Logo

สัดส่วนปุ๋ย N-P-K ที่เหมาะสมต่อพืช

Thirasak Chuchoet • February 8, 2024
สัดส่วนปุ๋ย N-P-K ที่เหมาะสมต่อพืช..?

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชจนถึงให้ผลผลิต พืชไม่ได้ต้องการธาตุอาหารเพียงธาตุใดธาตุหนึ่ง แต่ต้องการทุกธาตุในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ซึ่งสัดส่วนของแต่ละธาตุมีหลักการมาจากการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่พบในพืช โดยการนำส่วนต่างๆ ของพืชไปอบแห้งก่อน (หลักการเดียวกับการวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในผลทุเรียน) เราจึงเรียกปริมาณธาตุอาหารที่ตรวจวัดนี้ว่า"ปริมาณธาตุอาหารในน้ำหนักแห้งของพืช"

ธาตุอาหารพืช (ปุ๋ย)

    ธาตุอาหารพืช คือ ธาตุต่างๆ ที่พืชต้องการเพื่อการเจริญเติบโต การได้รับธาตุหนึ่งธาตุใดในปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการของพืชจะมีผลโดยตรงต่อพืช ตั้งแต่ขนาดของพืชเล็กผิดปกติ การเจริญเติบโตชะงักงัน ใบบิด ม้วนงอ ใบเหลือง หรือการออกดอก-ติดผลลดลง หากพืชขาดธาตุใดในระดับวิกฤติต่อเนื่องอาจทำให้พืชทรุดโทรมและตายได้ นอกจากการได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอแล้ว การได้รับธาตุอาหารมากเกินไปก็ส่งผลให้เกิดความเป็นพิษต่อพืชเช่นกัน ความเป็นพิษนี้มักเกิดขึ้นได้ง่ายกับธาตุอาหารที่พืชมีความต้องการน้อยหรือธาตุที่พบในพืชน้อย เช่น 
   ฟอสฟอรัส (P)จัดเป็นธาตุอาหารหลัก พบในพืชราว 0.1-0.25% ตัวอย่างปุ๋ยที่อาจก่อให้ใบมีอาการแห้งกร้านและใบเสื่อมอายุเร็ว เช่น 0-52-34, 10-52-17 ที่ใช้พ่นทางใบอัตราสูงๆ (100-150 ก./20 ลิตร) และพ่นต่อเนื่อง

   แมกนีเซียม (Mg) จัดเป็นธาตุอาหารอง พบในพืชราว 0.1-0.2% ตัวอย่างปุ๋ยที่อาจก่อให้ใบมีอาการแห้งกร้านและใบเสื่อมอายุเร็ว เช่น แมกนีเซียมซัลเฟต อัตรา 50-100 ก./20 ลิตร และพ่นบ่อย

   จุลธาตุ (จุลธาตุทุกตัวรวมกันพบในพืชราว 0.5% หรือน้อยกว่านี้ บางธาตุอาจพบน้อยกว่า 0.002-0.0001%) ตัวอย่างปุ๋ยที่อาจพบความเป็นพิษ เช่น ซังค์ซัลเฟต, คอปเปอร์ซัลเฟต, โซเดียมบอเรต, กรดบอริก, เหล็กซัลเฟต, แมงกานีสซัลเฟต เป็นต้น พวกนี้หากใช้ในอัตราสูงๆ อาจทำให้ใบไหม้ได้

สัดส่วนปุ๋ยไนโตรเจนต่อฟอสฟอรัสต่อโพแทสเซียม (N:P:K)

    สัดส่วนปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพืชได้มาจากผลวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่พบในน้ำหนักแห้งของเนื้อเยื้อพืช ซึ่งเป็นหลักการที่มีมาช้านานหลายสิบปี อาจย้อนหลังไปได้นานมากกว่า 50 ปี ค่าวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในพืชแล้วนำมาแปลงเป็นสัดส่วนปุ๋ย N:P:K เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก โดยมีหลักการดังตัวอย่างปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในทุเรียน ดังนี้

    ปริมาณธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่พบในเนื้อเยื่อทุเรียน

    1. ไนโตรเจน (N) พบปริมาณโดยเฉลี่ย ราว 2% หรือ 20 กรัมในน้ำหนักแห้ง 1,000 กรัม

    2. ฟอสฟอรัส (P2O5) พบปริมาณโดยเฉลี่ย ราว 0.35-0.58% หรือ 0.35-0.58 กรัมในน้ำหนักแห้ง 1,000 กรัม

    3. โพแทสเซียม (K2O) พบปริมาณโดยเฉลี่ย ราว 1.8-3.0% หรือ 18-30 กรัมในน้ำหนักแห้ง 1,000 กรัม

    การคำนวณสัดส่วนปุ๋ย N:P:K โดยนำธาตุที่พบน้อยที่สุดมาเป็นตัวหาร ซึ่งในที่นี้คือ ฟอสฟอรัส (0.47%) จะได้ดังนี้

    1. ไนโตรเจน: (N 2%)/(P2O5 0.47%) = 4.25

    2. ฟอสฟอรัส: (P2O5 0.47%)/(P2O5 0.47%) = 1.00

    3. โพแทสเซียม: (K2O 2.4%)/(P2O5 0.47%) = 5.10

    ดังนั้น จะได้สัดส่วนปุ๋ย N:P:K เท่ากับ 4:1:5 ปัจจุบันสูตรปุ๋ยที่มีความใกล้เคียงสัดส่วนนี้ ได้แก่ 

  • สัดส่วนปุ๋ย 3:1:4 เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-20
  • สัดส่วนปุ๋ย 3:1:5 เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-25

    ในไม้ผลระยะที่ผลกำลังสร้างเนื้อหรือขยายขนาดผลอาจพบปริมาณโพแทสเซียมสูงถึง 3.5% ดังนั้น สัดส่วนปุ๋ยที่เหมาะสมจึงเท่ากับ 3:1:5 เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-25 นอกจากนี้ การปรับสัดส่วนสูตรปุ๋ยตามสภาพสวนและระยะการพัฒนาของผลก็มีความสำคัญ เช่น มีฝนตกชุกในช่วงผลกำลังขยายขนาดผล พืชจะได้รับไนโตรเจนจากฝนสูงอาจต้องปรับสัดส่วนโพแทสเซียมให้สูงขึ้น เช่น สัดส่วน 2-1-5, 3-1-7 ได้แก่ ปุ๋ยสูตร 14-7-35, 15-5-35 เป็นต้น หรือในช่วงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวก็สามารถปรับมาใช้สัดส่วนนี้ได้เช่นกัน

N:P:K เท่ากับ ใบ ดอก และผล จริงหรือไม่ ..?

    การเรียนการสอน หรือคำกล่าวที่ว่า ไนโตรเจน (N) คือ ใบ, ฟอสฟอรัส (P) คือ ดอก และโพแทสเซียม (K) คือ ผล เป็นคำกล่าวที่ได้รับการถ่ายทอดกันมานานจนทำให้คนทั่วไปจดจำฝั่งใจว่า"เอ็น พี เค (N:P:K) เท่ากับ ใบ ดอก และผล" ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุว่า เหตุที่มีการสอนสืบเนื่องกันมาในลักษณะนี้ เป็นเพราะเมื่อในอดีตความก้าวหน้าทางวิชาการในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก ประกอบกับเพื่อให้เกษตรกรจดจำง่ายแต่เป็นการถ่ายทอดที่ผิดพลาด เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า"ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P) ทำหน้าที่สร้างตาดอกในไม้ผล-ไม้ยืนต้น หรือแม้กระทั้งในไม้ดอกและพืชผักให้ผล" จนทำผู้คนฝั่งใจว่า"อยากได้ดอกต้องใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูง ไนโตรเจนต่ำ เช่น ปุ๋ยสูตร 8-24-24, 9-24-24, 9-25-25, 0-24-24, 7-21-21 และขนานนามปุ๋ยสูตรดังกล่าวเป็น ปุ๋ยเร่งดอก"

บทบาทและหน้าที่ (อย่างย่อ) ของธาตุอาหารหลักในทางวิชาการ มีดังนี้

    ไนโตรเจน

  • เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน โปรตีน ดังนั้นจึงเป็นทุกส่วนของพืช ตั้งแต่ ราก กิ่ง ลำต้น ใบ ดอก และผล
  • เป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลีอิก และนิวคลีโอไทด์ มีบทบาทสำคัญในระยะการแบ่งเซลล์ของพืช ในระยะการแตกใบอ่อนและการพัฒนา ระยะแตกตาดอก หลังผสมเกสรถึงระยะผลอ่อน บางพืชจะแบ่งเซลล์มากตั้งแต่ช่วงพัฒนาดอกถึงระยะขยายขนาดผล (ในผลที่มีการพัฒนาแบบดับเบิ้ลซิกมอยด์)
  • เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์
  • เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ (สังเคราะห์ขึ้นจากกรดอะมิโน) มีหน้าที่ควบคุมหรือกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึมของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
  • เป็นองค์ประกอบของโคเอนไซม์ ช่วยในการทำงานของเอนไซม์
  • เป็นองค์ประกอบของฮอร์โมนพืชบางชนิด

    ฟอสฟอรัส

  • เป็นองค์ประกอบของน้ำตาลฟอสเฟต หรือสารให้พลังงาน (กรดอะมิโน+ฟอสเฟต+น้ำตาลไรโบส) เช่น ATP, ADP และ NADP
  • เป็นตัวเชื่อมกรดนิวคลีอีก นิวคลีโอไทด์
  • เป็นองค์ประกอบของโคเอนไซม์บางชนิด
  • เป็นองค์ประกอบของกรดไฟติคและฟอสโฟลิพิด

       * บทบาทบางประการของฟอสฟอรัสต่อการพัฒนาดอก คือ ส่งเสริมการพัฒนารังไข่ของดอก และมีธาตุอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก

      ** ในหนังสือเกี่ยวกับธาตุอาหารจะเน้นบทบาทของฟอสฟอรัสในด้านการเป็นสารให้พลังงานเพื่อแจกจ่ายไปใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึม (ATP, ADP และ NADP) เพียงแต่ปริมาณความต้องการฟอสฟอรัสมีน้อยมากเมื่อเทียบกับธาตุหลักและธาตุรองบางตัว

   โพแทสเซียม

  • กระตุ้นหรือเป็นตัวปลุกฤทธิ์ของเอนไซม์มากกว่า 60 ชนิด
  • เกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิดปากใบและการสังเคราะห์แสง
  • เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายน้ำตาล และสารอาหารอื่นๆ จากใบแก่ไปยังส่วนต่างๆ ของพืช
  • เกี่ยวข้องต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมในการสังเคราะห์กรดอะมิโน
  • ความคุมแรงดันภายในเซลล์ ทำให้เซลล์เต่ง

      * บทบาทที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาคุณภาพของผล คือ การเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบแก่ไปสะสมที่ผลหรือในหัวของพืชหัว

    จากบทบาทของธาตุหลักจะเห็นได้ว่า แต่ละธาตุจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จะมีธาตุหนึ่งธาตุใดอยู่เดียวๆ ไม่ได้ ดังนั้น การใส่ปุ๋ยแก่พืชจึงมีความจำเป็นที่จะต้องการควบคุมสัดส่วนของธาตุอาหารให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากผลวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในพืชประกอบ และ N:P:K ไม่ใช่ ใบ ดอก และผล ประกอบกับไม่มีเอกสารวิชาการเล่มใดในโลกระบุว่า "ฟอสฟอรัส (P) ทำหน้าที่สร้างตาดอก" ยกเว้น เอกสารหรือโบว์ชัวร์ของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปุ๋ย

ตัวอย่างภาพประกอบ "ปริมาณความต้องการธาตุอาหารของมะเขือเทศ (พืชให้ผล)" จะพบว่า ในช่วงแรกของการปลูกในระยะสั้นๆ มะเขือเทศจะต้องการไนโตรเจนสูงกว่าโพแทสเซียม โดยที่มีความต้องการฟอสฟอสต่ำมากเมื่อเทียบกับไนโตรเจน โพแทสเซียม และแคลเซียม เมื่อมะเขือเทศเจริญเติบโตขึ้น (เริ่มมีใบแก่มากขึ้น) จะพบว่ามะเขือเทศมีความต้องการโพแทสเซียมที่สูงขึ้น และสูงมากกว่าไนโตรเจนไปตลอด ในขณะที่ฟอสฟอรัสแม้มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ แต่ก็ไม่ได้ต้องการมากไปกว่าแคลเซียม แม้ในช่วงที่จะสร้างตาดอกหรือออกดอก"

    สำหรับในไม้ผลและพืชอื่น ความต้องการฟอสฟอรัสก็ไม่ต่างอะไรกับมะเขือเทศ เพียงแต่ปุ๋ยสูตรสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสูตรที่มีฟอสฟอรัสต่ำๆ ตามระดับปริมาณที่พืชต้องการได้ แต่สูตรที่มีอยู่ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-20, 15-5-25, 15-5-35, 14-7-35 สัดส่วนฟอสฟอรัสนี้ก็เหมาะสมแล้ว​ เผื่อความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อหว่านลงดิน เนื่องจากธาตุฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปปุ๋ยทุกชนิดเป็นสารประกอบ "ไดฟอสเฟตเพนตะออกไซด์ (P2O5)" เมื่อหว่านปุ๋ยฟอสฟอรัสลงดินและได้รับความชื้นจากน้ำจะแตกตัวเป็นสารประกอบฟอสเฟต (PO4-), ไฮโดรเจนฟอสเฟต (HPO42-) หรือ ไดไฮโดรเจนฟอสเฟต (H2PO4-) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH) สารประกอบฟอสเฟต ทั้ง 3 รูปนี้ จะทำปฏิกิริยากับธาตุที่มีไอออนประจุบวกได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี เหล็ก แมงกานีส และทองแดง ทำให้เกิดการตกตะกอนอยู่ในรูปที่พืชแทบจะใช้ประโยชน์ไม่ได้หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย

    อีกประการ​ คือยังไม่มีผลวิเคราะห์ปริมาณ​ธาตุอาหารในพืชฉบับใด​ที่รายงานผลวิเคราะห์ธาตุฟอสฟอรัส​มีปริมาณสูงกว่า หรือเท่ากับธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง"ความต้องการธาตุอาหารและการแนะนำปุ๋ยในทุเรียน" และ"การจัดการธาตุอาหารและการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยในสวนทุเรียน" โดย รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม และคณะ ปี (พ.ศ. 2544 และ 2547 ตามลำดับ) ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างใบทุเรียนนำไปวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารหลังมีการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 (ระยะทำใบทุเรียน เตรียมต้น) ปุ๋ยสูตร 8-24-24 (ระยะก่อนออกดอก) และปุ๋ยสูตร 12-12-17 (ระยะเลี้ยงผล) โดยรายงานว่าผลวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบทุเรียน ระหว่างช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ปี 2544(เป็นช่วงที่มีการใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ก่อนออกดอก) มีธาตุไนโตรเจน (N) 1.96-2.24%,ฟอสฟอรัส (P) 0.18-0.35% และ โพแทสเซียม (K) 1.77-2.36%

แหล่งสืบค้น:

    ปฐพีวิทยาเบื้องต้น.2548.คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 10.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.547 หน้า.

    ยงยุทธ โอสถสภา.2558.ธาตุอาหารพืช.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.548 หน้า.

    สุมิตรา ภู่วโรดม และคณะ.2544.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ ความต้องการธาตุอาหารและการแนะนำปุ๋ยในทุเรียน.ชุดโครงการ "ไม้ผลและผลิตภัณฑ์จากผลไม้" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).196 หน้า.

    สุมิตรา ภู่วโรดม และคณะ.2547.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การจัดการธาตุอาหารและการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยในสวนทุเรียน.ชุดโครงการ "ไม้ผลและผลิตภัณฑ์จากผลไม้" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).196 หน้า.

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: