ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ได้รับการแจ้งจากชาวสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม และพันธุ์ทองดี ในเขตพื้นที่ อ.เมือง, อ.ปากพนัง, อ.เฉลิมพระเกียรติ, อ.หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงการแพร่ระบาดของเพลี้ยจักจั่นและสร้างความเสียให้กับใบส้มโอระยะใบอ่อนถึงใบเพสลาด ทำให้เกิดอาการใบเหลืองเป็นจ่ำๆ ใบบิดม้วนงองุ้ม หากเข้าทำลายตั้งแต่ระยะใบอ่อนเริ่มคลี่กางจะทำให้ใบหงิกงอ ใบเล็กไม่ขยาย ข้อใบสั้นคล้ายลักษณะก้านใบอ่อนเป็นพุ่มแจ้ พบระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเมื่อส้มโอแตกใบอ่อน สามารถพบได้ทั้งส้มโอหลังปลูกจนถึงส้มโออายุมากกว่า 7 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า เพลี้ยจักจั่นชนิดนี้สามารถอยู่ร่วมกันกับเพลี้ยได้ โดยไม่เป็นปรปักษ์ต่อกัน (จากการสังเกตุ)
เดิมเข้าใจว่าเพลี้ยจักจั่นที่แพร่ระบาดน่าจะเป็นเพลี้ยจักจั่นฝ้าย (Cotton jassid; ชื่อวิทยาศาสตร์ Amrasca biguttula Ishida) เนื่องจากในพื้นที่สวนส้มโอที่ปลูกใหม่มักมีการปลูกมะเขือแทรกระหว่างแถวส้มโอ ในบางพื้นที่มีสวนมะเขืออยู่ใกล้เคียงหรือมีมะเขือพวงแทรกเป็นพืชสวนครัว ซึ่งเป็นพืชอาศัยของเพลี้ยจักจั่นและมักพบการระบาดรุนแรงของเพลี้ยจักจั่นฝ้ายเป็นประจำในมะเขือ
แต่เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมาได้เข้าสำรวจสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามตามปกติ พบการระบาดของเพลี้ยจักจั่นและเพลี้ยไฟอย่างรุนแรง และได้ถ่ายภาพเพลี้ยจักจั่นนำกลับมาตรวจสอบอย่างละเอียด พร้อมกับเปรียบเทียบกับภาพเพลี้ยจักจั่นในส้มโอที่เคยถ่ายไว้เมื่อ พ.ค. 2566
(ตอนนั้นสำรวจพบประปราย พบเพียง 2-3 ตัว ต่อส้มโอ 20-30 ต้น) พบว่า เป็นเพลี้ยจักจั่นชนิดเดียวกัน โดยมีดวงตาโตสีขาวขุ่นและเมื่อสังเกตุแผ่นสามเหลี่ยมที่ต่อจากส่วนหัวพบว่า มีเส้นแต้มสีขาวคล้ายอักษรตัวทีคู่ (TT) ประกอบกับส่วนปลายปีกไม่มีจุดแต้มสีดำ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็น “เพลี้ยจักจั่นชาสีเขียว หรือในอีกชื่อ
เพลี้ยจักจั่นละหุ่ง”
เพลี้ยจักจั่นชาสีเขียว หรือ
เพลี้ยจักจั่นละหุ่ง ชื่ออังกฤษ : Tea green leafhopper และ Castor bean leafhopper นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่นๆ ในแต่ละภูมิภาคของโลกอีก เพลี้ยชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่พ้องชื่อกัน แต่ชื่อที่ได้รับการตีพิมพ์ล่าสุด คือ เอมโพแอสก่า โอนิกิอิ โดยคุณมัทซูดะ (Empoasca onukii Matsuda) ชื่อพ้องอื่นๆ เช่น
เอมโพแอสก่า ไวทีส (Empoasca vitis Goethe) และชื่อที่ใช้กันมานานมากพร้อมนิยมในบ้านเรา คือ
เจคอปเบียสก่า ฟอร์มอซาน่า
(Jacobiasca formosanaPaoli)
เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน และร่วมถึงเพลี้ยจักจั่นชาสีเขียว ล้วนเป็นแมลงในวงศ์ชิคาเดลลิอี้ (Family: Cicadellidae) อันดับเฮมิพเทอร่า (Order: Hemiptera) ดังนั้น การกำจัดจึงเหมือนๆ กัน เพียงแต่เพลี้ยจักจั่นฝ้ายและเพลี้ยจักจั่นชาสีเขียวไม่มีความต้านทานสารกำจัดแมลงเท่ากับเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน
1. ควรจัดการสวนให้ส้มโอแตกใบอ่อน ให้พร้อมกันเพื่อการจัดการแมลงศัตรูพืชได้ง่ายและลดการแพร่ระบาดต่อเนื่อง เพราะการแตกใบอ่อนสะเปะสะปะ
โดยในระยะแรกหากสวนมีการแตกใบอ่อนไม่พร้อมกัน ควรใส่ปุ๋ยทางดินสูตรโยกหลัง เช่น 15-5-20 สำหรับดินเหนียว หรือ 15-5-25 สำหรับดินร่วนและดินทราย และพ่นอาหารเสริมทางใบ โดยใช้ปุ๋ยทางใบ เช่น 10-5-20, 15-5-25, 15-10-30 หรือ 9-19-34 รวมกับกรดอะมิโน (ตัวอย่าง เช่น แอทติโว อัตราใช้ 20-30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร) และธาตุรวม โดยพ่นทุก 7-10 วัน อย่างน้อย 45-60 วัน
หลังจากนั้นให้รดน้ำในปริมาณมาก รวมกับการใส่ปุ๋ยสูตรโยกหน้า-โยกหลัง เช่น 20-8-20, 21-3-21, 22-4-22 และพ่นทางใบกระตุ้นการแตกใบอ่อน-ยอดอ่อน ด้วยปุ๋ยทางใบ เช่น 13-0-46 หรือ 15-0-0 อัตรา 100-150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสาหร่ายทะเล (ตัวอย่าง เช่นสาหร่ายทะเลเกรดพรีเมี่ยมที่มีไซโตไคนินสูงอย่างเอซตราโต้อัตราใช้15-20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร) และธาตุรวม โดยพ่นต่อเนื่องกัน 2 หรือ 3 ครั้ง ทุก 5-7 วัน
2. เมื่อพบการระบาดของเพลี้ยจักจั่นชาสีเขียว ควรพ่นด้วย ไบเฟนทริน 10% (สารกำจัดแมลง กลุ่ม 3A: ยากลุ่มนี้ส่งเสริมการระบาดเพิ่มของแมลงหลายชนิด ยกเว้น ไบเฟนทริน, อิโทเฟนฟร็อก และเพอร์เมทริน) ใช้อัตรา 25-30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมร่วมกับยากลุ่มอื่น เช่น
สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1 ได้แก่ ฟิโนบูคาร์บ 50%, โพรฟีโนฟอส 50% หรือ โอเมโทเอต 50% ใช้ในอัตรา 30-40 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
สารกำจัดแมลง กลุ่ม 4 เช่น ไดโนทีฟูเรน 20%, อิมิดาโคลพริด 70% หรือ อะซีทามิพริด 20% ใช้ในอัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
สารกำจัดแมลง กลุ่ม 9 ได้แก่ ไพมีโทรซีน 50% ใช้ในอัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
สารกำจัดแมลง กลุ่ม 29 ได้แก่ ฟอร์นิคามิด 50% อัตรา 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000