หรือโลกเดือน.!! ทำให้โรคใบไหม้แอนแทรคโนสปะทุ
หรือภาวะโลกเดือด.. ทำให้โรคใบไหม้แอนแทรคโนสปะทุ.!!

โรคใบไหม้แอนแทรคโนสในทุเรียน (Anthracnose leaf blight) มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา คอลเลทโททริคั่ม (Colletotrichum spp.) โดยได้เขียนอธิบายไว้ในบทความ “โรคใบไหม้แอนแทรคโนส” แล้วนั้น มีอยู่ย่อหน้าหนึ่งระบุว่า
“โรคใบไหม้แอนแทรคโนสนี้พบได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่จะเห็นอาการชัดเจนและรุนแรงมากในฤดูแล้ง โดยเฉพาะในระยะที่ทุเรียนกำลังออกดอกหรือติดผล”
ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2567 เป็นต้นมา มีผู้แจ้งข่าวให้ทราบถึงอาการใบไหม้และทิ้งใบอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด) ภาคตะวันตก (ป่าละอู จังหวัดประจวบฯ) รวมถึงภาคใต้ (จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช ตรัง) เมื่อพิจราณาจากภาพถ่ายและจากการสอบถาม พบว่า ส่วนใหญ่เป็นอาการใบไหม้ที่เกิดจากโรคแอนแทรคโนส

สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ภาวะอากาศร้อนจัด แดดแรงและประกอบกับสวนเป็นทุเรียนต้นสาว หรือสวนที่มีการตัดแต่งกิ่งและใบจนโปร่งโล่งมากเกินไป จะพบการปะทุของโรคแอนแทรคโนสอย่างรุนแรง
บางต้นใบแก่หลุดร่วงราว 20-30% บางต้นใบแก่หลุดร่วงมากกว่า 80%-90%
จนแลดูต้นจะหลงเหลือแต่ใบอ่อนและใบเพสลาด
โดยทั่วไปแล้ว มักจะเข้าใจกันว่าในช่วงฤดูแล้งและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ การแพร่ระบาดของโรคน่าจะลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามโรคแอนแทรคโนสกับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นั้นอาจเป็นเพราะสภาพอากาศลักษณะนี้ทำให้ใบเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะในสวนที่รดน้ำน้อย หรือขาดน้ำ และรวมไปถึงการกักน้ำเพื่อเตรียมทำดอกทุเรียน ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของสาร Phytoalexins ซึ่งเป็นสารยับยั้งเชื้อก่อโรคตามธรรมชาติของพืชลดลง เปิดโอกาสให้เชื้อราคอลเลทโตทริคั่มเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น


สำหรับสวนที่พบการแพร่ระบาดของโรคใบไหม้แอนแทรคโนส ควรเก็บใบที่ร่วงหล่นออกจากแปลงเพื่อลดการสะสมของเชื้อรา
เนื่องจากเชื้อราอาจเข้าสู่ผลตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยวและติดไปกับผลในลักษณะเชื้อแฝง (latent infection) เมื่อผลสุกแก่จะเกิดอาการผลเน่าเมื่อถึงมือผู้จำหน่ายผลผลิตปลายทางหรือผู้บริโภค
เมื่อพบอาการของโรคใบไหม้แอนแทรคโนส ควรรีบพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยพ่นให้ทั่วทั้งทรงพุ่มทั้งด้านนอกและด้านใน ด้วยโพรคลอราซ 45% อัตรา 15-20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม M3 เช่น แมนโคเซบ 80% หรือโพรพิเนบ 70% อัตรา 40-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารกำจัดโรคชนิดสัมผัส โดยพ่นต่อเนื่อง ทุก 5-7 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง
หลังจากโรคใบไหม้หยุดลุกลาม ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชต่ออีกระยะ เช่น สารกลุ่ม 11 ได้แก่ อะซอกซี่สโตรบิน 25% หรือไพราโคลสโตรบิน 25% และผสมร่วมกับสารกลุ่ม M3 ทุกครั้ง เพื่อลดหรือชะลอการดื้อยาของเชื้อรา
ลิงค์บทความ เรื่อง: โรคใบไหม้แอนแทรคโนสในทุเรียน
แหล่งสืบค้น:
นิพนธ์ วิสารทานนท์. 2542. โรคไม้ผลเขตร้อนและการป้องกันกำจัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 172 หน้า.
ปราโมช ร่วมสุข, รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม, รศ.ดร.สมศิริ แสงโชติ, รศ.ดร.อิทธิสุนทร นันทกิจ, ดร.ยศพล ผลาผล, สุเทพ สหายา. การสร้างสวนทุเรียนมือใหม่สู่มืออาชีพ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดเฟรม-อัพ ดีไซน์. 2561. หน้า 51-52.
นิรนาม. 2557. โรคผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว.พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร. 129 หน้า.
พรทิพย์ วงศ์แก้ว. การชัดนำให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรค. วารสารวิชาการเกษตร ปีที่ 7 เล่มที่ 1-3 มกราคม-ธันวาคม 2532. หน้า 84-91.
พรศิริ บุญพุ่ม, สมศิริ แสงโชติ และเนตรนภิส เขียวขำ. ประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดเชื้อราที่ใช้ทั่วไปในสวนทุเรียน และสารเคมีกำจัดเชื้อราอื่นๆ ต่อการเจริญของเชื้อรา Phomosis spp. สาเหตุโรคผลเน่าและโรคใบจุดทุเรียน.ว. วิทย. กษ. 50 : 3 (พิเศษ). 2562. หน้า 143-146.
วีระณีย์ ทองศรี และสมศิริ แสงโชติ. การเข้าทำลายแฝงของเชื้อรา Phomosis sp. สาเหตุโรคใบจุดของทุเรียน (Durio zibethinus Murr) พันธุ์หมอนทอง. วารสารเกษตรพระจอมเกล้า 34 : (1) . 2559. หน้า 59 - 67.
ยงยุทธ ธำรงนิมิต. 2553. โรคไม้ผล. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : เกษตรสยามบุ๊คส์. 136 หน้า.