สาเหตุ: เชื้อรา คอลเลทโททริคั่ม (Colletotrichum
spp.)
โรคแอนแทรคโนส หรือโรคปลายใบ-ขอบใบไหม้ ในทุเรียนที่เกิดจากเชื้อรา คอลเลทโททริคั่ม ซึ่งมีอย่างน้อย 3 ชนิด ที่ก่อโรคในทุเรียน ได้แก่ คอลเลทโททริคั่ม ซิเบทินั่ม (C. zibethinusm) คอลเลทโททริคั่ม ดูเรียนีส (C. durionis) และ คอลเลทโททริคัม โกลอีโอสปอริออยเดส (C. gloeosporioides) ซึ่งอาจทำให้ลักษณะอาการแผลใบไหม้แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย
อาการใบไหม้มักเริ่มจากปลายใบก่อน แต่ก็สามารถเกิดแผลไหม้ตามขอบใบและโคนใบได้เช่นกัน โดยแผลไหม้จะเริ่มจากริมขอบของใบเข้าสู่เนื้อใบ ในระยะเริ่มแรกบริเวณกลางแผลจะมีสีน้ำตาลอ่อนล้อมรอบด้วยแผลไหม้สีขาวอมเทา ถัดออกไปบริเวณขอบแผลจะมีลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกและช้ำเป็นเส้นขอบของแผล แผลไหม้มีขนาดใหญ่มีรูปร่างของแผลโค้งงอกินเข้าไปในเนื้อใบ ในระยะนี้จะเริ่มสังเกตุเห็นตุ่มเม็ดสีดำเล็กๆ (acervulus) กระจายตามแผลไหม้เล็กน้อย ซึ่งภายในตุ่มเม็ดนี้จะห่อหุ้มส่วนสืบพันธุ์ที่เป็นโคนิเดีย (conidia) และโคนิไดโอพอร์ (conidiophores) โดยตุ่มเม็ดจะมีความคงทนต่อสภาพอากาศร้อน แห้งแล้งและสารป้องกันกำจัดโรคได้ดี ทำหน้าที่คล้ายแคปซูลแข็งปกป้องสปอร์ขยายพันธุ์
ระยะต่อมาบริเวณกลางแผลที่ไหม้นั้นอาจเปลี่ยนจากสีน้ำตาลอ่อนเป็นสีขาว หรือมีสีน้ำตาลเข็มขึ้นและแทรกด้วยสีขาวสลับอยู่ภายในแผล บริเวณขอบของแผลใบไหม้จะเริ่มเห็นเป็นเส้นขอบแผลเรียงซ้อนกันเป็นวงชัดเจนขึ้นและมีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม เกิดตุ่มเม็ดสีดำกระจายทั่วไปบนแผลไหม้ ซึ่งตั้งแต่ระยะเริ่มพบอาการใบไหม้จนถึงระยะนี้กินเวลาสั้นมาก ต่อมาแผลไหม้จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นกินเนื้อที่ใบมากกกว่าครึ่งใบ จากปลายใบหรือขอบด้านข้างของใบก็ได้ (ตามตำแหน่งที่เกิดแผลไหม้)
อาการใบไหม้ในช่วงเกิดโรคใหม่ๆ พบว่า ใบจะยังไม่หลุดร่วงจากต้น ต่อมาเมื่อใบไหม้เกิดการลุกลามกระจายในทรงพุ่มมากขึ้น ใบจึงเริ่มหลุดร่วงจากต้น ใบที่หลุดร่วงนี้หากปล่อยทิ้งไว้ใต้โคนต้นจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราต่อไป เนื่องจากส่วนสืบพันธุ์สามารถอาศัยอยู่ในดินได้นานข้ามปี ในช่วงที่อากาศร้อนและแห้งแล้งการหลุดร่วงของใบจะเกิดขึ้นสูงมาก โรคจะลุกลามแผ่ขยายไปสู่ต้นใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งการหลุดร่วงของใบอาจเกิดขึ้นมากกว่า 40-90% ของปริมาณใบแก่ที่มีอยู่บนต้น จากการสังเกตุ
"ในสวนที่มีการระบาดของโรคแอนแทรคโนสรุนแรงในฤดูแล้ง พบว่า สามารถทำให้ใบแก่หลุดร่วงมากกว่า 80% ได้ภายใน 7-10 วัน"
โรคแอนแทรคโนสที่เข้าทำลายทุเรียนส่วนมากจะพบอาการใบไหม้ที่ใบแก่มากกว่าใบอ่อนหรือใบเพสลาดยกเว้นในมะม่วงจะพบอาการไหม้เป็นจุดดำและกลางแผลแตกทะลุกระจายทั่วหน้าใบของใบอ่อนและใบแก่ซึ่งเป็นโรคแอนแทรคโนสเช่นกัน สำหรับในทุเรียนอาการใบไหม้แอนแทรคโนสจะเกิดขึ้นกับใบแก่มากกว่าใบอ่อนนี้อาจเป็นผลมาจากลักษณะการเข้าทำลายของเชื้อราคอลเลทโททริคั่ม ที่เป็นแบบเชื้อแฝง เนื่องจากใบอ่อนจนถึงระยะใบเพสลาดของทุเรียนอาจมีการผลิตสาร Phytoalexins ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นกำจัดเชื้อโรคตามธรรมชาติ เมื่อสปอร์เชื้อรางอกและแทงเข้าสู่ชั้นใต้ผิวใบบริเวณเนื้อเยื่อชั้นนอกสุด (epidermis) เส้นใยจะเจริญอยู่ในชั้นนี้และไม่เจริญเข้าสู่ภายในเซลล์พืช เพราะถูกยับยั้งโดยสาร Phytoalexins ที่อยู่ภายในเซลล์ จนกระทั่งเนื้อเยื่อพืชมีอายุมากขึ้นปริมาณของสาร Phytoalexins ลดลง เชื้อราจึงเจริญเข้าสู่ภายในเซลล์และสร้างความเสียหายทำให้เกิดอาการใบไหม้
ตัวอย่างสาร Phytoalexins ที่พบในพริก เช่น สารแคพไซไดโอล (capsidiol) ที่มีมากในผลพริกที่ยังเป็นผลสีเขียว เมื่อผลพริกเริ่มเปลี่ยนสีจึงเกิดโรคแอนแทรคโนสหรือโรคกุ้งแห้ง ในพันธุ์พริกลูกผสมใหม่ๆ อาจพบโรคแอนแทรคโนสในระยะผลสีเขียวได้
โรคแอนแทรคโนสนอกจากก่อโรคปลายใบ-ขอบใบไหม้ในทุเรียนแล้ว ยังก่อโรคดอกเน่าและโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยว (Anthracnose fruit rot) ได้อีกด้วย โดยอาการผลเน่ามักพบเมื่อผลสุกแก่
เชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนส สามารถแพร่ระบาดไปตามลม ติดไปกับน้ำและเข้าทำลายพืชเมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้พบได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งแต่จะเห็นอาการชัดเจนและรุนแรงมากในฤดูแล้ง โดยเฉพาะในระยะที่ทุเรียนกำลังออกดอกหรือติดผล
1. ควรหมั่นสังเกตุอาการใบไหม้ที่เกิดจากโรคแอนแทรคโนสเป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
2. เมื่อพบอาการของโรคใบไหม้แอนแทรคโนส ควรรีบพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยพ่นให้ทั่วทั้งทรงพุ่มด้านนอกและด้านใน ด้วยโพรคลอราซ 45% อัตรา 15-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม M3 เช่น แมนโคเซบ 80% หรือโพรพิเนบ 70% อัตรา 40-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารกำจัดโรคชนิดสัมผัส โดยพ่นต่อเนื่อง ทุก 5-7 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง
3. ใบที่หลุดร่วงจากการติดโรค ควรเก็บไปทำลายนอกสวน
4. หลังจากโรคใบไหม้หยุดลุกลาม ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชต่ออีกระยะ เช่น สารกลุ่ม 11 ได้แก่ อะซอกซี่สโตรบิน 25% หรือไพราโคลสโตรบิน 25% และผสมร่วมกับสารกลุ่ม M3 ทุกครั้ง เพื่อลดหรือชะลอการดื้อยาของเชื้อรา
นิพนธ์ วิสารทานนท์. 2542. โรคไม้ผลเขตร้อนและการป้องกันกำจัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 172 หน้า.
ปราโมช ร่วมสุข, รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม, รศ.ดร.สมศิริ แสงโชติ, รศ.ดร.อิทธิสุนทร นันทกิจ, ดร.ยศพล ผลาผล, สุเทพ สหายา. การสร้างสวนทุเรียนมือใหม่สู่มืออาชีพ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเฟรม-อัพ ดีไซน์. 2561. หน้า 51-52.
นิรนาม. 2557. โรคผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว.พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร. 129 หน้า.
พรทิพย์ วงศ์แก้ว. การชัดนำให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรค. วารสารวิชาการเกษตร ปีที่ 7 เล่มที่ 1-3 มกราคม-ธันวาคม 2532. หน้า 84-91.
พรศิริ บุญพุ่ม, สมศิริ แสงโชติ และเนตรนภิส เขียวขำ. ประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดเชื้อราที่ใช้ทั่วไปในสวนทุเรียน และสารเคมีกำจัดเชื้อราอื่นๆ ต่อการเจริญของเชื้อรา Phomosis spp. สาเหตุโรคผลเน่าและโรคใบจุดทุเรียน.ว. วิทย. กษ. 50 : 3 (พิเศษ). 2562. หน้า 143-146.
วีระณีย์ ทองศรี และสมศิริ แสงโชติ. การเข้าทำลายแฝงของเชื้อรา Phomosis sp. สาเหตุโรคใบจุดของทุเรียน (Durio zibethinus Murr) พันธุ์หมอนทอง. วารสารเกษตรพระจอมเกล้า 34 : (1) . 2559. หน้า 59 - 67.
ยงยุทธ ธำรงนิมิต. 2553. โรคไม้ผล. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : เกษตรสยามบุ๊คส์. 136 หน้า.
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000