200​ เท่า​ ดังนั้น​ จะต้องใช้กรดซิตริก​ เท่ากับ​ 8, 80 และ​ 400 ซีซี.​ ตามลำดับ

ข้อควรระวัง:

    สารกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่ไม่ควรทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดไม่ว่าในกรณีใด เช่น สารประกอบทองแดง (บอร์โดมิกซ์เจอร์, คอปเปอร์ออกไซด์, คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์, คอปเปอร์ซัลเฟต, คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์, คิวปรัสออกไซด์ ฯลฯ) กำมะถัน (ซัลเฟอร์), ไทแรม, ซิงค์ซัลเฟต, เฟอร์รัสซัลเฟต, อะลูมิเนียมซัลเฟต, ฟอสอิทิล-อะลูมิเนียม, ฟอสไฟต์, กรดฟอสโฟนิก,, ปิโตรเลียมออยล์ เป็นต้น และไม่ควรผสมสารกำจัดศัตรูพืชที่มีฤทธิ์เป็นด่างจัดและกรดจัดร่วมกัน เว้นแต่มีการระบุบนฉลาก

[3]กรดซิตริก (citric acid) เป็นกรดอินทรีย์ (organic acid) ที่เป็นกรดอ่อน (weak acid) และเป็นสารคีเลตคุณภาพดี​ (excellent chelating agent) มีสูตรเคมี C6H8O7 ตามธรรมชาติพบในพืชตระกูลส้ม-มะนาว และผลไม้หลายชนิด และจัดเป็นกรดไตรคาร์บอกซิลิก​ (tricarboxylic​ acid) เนื่องจากมีหมู่คาร์บอกซิล​ 3 โมเลกุล​ (3-COOH) นิยมใช้เป็นสารบัฟเฟอร์สารละลายหรือน้ำ​ (buffer solution) ​กรดไตรคาร์บอกซิลิกมีหลายตัว​ ที่นิยมใช้เป็นสารบัฟเฟอร์น้ำในทางการเกษตร​ คือ​กลุ่มกรดไฮรดร็อกซีโพรเพน​ ไตรคาร์บอกซิลิก​ (Hydroxypropane tricarboxylic acid) เช่น​ กรดซิตริก (citric acid) กรดไอโซซิตริก​ (isocitric acid) และกรดอาการิก​ (agaric acid) และกรดตัวอื่นที่เป็นกรดไตรคาร์บอกซิลิก​ เช่น​ กรดอะโคนิติก​ (aconitic acid)​ กรดโพรเพน ไตรคาร์บอกซิลิก​ (propane tricarboxylic acid) และกรดไตรเมซิก​ (trimesic acid)

ลำดับการผสมสารกำจัดศัตรูพืช (Order of mixing pesticides)

    ข้อควรปฏิบัติขณะผสมสารกำจัดศัตรูพืช

    1. การผสมสารกำจัดศัตรูพืชในแต่ละผลิตภัณฑ์ ควรผสมยาทีละชนิดในถังใบเล็กก่อน แล้วกวนให้ละลายน้ำ ต่อจากนั้นจึงเทยาที่ละลายแล้วลงในถังพ่นยาที่เตรียมน้ำไว้ประมาณ 40-50% ของปริมาณน้ำที่ต้องการพ่น กวนยาซ้ำในถังพ่นอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงเริ่มผสมยาในลำดับถัดไปเช่นเดิม เมื่อผสมยาครบแล้วจึงเติมน้ำให้ครบปริมาณที่ต้องการพ่น

    2. หลังผสมสารกำจัดศัตรูพืชแล้ว ควรพ่นทันที และไม่ควรเก็บยาที่ผสมแล้วไว้ข้ามคืนหรือทิ้งไว้หลายวัน หากมีความจำเป็นต้องตั้งทิ้งไว้ข้ามคืน ก่อนนำมาพ่นควรตรวจสอบการละลายของสารกำจัดศัตรูพืชก่อนและกวนสารอีกครั้ง

    ขั้นตอนและลำดับก่อน-หลัง ในการผสมสารกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน ธาตุอาหารและสารเสริมประสิทธิภาพ ดังนี้ 

ลำดับที่​ 1: กลุ่มสารปรับสภาพน้ำ (buffer solution)

    ควรเลือกใช้น้ำสะอาดไม่มีตะกอนขุ่น หรือตะกอนโคลนแขวนลอยในน้ำ น้ำที่ใช้อาจมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คลอง หนอง บ่อ แม่น้ำ น้ำบาดาลหรือน้ำประปา ทำการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำ (water pH) คุณภาพของน้ำที่ใช้พ่นยาควรมีค่า pH ระหว่าง 5.5-6.5 หากน้ำเป็นด่างให้ปรับค่า​ pH ก่อน

    กรณี​ หากมีการใช้ธาตุรอง-เสริม​ ที่ผลิตภัณฑ์​นั้นมีสารบัฟเฟอร์น้ำผสมด้วย​ ควรผสมเป็นลำดับถัดมาหลังปรับสภาพน้ำ​  หากไม่มีสารบัฟเฟอร์จะถือเป็นกลุ่มสารที่ละลายให้ประจุไอออน​ (ลำดับที่​ 5)​

ลำดับที่​ 2: สารละลายคีเลต (chelating agent)

    สารที่มีคุณสมบัติเป็นคีเลตธรรมชาติ​ ได้แก่​ ผลิตภัณฑ์​สารสกัดจากสาหร่ายทะเล​, กรดอะมิโน​ และน้ำตาลทางด่วน​ (น้ำตาลซูโครส, เด็กซ์โตส​ (กลูโคส)​ และน้ำตาลซอร์บิทอล​ เป็นต้น)​

   *หากไม่มีใช้สารกลุ่มนี้ให้ข้ามไปลำดับถัดไป

ลำดับที่​ 3: สารแขวนลอย​ (suspension)​

    คือ​ผลิตภัณฑ์​ที่ผสมน้ำแล้วได้เป็นสารแขวนลอย​ สารเหล่านี้หากผสมน้ำและตั้งทิ้งไว้นานจะตกตะกอนลงก้นถัง​ ประกอบด้วยสูตรผสมสารกำจัดศัตรูพืช​ 2 ลักษณะ​ คือ​ ของแข็ง และของเหลวเนื้อครีม​ โดยผสมสารตามลำดับดังนี้

   ลำดับที่​ 3.1​: สูตรผสมเนื้อผง​ และเม็ดเกล็ด​ ผลิตภัณฑ์​เหล่านี้​เมื่อผสมน้ำจะเป็นสารแขวนลอยทั้งหมด​ ทั้งสารออกฤทธิ์​และสารไม่ออกฤทธิ์​

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  WT​ (Water Dispersible Tablets) 

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  ​WP​ (Wettable Powders)

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ​  DS (Powder for Dry Seed Treatment) สูตรผสมนี้มีวัตถุประสงค์​ใช้งานในการคลุกเมล็ดพันธุ์​ ทั้งคลุกเมล็ดโดยตรงและผสมน้ำก่อนคลุกเมล็ด​ แต่มีการนำมาประยุกต์ขายเป็นยาพ่นทางใบหรือผสมน้ำทาแผลรากเน่าโคนเน่า​ และทาแผลหลังตัดแต่ง​กิ่ง เช่น ​เมทาแลกซิล​ 35% W/W DS

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  WG​ หรือ​ WDG (Water Dispersible Granules)

   *เรียงลำดับก่อน-หลังของยาในกลุ่มนี้​ โดยไล่จากอัตราใช้ต่ำสุดไปหามาก​ หากไม่มีใช้สูตรผสมใดให้ข้ามไปลำดับถัดไป

   ลำดับที่​ 3.2​: สูตรผสมเนื้อผง​ และเม็ดเกล็ด​ ผลิตภัณฑ์​เหล่านี้​เมื่อผสมน้ำสารออกฤทธิ์​จะเป็นสารละลายเนื้อเดียวกับน้ำ ส่วนสารไม่ออกฤทธิ์จะเป็นสารแขวนลอย

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ​  ST (Water Soluble Tablets) เช่น  ​จิบเบอเรลลิน​ (จิ๊บเม็ด)​ 10% W/W​ ST

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ​  SP​ (Water Soluble Powders) 

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ ​ SG (Water Soluble Granules) 

   *เรียงลำดับก่อน-หลังของยาในกลุ่มนี้​ โดยไล่จากอัตราใช้ต่ำสุดไปหามาก​ หากไม่มีใช้สูตรผสมใดให้ข้ามไปลำดับถัดไป

   ลำดับที่​ 3.3​: สูตรผสมเนื้อครีม​ ผลิตภัณฑ์​เหล่านี้​เมื่อผสมน้ำสารออกฤทธิ์บางส่วน​จะเป็นสารละลายเนื้อดีกับน้ำ บางส่วนเป็นสารแขวนลอย​ ส่วนสารไม่ออกฤทธิ์จะเป็นสารละลาย

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  ​FS (Flowable Concentrates for Seed Treatment) สูตรผสมนี้มีวัตถุประสงค์​ใช้งานในการคลุกเมล็ดพันธุ์​ ทั้งคลุกเมล็ดโดยตรงและผสมน้ำก่อนคลุกเมล็ด​ แต่มีการนำมาประยุกต์ขายเป็นยาพ่นทางใบ​ เช่น​ อิมิดาโคลพริด​ 60% W/V FS

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ​  CS (Capsule Suspension) 

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ​  SC (Suspension Concentrates) 

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  ​ZC (Mixed Formulation of CS and SC) เป็นการผสมของสารกำจัดศัตรูพืช​ระหว่างสูตรผสม CS และ SC

   *เรียงลำดับก่อน-หลังของยาในกลุ่มนี้​ โดยไล่จากอัตราใช้ต่ำสุดไปหามาก​ หากไม่มีใช้สูตรผสมใดให้ข้ามไปลำดับถัดไป

ลำดับที่​ 4: สารละลาย​ (Solution) 

    คือผลิตภัณฑ์​ที่เป็นสารละลาย​ ได้จากการใช้น้ำเป็นตัวทำละลายสารออกฤทธิ์​ความเข้มข้นสูง​ (technical material) เมื่อผสมน้ำ​ได้เป็นสารละลายเนื้อเดียวกับน้ำ​ 

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  SL​ (Soluble Concentrates) 

   *หากไม่มีใช้สูตรผสมนี้ให้ข้ามไปลำดับถัดไป

ลำดับที่​ 5: สารละลายมีประจุ​ขั้วบวก/ขั้วลบ (ionic) 

    ส่วนใหญ่จะหมายถึง ผลิตภัณฑ์​ประเภทปุ๋ยหรือธาตุอาหารพ่นทางใบ​ ปุ๋ยเมื่อผสมน้ำจะแตกตัวให้ประจุไอออนขั้วบวก/ขั้วลบ​ และทำปฏิกิริยา​ได้ง่ายเนื่องจากแตกตัวเป็นธาตุเดียว[4] เช่น​ ซิงค์ไอออน​ (Zn2+)​ แมงกานีส​ไอออน​ (Mn2+)​​ แมกนีเซียม​ไอออน​ (Mg2+)​ แคลเซียม​ไอออน​ (Ca2+) โพแทสเซียม​ไอออน​ (K+)​ หรือเป็นโมเลกุลธาตุขนาดเล็ก​ เช่น​ ไนเตรท​ (NO3-)​ แอมโมเนียม​ (NH4+)​ ฟอสเฟต​ (P2O4-​) ซัลเฟต​ (SO4-​)​ เป็นต้น

[4]แม้สารกำจัดศัตรูพืช​โดยทั่วไป​ เมื่อผสมน้ำและแตกตัวจะแสดงสถานะประจุ​ แต่โมเลกุลสารมีขนาดใหญ่เกิดปฏิกิริยาได้ช้ากว่าปุ๋ย

   ลำดับที่​ 5.1: ธาตุเสริม​ (จุลธาตุ), ธาตุรอง-ธาตุเสริม​ เช่น​ ธาตุรอง-เสริม​ (ชนิดรวม​ 6-8 ธาตุ),​ สังกะสี​ 10%, แมกนีเซียม​ซัลเฟตเฮปตร้าไฮเดรต, แคลเซียม​โบรอน, แคลเซียม​คลอไรด์​ เป็นต้น

   *เรียงลำดับก่อน-หลังของปุ๋ยพ่นทางใบ​ โดยไล่จากอัตราใช้ต่ำสุดไปหามาก​ หากไม่มีใช้ให้ข้ามไปลำดับถัดไป

   ลำดับที่​ 5.2: ธาตุหลัก​ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส​ และโพแทสเซียม​ (N-P-K)​ เช่น​ 15-0-0, 10-0-0, 13-0-46, 0-0-50, 24-9-19, 10-5-20, 15-5-20, 15-5-25, 15-10-30, 13-13-13, 9-19-34, 20-20-20, 0-52-34, 10-52-17 เป็นต้น

   *เรียงลำดับก่อน-หลังของปุ๋ยพ่นทางใบ​ โดยไล่จากอัตราใช้ต่ำสุดไปหามาก​ หากไม่มีใช้ให้ข้ามไปลำดับถัดไป

    กรณี​ มีการผสมแคลเซียม​ไนเตรท​ (15-0-0) แมกนีเซียม​ไนเตรท​ (10-0-0) แมกนีเซียมซัลเฟตเฮ​ป​ตร้าไฮเดรต​ (MgSO4・7H2O) หรือแคลเซียม​คลอไรด์​ (CaCl2)​ รวมกับปุ๋ยฟอสฟอรัสเปอร์เซ็นสูง​ เช่น​ 13-13-13, 16-16-16, 20-20-20, 0-52-34, 9-19-34, 10-52-17 ควรแยกทดสอบอัตราการใช้ที่จะผสมในปริมาตร​น้ำน้อยๆ​ ก่อน​ เช่น​ ผสมในแก้วน้ำหรือเหยือกน้ำ​ โดยลดทอนสัดส่วนผสมตามปริมาตรน้ำ​ เนื่องจากอาจเกิดการตกตะกอน​ หรือตกผลึกของปุ๋ย​ และพืชไม่สามารถใช้ประโยชน์​ได้

    ปุ๋ยธาตุหลัก (N-P-K) และธาตุรอง (Ca, Mg, S) หากผลรวมอัตราผสมปุ๋ยธาตุหลัก-ธาตุรอง​ เท่ากับ​ 175 กรัม หรือ ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรขึ้นไป​ ควรมีการทดสอบ​อัตราผสมรวมกับสารกำจัดศัตรูพืช​และทดสอบพ่นพืชก่อน​ เนื่องจากอาจเกิดความเป็นพิษต่อพืชได้

ลำดับที่​ 6: สารจับใบ​ (adjuvant)

    สารจับใบ​ หมายรวมถึงสารดังต่อไปนี้​ สารจับใบ (stickers) ​สารลดแรงตรึงผิว​ (surfactants) สารเปียกใบ (wetting agents)​ สารแพร่กระจาย (spreaders)​ สารเร่งซึม​/สารแทรกซึม (penetrants)​ สารเสริมประสิทธิภาพ (adjuvants) สารเสริมฤทธิ์ (synergistic effect /activators)​ สารลดความเป็นพิษ​ต่อพืชประธาน​ (safeners) สารลดฟอง​ (antifoam agents)

   *หากไม่มีใช้ให้ข้ามไปลำดับถัดไป

    **หากมีการใช้สารน้ำมัน​ เช่น​ ไวท์ออยล์​ พาราฟินออยล์​ มิเนอรัลออลย์​ หรือปิโตรเลียมออยล์​ ไม่ควรใช้สารจับใบ

ลำดับที่​ 7: สารละลายน้ำมัน​ (emulsifiers) 

    คือผลิตภัณฑ์​ที่มีตัวทำละลายเป็นสารอินทรีย์ (น้ำมัน)​ เช่น​ น้ำมันสกัดจากพืช​ (vegetable oil derived esters น้ำมันละหุ่ง น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่ว ฯ) ประเภทอะลิฟาติกไฮโดรคาร์บอน (พาราฟินออยล์ ปิโตรเลียมอีเทอร์) ประเภทอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (เบนซีน โทลูอีน ไซลีน อีทิลเบนซีน คูมิน สไตรีน) เป็นต้น ผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ เมื่อผสมน้ำจะได้เป็นสารละลายในน้ำมัน (emulsifiers) แบ่งออกเป็น 2 สูตรผสม คือ สูตรผสมสารละลายในน้ำมันเจือจาง และสูตรผสมสารละลายในน้ำมันเข็มข้น โดยเรียงลำดับการผสมดังนี้

    ลำดับที่ 7.1: สูตรผสมสารละลายในน้ำมันเจือจาง มีสารออกฤทธิ์บางส่วนเป็นสารแขวนลอย หรือเสริมสารปรุ่งแต่งเพื่อลดความเป็นพิษโดยใช้น้ำ

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  ZW (Mixed Formulation of CS and EW)  เป็นการผสมของสารกำจัดศัตรูพืช​ระหว่างสูตรผสม CS และ EW

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  ZE (Mixed Formulation of CS and SE)  เป็นการผสมของสารกำจัดศัตรูพืช​ระหว่างสูตรผสม CS และ SE

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  OD (Oil-based Suspension Concentrates)

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  SE (Aqueous Suspo-emulsion)

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  EW (Emulsion, Oil in Water)

   *เรียงลำดับก่อน-หลังของ​ โดยไล่จากอัตราใช้ต่ำสุดไปหามาก​ หากไม่มีใช้สูตรผสมใดให้ข้ามไปลำดับถัดไป

   ลำดับที่ 7.2: สูตรผสมสารละลายในน้ำมันเข้มข้น

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  ME (Micro-emulsion)

    ตัวย่อภาษา​อังกฤษ  EC (Emulsion Concentrates)

   *เรียงลำดับก่อน-หลังของ​ โดยไล่จากอัตราใช้ต่ำสุดไปหามาก​ หากไม่มีใช้สูตรผสมใดให้ข้ามไปลำดับถัดไป

ลำดับที่​ 8: น้ำมัน (Oils)

    คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนสารจับใบ โดยมีคุณสมบัติลดแรงตรึงผิวในลักษณะเคลือบใบและส่วนต่างๆ ของพืช เนื่องจากมีโครงสร้างโมเลกุลเคมีเป็นประเภทไขมันเช่นเดียวกับไขเคลือบผิวใบพืช เช่น ไวท์ออยล์ พาราฟินออยล์ vegetable oil derived esters และปิโตรเลียมออยล์ สารในกลุ่มนี้ผสมเป็นลำดับสุดท้ายเสมอ

ภาพรวมลำดับการผสมสารกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน และอาหารเสริม

ผังตารางการผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิด

    รายละเอียดเพิ่มเติมตามหมายเลขที่กำกับบนผังผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

    1. อามีทราซ ผสมกับ มาเนบ, ซีเนบ และแมนโคเซบ ได้ แต่ผสมกับ ไทแรม ไม่ได้

    2. คาร์บาริล ผสมกับ ไดเมโทเอต อาจเป็นพิษต่อถั่วเหลือง และมะเขือเทศได้, คาร์บาริล ผสมกับ ไดเมโทเอต หรือ มาลาไทออน อาจเป็นพิษต่อฝ้าย

    3. คาร์บาริล ผสมกับ ปิโตรเลียม ออยล์ อาจเป็นพิษต่อแอปเปิ้ล

    4. คาร์บาริล ผสมกับ แคปทาฟอล ทำให้ผลอ่อนมะเขือเทศเป็นจุดในช่วงฤดูร้อนหรือในช่วงมะเขือเทศขาดน้ำ

    5. หลังพ่น กำมะถัน (ซัลเฟอร์ ผง) 2 สัปดาห์ จึงพ่น ไดโคฟอล ได้

    6. ไดโคฟอล ผสม แคปแทน (ผง) ได้

    7. อย่าผสม ไดเมโทเอต กับ ปิโตรเลียมออยล์ พ่นไม้ประดับ

    8. มาลาไทออน ผสมกับ แคปแทน ในรูปผงเท่านั้น

    9. หากผสม มาลาไทออน กับ ไอโพรไดโอน ควรใช้เครื่องพ่นที่มีระบบกวนในถัง และรีบพ่นทันที

    10. อย่าผสม เบโนมิล กับ แคปแทน พ่นส้ม

    11.​ เบโนมิล ผสมกับ มาเนบ และแมนโคเซบ ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องผสม ไทแรม

    12. ผสมสารจับใบตามอัตราที่ระบุบนฉลาก

    13. ไทโอดิคาร์บ ผสมกับ คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ ได้ แต่ต้องใช้ภายใน 6 ชั่วโมง

    14.​ เฟนิโทรไทออน ผสม บอร์โดมิกซ์เจอร์ ได้ แต่ต้องรีบใช้ทันที

    15.​ อย่าผสม ไอโพรไดโอน (สูตรน้ำ) กับ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ พ่นมันฝรั่ง

    16. อย่าผสมสารที่มีส่วนประกอบของทองแดง หรือคอปเปอร์ชนิดต่างๆ กับ ไทแรม

    17. ฮอร์โมนพืช ที่เป็นสารประกอบ แนฟทาลีน อะซิติก, แนฟทาลีน อะซิทามีน และ ฟีน็อกซี ส่วนใหญ่ เช่น NAA สามารถผสมกับสารกำจัดแมลงและสารป้องกันกำจัดโรคพืชได้ ยกเว้นสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างจัด หากจำเป็นต้องพ่น ควรพ่นฮอรโมนเหล่านี้แยก หรือใช้ตามคำแนะนำของผู้ผลิต

    18. สารปฏิชีวนะ (สเตรปโตมัยซิน, แอกริ-สเตรป, แอกริมัยซิน) พ่นเดียวๆ มีประสิทธิภาพดีที่สุด แต่สามารถผสมกับ ไดเมโทเอต, แคปแทน และกำมะถัน (ซัลเฟอร์ ผง) ได้ แต่ห้ามผสมกับ บอร์โดมิกเจอร์ หรือสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง

    19. ไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus) ผสมกับสารกำจัดแมลงได้ทุกชนิด

    20. เชื้อแบคทีเรีย บีที (Bacillus thuringiensis) โดยส่วนใหญ่ผสมกับสารกำจัดแมลงและสารป้องกันกำจัดโรคพืชได้ และเมื่อผสมแล้วควรพ่นทันที แต่ห้ามผสมกับสารเหล่านี้ คือ อามีทราซ, อะซินฟอสเมทิล, แคปทาฟอล, ไดเมโทเอต, ไดโนแคป, ไอโซโปรคาร์บ, เฟนโทเอต, โฟซาโลน และบอร์โดมิกซ์เจอร์

    21. สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชข้างบนนี้ เป็นชื่อสามัญทั้งหมด

    22. ผังข้างบนนี้ไม่ใช่เป็นการแนะนำให้ใช้ แต่เป็นเอกสารที่รวบรวมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ การผสมสารบางอย่างอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์และพืชได้

    ข้อควรระวัง

    1. การผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชต่างๆ อาจแตกต่างจากผังผสมนี้ เนื่องจากสูตรผสมของสารเหล่านั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต

    2. อย่าผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในน้ำที่มีสภาพเป็นด่างจัด หรือสารอื่นๆ รวมถึงปุ๋ยที่เมื่อผสมน้ำแล้วมีสภาพเป็นด่าง

ข้อควรปฏิบัติในการพ่นสารกำจัดศัตรูพืช

    1. อ่านฉลากกำกับโดยตลอดให้เข้าใจก่อนใช้ และต้องปฏิบัติตามคำเตือนและข้อระวังโดยเคร่งครัด

    2. การผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อย่าใช้มือผสมให้ใช้ไม้กวนหรือคลุกยาให้เข้ากัน

    3. ถ้าหัวฉีดอุดตันอย่าใช้ปากเป่าหรือดูด ให้ใช้ลวดเล็กๆ เขี่ยสิ่งอุดตันออกหรือเปลี่ยนหัวฉีดใหม่

    4. ก่อนฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชควรแต่งตัวให้มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกละอองยา

    5. ขณะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ควรอยู่เหนือลม และหยุดฉีดเมื่อลมแรง

    6. อย่าสูบบุหรี่หรือรับประทานอาหาร ขณะใช้วัตถุมีพิษ

    7. อย่าล้างภาชนะบรรจุหรืออุปกรณ์เครื่องพ่น ลงไปทางน้ำ เช่น บ่อ คลอง ฯลฯ

    8. เมื่อเสร็จสิ้นการพ่นสารกำจัดศัตรูแล้ว ให้ถอดเสื้อผ้าที่ใส่ออกซักและอาบน้ำให้สะอาด

    9. หยุดฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูตามกำหนดก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ตามที่ระบุในฉลาก

    10. ถ้ารู้สึกไม่สบาย ให้หยุดฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชทันทีและรีบไปพบแพทย์ พร้อมภาชนะบรรจุและฉลาก

    11. เก็บสารกำจัดศัตรูพืชไว้ในภาชนะเดิมเท่านั้น อย่าถ่ายภาชนะโดยเด็ดขาด

    12. เก็บสารกำจัดศัตรูพืชไว้ในที่ปลอดภัย ห่างจากเด็ก สัตว์เลี้ยง อาหารและเปลวไฟ

    13. ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืชเมื่อใช้หมดแล้ว ให้ทำลายและฝังดินเสีย

แหล่งสืบค้น:

    มยุรี ชวนกำเนิดการ.2554.อินทรียสังเคราะห์ Organic synthesis.พิมพ์ครั้งที่ 1 (ฉบับปรับปรุงใหม่).ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.284 หน้า.

    พิทยา สีสด และคณะ.2562.เคมีในชีวิตประจำวัน Chemistry in everyday life CMS 1004.พิมพ์ครั้งที่ 5.ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.420 หน้า.

    สมพงศ์ จันทร์โพธิ์ศรี.2566.เคมีอินทรีย์ เล่ม 1.กรุงเทพฯ : คิว-เอ็ด พับลิชชิ่ง.472 หน้า.

    สุเทพ สหายา.2561.รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง และไรศัตรูพืช.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ.108 หน้า.

    อรพรรณ วิเศษสังข์ และจุมพล สาระนาค.2558.โรคพืชผักและการป้องกันกำจัด.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : บริษัทสยามคัลเลอร์พริน จำกัด.164 หน้า.

    คู่มือผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร.2566.พิมพ์ครั้งที่ 1.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.183 หน้า.

    เอกสารวิชาการ.2564.การใช้สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชเพื่อแก้ไขปัญหาความต้านทานศัตรูพืช.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.146 หน้า.

    Annemiek Schilder[1].Effect of water pH on the stability of pesticides.Michigan State University Extension, Department of Plant Pathology - March 18, 2008.สืบค้นเมื่อ มี.ค.2566.

    https://www.canr.msu.edu/news/effect_of_water_ph_on_the_stability_of_pesticides

    Frederick M. Fishel and J. A. Ferrell[2].Water pH and the effectiveness of pesticides.Publication #PI-156, Release Date: October 2, 2019, Reviewed At: October 25, 2022.สืบค้นเมื่อ มี.ค.2566.

    https://edis.ifas.ufl.edu/publication/PI193


[1]Dr. Schilder's work is funded in part by MSU's AgBioResearch. This article was published by Michigan State University Extension. 

[2]Frederick M. Fishel, professor, Agronomy Department, and director, Pesticide Information Office; and J. A. Ferrell, assistant professor, Department of Agronomy; UF/IFAS Extension, Gainesville, FL 32611.

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: