รากพืชไม่ได้ดูดน้ำ.. แต่น้ำแพร่เข้าสู่รากพืชเอง.!!
รากพืชไม่ได้ดูดน้ำ.. แต่น้ำแพร่เข้าสู่รากพืชเอง.!!

น้ำที่แพร่เข้าสู่รากพืชนั้นโดยธรรมชาติแล้วจะมีธาตุต่างๆ ละลายเจือปนไปกับน้ำด้วยเสมอ ทั้งธาตุอาหารพืช (ปุ๋ย) และธาตุอื่นๆ รวมถึงธาตุบางธาตุที่เป็นพิษต่อพืช เช่น อะลูมินั่ม (Al3+) การแพร่ของน้ำในดินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งหรือจากรอบบริเวณเขตรากแพร่เข้าสู่รากพืชนั้น เกิดจากความต่างศักย์ของค่า water potential (WP) ของน้ำ
"เมื่อ น้ำกลั่นหรือน้ำบริสุทธิ์ มีค่า WP เท่ากับ 0 บาร์ ส่วนน้ำที่มีสิ่งเจือปนค่า WP จะติดลบ ยิ่งมีสิ่งเจือปนมากขึ้นค่าจะยิ่งติดลบมากขึ้น สิ่งเจือปน เช่น สารอินทรีย์ กรดฮิวมิค กรดฟลูวิก หรือธาตุต่างๆ"

การแพร่ของน้ำ เป็นการแพร่ออกไปแบบไม่มีทิศทางโดยแพร่จากบริเวณที่มีค่า WP ติดลบน้อยไปสู่บริเวณที่มีค่าติดลบสูงกว่า หรือจากบริเวณที่มีความเข้มข้นของสารเจือปนต่ำไปสู่ที่มีความเข้มข้นสูงกว่า โดยปกติแล้วน้ำที่อยู่ในดินจะมีค่า WP เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะมีค่า WP ราว -0.05 บาร์ น้ำภายในรากพืชปกติจะมีค่า WP เท่ากับ -2.00 บาร์ และใบพืช -4.00 ถึง -15.00 บาร์ ยกเว้นกรณีหว่านปุ๋ยอัตราสูงและรดน้ำน้อยหรือดินขาดน้ำ
ดังนั้น น้ำในดินจึงแพร่เข้าสู่เซลล์ขนรากโดยอาศัยหลักการแพร่ของน้ำ มิใช่เกิดจากการดูดน้ำของพืช
น้ำแพร่เข้าสู่ภายในรากผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์ไปตามผนังเซลล์แล้วเข้าสู่ท่อลำเลี้ยงน้ำ เรียกการแพร่ผ่านช่องว่างนี้ ว่า "วิถีอะโพพลาสต์ (apoplast pathway)"
ส่วนน้ำที่แพร่เข้าสู่ภายในเซลล์ของรากพืชผ่านเยื้อหุ้มเซลล์ เป็นการเข้าสู่เซลล์ในลักษณะออสโมซีส หลังจากนั้นจึงแพร่ผ่านเซลล์ถัดไปตามรูที่เชื่อมต่อกันของเซลล์จนเข้าสู่ท่อลำเลี้ยงน้ำ เรียกการแพร่ลักษณะนี้ ว่า "วิถีซิมพลาสต์ (symplast pathway)"
พืชขาดน้ำหรือที่กล่าวกันว่า "รากไม่ดูดน้ำ" จะเกิดขึ้นได้อยู่ 2 สาเหตุ
1. รากเสียหายจากการเกิดโรครากเน่าโคนเน่า หรือรากขาดจากกรณีอื่นๆ
2. ดินขาดน้ำ
แหล่งสืบค้น:
ลิลลี่ กาวีต๊ะ และคณะ.2560.สรีรวิทยาของพืช.พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.270 หน้า.
สมบุญ เตชัภิญญาวัฒน์.ไม่ทราบปีที่พิมพ์.สรีรวิทยาของพืช.ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.237 หน้า.