Logo

โรคราแป้งในมะม่วง (Powdery mildew disease of mango)

Thirasak Chuchoet • June 5, 2024
โรคราแป้งในมะม่วง (Powdery mildew disease of mango)

โรคราแป้งในมะม่วง (Powdery mildew disease of mango)
    สาเหตุ: เชื้อรา ซูโดอิเดียม แอนาคาร์ไดอิ (
Pseudoidium anacardii Braun and Cook (2012) หรือPs. mangiferae)

               เดิมชื่อ ออยเดียม แมงจิเฟออี้ (Oidium mangiferae Berthet)

    Family: Erysiphaceae

    Genus: Erysiphe

    Subgenus: Pseudoidium (เดิม Oidium)

ความสำคัญ

    เชื้อราก่อโรคราแป้ง (Powdery mildew disease) เป็นโรคพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง มีพืชอาศัยกว้างหลายประเภท ทั้งธัญพืช พืชไร่ ไม้พุ่ม ผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ และวัชพืชดำรงชีวิตเป็นแบบปรสิตถาวร (obligate parasite) ลักษณะอาการของโรคที่ปรากฏจะคล้ายกันในทุกพืช การเข้าทำลายจะพบเป็นกลุ่มผงแผ่กว้างกระจายเป็นปื้นหรือคราบผงค่อนข้างกลม มีสีขาวถึงสีขาวอมเทา พบได้เกือบทุกส่วนของพืช เช่น ยอดอ่อน ใบ ก้านช่อดอก ดอก ผล สำหรับใบพืชสามารถพบการเจริญของเชื้อราได้ทั้งบริเวณผิวด้านบนของใบ (epiphyllous) และบริเวณด้านใต้ใบพืช (hypophyllous) 

    เชื้อราแป้งในจีนัสย่อยซูโดอิเดียม (subgenus: Pseudoidium) จัดเป็นเชื้อราที่มีเส้นใยแบบเส้นใยปรสิตภายนอก (ectophytic mycelium)[1] คือเชื้อรามีเส้นใย (mycelium) เจริญอยู่ภายนอกพืชแล้วสร้างเส้นใยที่ทำหน้าที่เฉพาะ (specialized hyphae) ในการดูดซับสารอาหารจากพืช ที่เรียกว่า haustoria แทงเข้าสู่ชั้นใต้ไขเคลือบผิวใบพืชและดูดซับสารอาหารอยู่ภายในชั้นอีพิเดอมิสเซลล์ (epidermal cell) เส้นใยไม่เจริญเข้าสู่เนื้อเยื่อภายใน จึงมักพบกลุ่มผงสีขาวหรือคราบคล้ายแป้งของราแป้งเจริญอยู่ใบผิวด้านบนของใบ (epiphyllous)

    ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเชื้อราแป้งสามารถสร้างสปอร์ใหม่ขึ้นภายใน 4 วัน หลังจากที่เชื้อสัมผัสพืช สปอร์จะถูกชูขึ้นไปในอากาศและแพร่กระจายต่อไป

    เชื้อราแป้งจีนัสย่อยซูโดอิเดียม เป็นสาเหตุก่อโรคพืชที่สำคัญในหลายพืช เช่น ทุเรียน มะม่วง เงาะ องุ่น ยางพารา สตรอเบอรี่ มะขาม กุหลาบ ทานตะวัน มะเขือ ตำลึง น้ำนมราชสีห์ หญ้าละออง แค เป็นต้น แม้เชื้อราแป้งจะก่อโรคในพืชหลายชนิด แต่เชื้อราแป้งที่ก่อโรคนั้นจะเป็นคนละสปีชีส์กัน (species)​ ซึ่งแต่ละสปีชีส์จะมีความจำเพาะต่อพืชอาศัย

[1]ราแป้งที่เจริญอยู่บริเวณด้านใต้ใบพืช (hypophyllous) ได้แก่ genus Ovulariopsis, Oidiopsis และ Streptopodium มีเส้นใยที่ทำหน้าที่ดูดซับสารอาหารจากพืชแบบเส้นใยปรสิตภายใน (endophytic mycelium) จะสร้างเส้นใย haustorium เจริญผ่านเข้าไปดูดซับสารอาหารภายในเนื้อเยื่อพืชผ่านทางปากใบ (stomata) แต่ไม่แทงเข้าไปในชั้นอีพิเดอมิสเซลล์

ภาพที่ 1: โรคราแป้งที่เกิดขึ้นกับวัชพืชที่อยู่ข้างแปลงหรือภายในแปลง

ลักษณะอาการ

    ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในมะม่วงที่ปลูกบนพื้นที่สูงบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าพื้นที่อื่น โรคราแป้งสามารถเข้าทำลายได้ทั้งที่ใบ ดอก ช่อดอก และผลอ่อน

ใบและยอดอ่อน

    อาการเริ่มต้นมักพบที่ใบแก่มากกว่าในใบเพสลาดและใบอ่อน​ โดยจะมีอาการใบเป็นจุดปื้นเหลืองค่อนข้างใหญ่บริเวณหน้าใบ และพบคราบผงสีขาวผงสีเทาอ่อนที่ใต้ใบตรงกับจุดปื้นเหลืองนั้น​ สำหรับใบอ่อนและยอดอ่อนจะพบอาการใบปื้นคล้ำ​ มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลอมแดง​คล้ายจุดใบไหม้​ บางครั้งในระยะแรกอาจมีสีชมพู​คล้ำ​

    หากอาการของโรครุนแรงจะทำให้ใบบิดเบี้ยว​ ม้วนงอ​และใบหลุดร่วงก่อนกำหนด​ ในใบอ่อนใบจะบิดโค้ง​ ยอดเป็นพุ่มแจ้​  ในช่วงอุณหภูมิ​สูง​ อากาศร้อนจัด​ ประกอบกับมะม่วงขาดน้ำอาจทำให้ใบอ่อนเกิดอาการใบไหม้แทรกซ้อนและใบร่วงหล่น​ได้ง่าย

ตาใบ-ตาดอก

    ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรงมาก่อน​ อาจมีการสะสมของเชื้อรา​ โดยเชื้อราแป้งจะพักตัวตามตาใบหรือปลายยอดบริเวณที่จะเกิดตาดอกมะม่วง เมื่อมีการแทงยอดอ่อน-ใบอ่อน หรือแทงช่อดอก เชื้อราจะสร้างสปอร์เข้าสู่ใบหรือช่อดอกได้อย่างรวดเร็ว​ และทำให้ตาใบ-ตาดอกฟ่อ มักพบในช่วงอากาศเย็น​ ความชื้นสัมพัทธ์​ในอากาศ​ 60-90% และการถ่ายเทอากาศ​ไม่ดี​ หรือทรงพุ่มแน่นทึบ

ภาพที่ 2: โรคราแป้งในใบอ่อน-ใบเพสลาดของมะม่วง, มีอาการใบปื้นเป็นวงขนาดใหญ่สีชมพูอ่อน และมีแต้มจุดสีขาวที่เกิดจากแมลงบั่วปมโอกินาว่า

ภาพที่ 3: โรคราแป้งในใบอ่อน-ใบเพสลาดของมะม่วง, ระยะพบคราบผงแป้งของเชื้อราแป้ง และแผลจุดสีดำล้อมด้วยขอบสีเหลือง ที่เกิดจากแมลงบั่วปมโอกินาว่า

ภาพที่ 4: โรคราแป้งในใบอ่อน-ใบเพสลาดของมะม่วง, คราบผงแป้งด้านใต้ใบและเส้นใบไหม้เปลี่ยนเป็นสีดำ

ช่อดอก

    การเข้าทำลายช่อดอกพบได้ทุกพื้นที่ของประเทศ​ โดยเฉพาะ​พื้นที่ที่มีการแทงช่อดอกมะม่วงช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม​ ส่วนช่วงเดือนกุมภาพันธ์​-เมษายน​ สามารถพบการเข้าทำลายของโรคได้เช่นกัน​ ช่อดอกมะม่วงจะมีความเสี่ยงเกิดโรคราแป้งมากกว่าส่วนอื่นของต้น​ และทำให้ดอกฟ่อ​ ผสมเกสรไม่สมบูรณ์​ ดอกหลุดร่วงหรือผลอ่อนหลุดร่วงเกิดความเสียหายมากถึง​ 90%

    อาการที่เกิดกับช่อดอกในระยะเริ่มแรกจะปรากฏจุดเล็กๆ สีขาว หรือสีขาวอมเทา จากนั้นจึงพบลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งปกคลุมตามก้านชูดอก ก้านช่อดอกย่อย และดอก​ ช่อดอกจะแห้งกร้าน ก้านช่อดอกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล​อ่อน ทำให้ดอกร่วง ช่อดอกแห้งเหี่ยว​ และไม่ติดผล​ ช่อดอกที่อยู่บริเวณตอนล่างหรือกลางลำต้น หรือช่อดอกที่อยู่ในเรือนพุ่มจะเกิดโรคได้ง่าย

    ปัจจุบัน​มักพบว่ามีเชื้อราก่อโรคชนิดอื่นเข้าทำลายแทรกซ้อน​ร่วมด้วย​ ทำให้เกิดอาการช่อดอกแห้งกร้าน ดอกร่วงอย่างรวดเร็ว ก้านช่อดอกและก้านช่อดอกย่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ช่อดอกแห้งตาย ลักษณะเช่นนี้มักเรียกกันว่า  "โรคช่อดอกดำมะม่วง" เชื้อราสำคัญที่เข้าแทรกซ้อน​ เช่นเชื้อราคอลเล็คโตทริคั่ม​ (โรคแอนแทรคโนส;  Colletotrichum​ sp.) เชื้อราฟิวซาเรียม (โรคช่อดอกพุ่มแจ้หรือช่อดอกไม้กวาด; Fusariumspp.) เชื้อราอัลเทอนาเรีย (Alternaria sp.) เชื้อราเคอวูลาเรีย (Curvularia sp.) เชื้อราคลาโดสปอเรียม (Cladosporium sp.) เชื้อราจีโอทริคั่ม (Geotrichum sp.) เชื้อราไนโกรสปอร่า (Nigrospora sp.) หรือเชื้อราแพสตาโลทิออพซีส (Pestalotiopsis sp.)

    นอกจากนี้​ ในระยะช่วงดอกมะม่วงกำลังตั้งช่อเป็นฉัตร​หรือระยะดอกก้างปลา​ มักจะเริ่มพบการระบาดของเพลี้ยไฟทำให้เกิดอาการช่อแห้งไหม้​ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดโรคราแป้งและโรคช่อ​ดอกดำรุนแรง​ จนบางครั้งแยกสาเหตุการเกิดโรคได้ยาก

ภาพที่ 5: ลักษณะผงสีขาวคล้ายแป้ง ที่เกิดจากโรคราแป้งบนช่อดอกมะม่วง

ภาพที่ 6: โรคราแป้งที่ปรากฏบนช่อดอกมะม่วง, ช่อดอกแห้งเหี่ยว ดอกฝ่อและไม่ติดผลอ่อน

ภาพที่ 7: โรคราแป้งที่ปรากฏบนช่อดอกมะม่วง, ช่อดอกแห้งเหี่ยว ดอกฝ่อและไม่ติดผลอ่อน

ผลอ่อน

    สำหรับช่อดอกที่สามารถติดผลได้​ เชื่อราจะเข้าสู่ผลอ่อน ทำให้ผลอ่อนชะงักการเจริญ​ และเปลี่ยนเป็นสีคล้ำมีคราบผงคล้ายแป้งสีขาวปกคลุม ส่วนผลที่โตแล้วหรือเข้าระยะไคล​ เชื้อราที่เข้าสู่ผลระยะนี้จะทำให้ผิวแห้งตกกระ

ภาพที่ 8: โรคราแป้งที่ปรากฏบนช่อดอกมะม่วง, หากมีการติดผลเชื้อราจะเข้าสู่ผลและขั้วผล ทำให้ผลชะงักการพัฒนา

ภาพที่ 9: โรคราแป้งที่ปรากฏบนช่อดอกมะม่วง, หากมีการติดผลเชื้อราจะเข้าสู่ผลและขั้วผล ทำให้ผลชะงักการพัฒนา

การแพร่ระบาด

    โรคราแป้งในมะม่วงพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่จะพบการแพร่ระบาดและสร้างสปอร์สืบพันธุ์มากในพื้นที่สภาพอากาศแห้งและเย็น​ โดยสปอร์สืบพันธุ์จะแพร่กระจายไปกับกระแสลม​ ซึ่งมักตรงกับช่วงระยะการแทงช่อดอกของมะม่วง (เดือน​ ธ.ค. - ก.พ.)​ จึงเป็นโรคพืชที่มีความสำคัญมากในระยะมะม่วงแทงช่อดอกและติดผลอ่อน​ สปอร์ของเชื้อราแพร่กระจายไปกับลมได้ดีในช่วงกลางวัน​ เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์​ต่ำ​ เนื่องจากเชื้อราแป้งจะแพร่กระจายได้ดีในช่วงอากาศแห้งซึ่งต่างจากเชื้อราชนิดอื่นที่ชอบความชื้น​ การแพร่ระบาดของเชื้อราแป้งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงอุณหภูมิ​ระหว่าง​ 10-35 องศาเซลเซียส​ ความชื้นสัมพัทธ์​ 60-90% แต่แพร่กระจายและสร้างสปอร์สืบพันธุ์​ได้ดีในช่วงอุณหภูมิ​ 20-25 ​องศาเซลเซียส​ ​และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ​ 60-70%

    เชื้อราแป้งสามารถอาศัยและพักตัวอยู่ได้นานข้ามปี​ ในพืชที่อื่นที่อยู่ข้างสวนมะม่วง​หรือในวัชพืช​ เมื่อสภาพอากาศเหมาะสมจึงแพร่สปอร์ไปในอากาศ

การป้องกันและกำจัด

   การป้องกัน:ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคตั้งแต่ระยะแทงช่อดอก​ (ระยะเดือยไก่)​ ถึงระยะก่อนดอกบาน โดยพ่นทุกๆ 10-14 วัน​ หรือหากพบโรคราแป้งที่ช่อดอกมะม่วง​ และ/หรือโรคช่อดอกดำ​ ควรพ่นสารป้องกันกำจัด​โรค​พืช​ทุก​ 7​ วัน​ ​ต่อเนื่อง​อย่างน้อย​ 3​ ครั้ง

   สารป้องกันกำจัดโรคราแป้งที่แนะนำ​ ประกอบด้วย

   1. สารป้องกันกำจัด​โรค​พืช​ กลุ่ม​ 11+3 เช่น​ อะซอก​ซี่สโตรบิน​ 20%+ไดฟิโนโคนาโซล​ 12.5% SC (ชื่อการค้า​ ​เช่น​  ทวินโป ราซัส หรือสโตรดี้)​ ป้องกันใช้อัตรา​ 10 ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ เมื่อพบโรคใช้อัตรา​ 15​-20 ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ หรือ ไพราโคลสโตรบิน​ 13.3%+อีพอกซีโคนาโซล​ 5% SE​ ป้องกันใช้อัตรา​ 20​ ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ เมื่อพบโรคใช้อัตรา​ 25-30​ ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​

   2. สารป้องกันกำจัด​โรค​พืช​ กลุ่ม​ 11​ เช่น​ อะซอกซี่สโตรบิน​ 25% (ชื่อการค้า​ ​เช่น ​ แบคซีน ไซซอกซี่​ และการัน)​ หรือ​ ไพราโคลสโตรบิน​ 25% (ชื่อการค้า​ ​เช่น  แพ็คสโตรบิน ไซสโตรบิน และแอ็กไลน์​) ​ป้องกันใช้อัตรา​ 10 ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ หรือเมื่อพบโรคใช้อัตรา​ 15-20 ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​

   3. สารป้องกันกำจัด​โรค​พืช​ กลุ่ม​ 3 เช่น​ เฮกซะโคนาโซล​ 5% SC (ชื่อการค้า​ ​เช่น  ​วิวสต็อป เฮกไซด์​ หรือแอ็กวิล)​ ป้องกันใช้อัตรา​ 30-40​ ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ หรือเมื่อพบโรคใช้​ ไมโคลบิวทานิล​ 24% EC ​(แนะนำ)​ อัตรา​ 25-30 ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ 

    เลือกใช้สารตัวใดตัวหนึ่งตามด้านบน​ผสมร่วมกับสารป้องกันกำจัด​โรค​พืชที่มีหนทางเข้าสู่พืชเป็นยาสัมผัส​ สำหรับระยะช่อดอกมะม่วง​แนะนำ​กลุ่ม​ M03​ คือ​ โพรพิเนบ​ 70% WP​ (ชื่อการค้า​ ​เช่น ​ พีโคล70 ไซทราโคล70​ หรือเดซี่)​ ป้องกันหรือพบการระบาดของโรค​ ใช้อัตรา​ 30-50 กรัม​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ หรือทดแทนด้วย​ แมนโคเซบ​ 80% WP​ (ชื่อการค้า​ ​เช่น  ​พีเทน80 โคแนน​ หรือ​มาเฟอร์)​ ป้องกันหรือพบการระบาดของโรค​ ใช้อัตรา​ 30-50 กรัม​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ หรือกลุ่ม​ M05​ คือ​ คลอโรทาโลนิล​ 50% SC ป้องกันหรือพบการระบาดของโรค​ ใช้อัตรา​ 30-50 ซีซี.​ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร

ข้อแนะนำเพิ่มเติม:

    โดยหลักการป้องกันหรือชะลอการ​ดื้อยาของโรค​-แมลงและวัชพืช​ คือการสลับกลุ่มยาตามกลไกการ​ออกฤทธิ์​ ณ​ ตำแหน่งเป้าหมายการออก​ฤทธิ์​หรือจุดจับของยาในระดับโมเลกุลของศัตรูพืช​ เพื่อให้จุดจับออกฤทธิ์​ ณ​ ตำแหน่งเป้าหมายไม่ซ้ำตำแหน่งเดิม​

    สำหรับกรณีสารป้องกันกำจัดโรคพืชมีข้อดีเหนือกว่าสารกำจัดแมลงและสารกำจัดวัชพืชประการหนึ่ง​  คือมียาที่ออกฤทธิ์​หลายกลไกหรือหลายตำแหน่งในยา​ 1 ตัว​ ได้แก่  ยากลุ่ม​ M​01 ถึง​ M12 เช่น ​ แมนโคเซบ​  โพรพิเนบ​ ​ คลอโรทาโลนิล​

    อาจารย์อรพรรณ​ วิเศษสังข์​ (จำปีที่อบรมไม่ได้)​ กล่าวในการอบรมโรคพืชช่วงหนึ่ง  "มีงานวิจัยของประเทศสรุปว่า​ การพ่นสารป้องกัน​กำจัด​โรค​พืช​ที่มีคุณสมบัติ​เข้าสู่พืชแบบดูดซึม​ (systemic, translaminar และ​ stoma action) เช่น​ ยากลุ่ม​ 11, 3, 1, 4, 27 ร่วมกับสารป้องกัน​กำจัด​โรค​พืช​ที่มีคุณสมบัติ​เข้าสู่พืชแบบสัมผัส​ (contact action) เช่น​ ยากลุ่ม​ M​ แล้วสลับด้วยสารป้องกัน​กำจัด​โรค​พืช​ที่มีคุณสมบัติ​เข้าสู่พืชแบบสัมผัส​ จะช่วยชะลอความต้านทาน​ของโรคพืช​ (ดื้อยา)​ ลงได้​"

ดังนั้น​ การป้องกันโรคพืชระยะมะม่วงแทงช่อดอก​ ถึงระยะก่อนดอกบาน​ และหลังดอกบาน​ ถึง​ ระยะผลอ่อน ​(ผู้เขียน)​ แนะนำโปรแกรมพ่น​สารป้องกันกำจัดโรคพืช​ ดังนี้

ระยะเริ่มแทงช่อดอก​ (เดื่อยไก่):​ พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิด  "ยาดูดซึม + ยาสัมผัส"

    ได้แก่​ โพรคลอราช​ 45% EC​ (กลุ่ม​ 3, ชื่อการค้า​ ​เช่น  ​โบแอ็ก ไซราซ และออนเนอร์)​ อัตรา​ 15-20​ ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ หรือ​ โพรคลอราซ​ 25%+คาร์เบนดาซิม​ 25% WP​ (กลุ่ม​ 3+1, ชื่อการค้า​ ​เช่น​  คลอราส์​)​ อัตรา​ 30-40​ กรัม ​ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ ผสมร่วมกับโพรพิเนบ​ 70% (กลุ่ม​ M03)​ อัตรา​ 30-40​ กรัม​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร​ พ่น​ 1-2 ครั้ง​ ทุกๆ​ 9-10 วัน​

พ่นสลับยาด้วย​: สารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิด  "ยาสัมผัส"

    ได้แก่ ยากลุ่ม​ M03​ ได้แก่ โพรพิเนบ 70% WP​ หรือแมนโคเซบ 80% WP อัตรา​ 30-40​ กรัม​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร หรือกลุ่ม​ M05​ ได้แก่ คลอโรทาโลนิล 50% SC หรือ 50% WP อัตรา​ 30-40​ ซีซี. หรือกรัม​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร พ่น​ 1 ครั้ง

พ่นสลับยาด้วย​: พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิด  "ยาดูดซึม + ยาสัมผัส"

    ได้แก่ อะซอก​ซี่สโตรบิน​ 20%+ไดฟิโนโคนาโซล​ 12.5% SC (กลุ่ม​ 11+3)​ อัตรา​ 10-15 ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร ผสมร่วมกับโพรพิเนบ​ 70% (กลุ่ม​ M03)​ พ่น​ 1-2 ครั้ง​ (เว้นระยะดอกบาน) โดยพ่นทุกๆ​ 7-10​ วัน​

พ่นสลับยาด้วย: สารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิด  "ยาสัมผัส"

    ได้แก่ ยากลุ่ม​ M03​ ได้แก่ โพรพิเนบ 70% WP​ หรือแมนโคเซบ 80% WP อัตรา​ 30-40​ กรัม​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร หรือกลุ่ม​ M05​ ได้แก่ คลอโรทาโลนิล 50% SC หรือ 50% WP อัตรา​ 30-40​ ซีซี. หรือกรัม​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร พ่น​ 1 ครั้ง

หลังติดผลอ่อน​: พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิด  "ยาดูดซึม + ยาสัมผัส"

    ได้แก่​ เฮกซะโคนาโซล​ 5% SC (กลุ่ม​ 3)​ อัตรา​ 30​ ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ หรือ​ อะซอก​ซี่สโตรบิน​ 20%+ไดฟิโนโคนาโซล​ 12.5% SC (กลุ่ม​ 11+3)​ อัตรา​ 10 ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร ผสมร่วมกับโพรพิเนบ​ 70% (กลุ่ม​ M03)​ พ่น​ 2 ครั้ง​ โดยพ่นทุกๆ​ 7-10​ วัน​

เมื่อผลเข้าไคล​ (หลังดอกบาน​ 25-30​ วัน)​: พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิด  "ยาดูดซึม + ยาสัมผัส"

    ก่อนห่อผลพ่นด้วย​ โพรคลอราช​ 45% EC​ (กลุ่ม​ 3, ชื่อการค้า​ ​เช่น  ​โบแอ็ก)​ อัตรา​ 15-20​ ซีซี.ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ หรือ​ โพรคลอราซ​ 25%+คาร์เบนดาซิม​ 25% WP​ (กลุ่ม​ 3+1, ชื่อการค้า​ ​เช่น​ คลอราส์​)​ อัตรา​ 30-40​ กรัม​ ต่อน้ำ​ 20 ลิตร​ ผสมร่วมกับโพรพิเนบ​ 70% (กลุ่ม​ M03)​ อัตรา​ 30-40​ กรัม​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร​

หมายเหตุ: 

*1 โพรคลอราซ​ ไดฟิโนโคลนาโซล​ อะซอกซี่สโตรบิน​ และไพราโคลสโตรบิน​ ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสและโรคช่อดอกดำของมะม่วงได้​ โดยเฉพาะ​โพรคลอราซ

*2 โพรคลอราซ​ มีข้อห้ามใช้ในมะม่วงพันธุ์​โบราณบางสายพันธุ์​ เช่น​ มันขุนศรี (บางขุนศรี), ทวายเดือนเก้า (มันเดือนเก้า), หนังกลางวัน, ลิ้นงูเห่า, แก้วลืมรัง, ยายกล่ำ เป็นต้น เพราะอาจเกิดอาการดอกไหม้​ ใบไหม้​ และผลไหม้ได้

*3 ไม่แนะนำพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเหล่านี้ ในระยะมีดอก ​ถึง ผลเข้าไคลของมะม่วง​ ได้แก่​ ไตรฟลอกซี่สโตรบิน 25%+ทีบูโคนาโซล​ 50% WG, ทีบูโคนาโซล​ 25%, 43% และ​ 45%, ไดฟิโนโคลนาโซล​ 15%+โพรพิโคนาโซล​ 15% EC, โพพิโคนาโซล​ 25% และ​ 45% เพราะมีผลต่อการขยายขนาดผล​ (รัดลูก)​

    หรือไมโคลบิวทานิล​ 24% EC​ ​ห้ามพ่นเกินอัตราแนะนำด้านบน และไม่ควรพ่นต่อเนื่องกันเกิน​ 2 ครั้ง​ เพราะมีผลต่อการขยายขนาดผล​ (รัดลูก)​

แหล่งสืบค้น:

    ชัยวัฒน์  โตอนันต์. 2548. เอกสารคำสอนวิชาเชื้อราแป้ง. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 117 หน้า.

    พรศิลป์ สีเผือก, ชัยสิทธิ์ ปรีชา, เวที วิสุทธิแพทย์, พรศิลป์ สีเผือก, ชัยสิทธิ์ ปรีชา, เวที วิสุทธิแพทย์. (2555). การศึกษาการแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรคราแป้งของเงาะ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัฒนาแนวทางในการควบคุมโรคราแป้งDistribution and Severity Assessment of Powdery Mildew of Rambutan in Nakhon Sri Thammarat Province and Developing the Control Approach. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.
    ไพโรจน์ จ๋วงพานิช.2525.หลักวิชาโรคพืช PRINCIPLE OF PLANT PATHOLOGY.ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 2 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) : บริษัท สารมวลชน จำกัด.393 หน้า.
    นิพนธ์ วิสารทานนท์.2542.โรคไม้ผลเขตร้อนและการป้องกันกำจัด.เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ หลักสูตร “หมอพืช-ไม้ผล” ฉบับที่1 โครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบเนื่องจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ ปี 2542.ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 2 : บริษัท เจ ฟิล์ม จำกัด.172 หน้า.
    เอี่ยน ศิลาย้อย.2561.โรคพืชไม้ผล สมุนไพร และการป้องกันกำจัด.พิมพ์ครั้งที่ 4.
    เอกสารเกี่ยวกับการจำแนกเชื้อราแป้ง. เว็ปไซด์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    <http://cmuir.cmu.ac.th/bitstream/6653943832/19870/5/patho0450nw_ch2.pdf. Retrieved 12 June 2023.>
    Latiffah ZakariaORCID.2022.Fungal and Oomycete Diseases of Minor Tropical Fruit Crops

by Latiffah ZakariaORCID.Horticulturae 2022, 8(4), 323; https://doi.org/10.3390/horticulturae8040323. Published: 11 April 2022. Retrieved 12 June 2023.
    M. Reuveni and R. Reuveni.Efficacy of foliar sprays of phosphates in controlling powdery mildews in field-grown nectarine, mango trees and grapevines.Crop Protection Volume 14, Issue 4, June 1995, Pages 311-314.https://doi.org/10.1016/0261-2194(94)00009-W.

    <www.sciencedirect.com.>
    Moshe Reuveni, Lior Gur and Amotz Farber.Development of improved disease management for powdery mildew on mango trees in Israel.Crop Protection Volume 110, August 2018, Pages 221-228.https://doi.org/10.1016/j.cropro.2017.07.017.

    <www.sciencedirect.com.>
    Moshe Reuveni.Efficacy of trifloxystrobin (Flint), a new strobilurin fungicide, in controlling powdery mildews on apple, mango and nectarine, and rust on prune trees.Crop Protection Volume 19, Issue 5, June 2000, Pages 335-341.https://doi.org/10.1016/S0261-2194(00)00026-0.

<www.sciencedirect.com.>
    Scot C. Nelson. Mango Powdery Mildew.Department of Plant and Environmental Protection Sciences.Plant Disease.Aug, 2008, PD-46.College of Tropical Agriculture and Human Resources (CTAHR )of Hawai‘i at Mänoa.

    <http://www.ctahr.hawaii.edu/freepubs>

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: