Logo

กลไกออกฤทธิ์​สารกำจัดแมลง​ ตอนที่​ 2

Thirasak Chuchoet • May 26, 2024
กลไกการออกฤทธิ์​ของสารกำจัดแมลง​ ตอนที่​ 2

    ความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง (ดื้อยา) แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

1. ความต้านทานข้าม (Cross resistance)

ความต้านทานข้าม (Cross resistance)

    เป็นกลไกความสามารถในการต้านทานสารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มกลไกออกฤทธิ์ของสารกำจัดแมลง แล้วมีผลทำให้แมลงมีความสามารถต้านทานยาชนิดอื่นๆ ที่อยู่ภายในกลุ่มนั้นได้ ความต้านทานในลักษณะนี้จะมีกลไกการสร้างความต้านทานเพียงหนึ่งกลไกเท่านั้น หมายความว่า แมลงชนิดนั้นๆ มีกลไกต้านทาน (ด้ือยา) ต่อสารกำจัดแมลงหนึ่งชนิด แต่สามารถต้านทานสารชนิดอื่นภายในกลุ่มได้ แต่ไม่ต้านทานต่อสารกำจัดแมลงอื่นที่อยู่นอกกลุ่ม (ซึ่งจะกล่าวถึงการดื้อยานอกกลุ่มในหัวข้อความต้านทานถัดไป)

    สาเหตุที่แมลงมีความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงชนิดอื่นๆ ภายในกลุ่ม เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของจุดจับ (binding site) จนทำให้สารกำจัดแมลงที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันไม่สามารถจับจุดดังกล่าวได้ เพราะสารกำจัดแมลงที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะมีโครงสร้างเคมีหลักเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น

   สารกำจัดแมลง กลุ่ม 5: มีโครงสร้างสารเคมี 1 ชนิด คือ สปินโนซีน (spinosyns) ซึ่งได้จากการหมักเชื้อจุลินทรีย์ประเภทแอคติโนมัยเซต (actinomycete) ชื่อ ​แซคคาโรพอลี่สปอร่า สไปโนซ่า (Saccharopolyspora spinosa) ที่อยู่ในดิน ได้สาร​สปินโนซีนออกมา​ มากกว่า 20 ชนิด แล้วนำไปสังเคราะห์ต่อเพิ่มเติม สารกำจัดแมลงที่อยู่ในกลุ่มสารเคมีสปีนโนซีน มีอยู่ 2 ชนิด คือ

   1. สไปโนแซด​ (spinosad)​: เกิดจากสารสปินโนซีน ชนิด เอ  (spinosyn type A) สูตรเคมี C41H65NO10 และชนิด​ ดี (spinosyn type D) สูตรเคมี C42H67NO10 ผสมกันในอัตราส่วน 17 ต่อ 3 ได้เป็นสารสปินโนซีน 2 ชนิดอยู่รวมกันเป็น spinosAD และเขียนใหม่ได้เป็น ​spinosad

   2. สไปนีโทแรม​ (spinetoram)​: เกิดจากสารสปินโนซีน ชนิด เจ (spinosyn​ ​type J) สูตรเคมี C40H63NO10 และชนิด แอล (spinosyn type L) สูตรเคมี C41H65NO10 นำไปสังเคราะห์เพิ่มเติมได้เป็นสารอนุพันธ์ของสปินโนซีน ชนิด เจ และแอล ได้เป็นสาร ​spinetoram มีสูตรเคมี คือ C42H69NO10 หรือ C43H69NO10 (คาร์บอน​ (C) ต่างกัน​ 1 อะตอม)​

กลไกออกฤทธิ์ของสารกำจัดแมลง แบ่งตามสรีระของแมลงศัตรูพืช เป็น 5 ระบบ คือ 1) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ 2) ออกฤทธิ์ต่อระบบการหายใจระดับเซลล์ 3) ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารส่วนกลาง 4) ออกฤทธิ์ต่อระบบการเจริญเติบโต และ 5) ยังไม่ทราบกลไกแน่ชัด

    แมลงที่ต้านทานสารกำจัดแมลง​ กลุ่ม​ 5 เกิดจาก​กลไกความต้านทาน​ 2 สาเหตุ​ คือ ​1) แมลงสังเคราะห์เอนไซม์ย่อยสลายสารกำจัดแมลงได้ดีขึ้น​ และ ​2) เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของจุดจับของสารกำจัดแมลง​ ซึ่งกรณีสารกลุ่ม​ 5 การเปลี่ยนแปลงที่จุดจับพบบ่อยมากที่สุด​ โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลโปรตีนที่เป็นจุดจับ ​"ตัวคุมอัลโลสเตอริก​ ตำแหน่งวัน​ (allosteric modulator site I) หรืออีกชื่อ​ คือ​ มาโครไซคลิก​ แลกโตน (macrocyclic lactone site)" ของโปรตีนหน่วยย่อยอัลฟ่า (alpha subunit) ที่รวมตัวกับโปรตีนหน่วยย่อยอื่นๆ​ เป็นช่องผ่านตัวรับนิโคตินิกที่กระตุ้นการทำงานด้วยสารสื่อประสาทอะซีทิลโคลีน (nicotinic acetylcholine receptors: nAChR)​ เมื่อสารสไปนีโทแรมไม่สามารถจับที่จุดจับได้​ สารสปีนโนแซด​ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีหลักเหมือน​กันก็ไม่สามารถจับและออกฤทธิ์ได้เช่นกัน

    ความต้านทานข้ามนี้ ยังมีผลต่อสารกำจัดแมลงที่มีโครงสร้างทางเคมีต่างกัน​ด้วย​ เช่น​ สารกำจัดแมลง​ กลุ่ม​ 1A กับ​ 1B​ หรือ​ 3A​ กับ​ 3B​ 

ภาพ: กลไกการทำงานของ "ช่องตัวรับนิโคตินิก ที่กระตุ้นการทำงานด้วยสารสื่อประสาท อะซีทิลโคลีน (nicotinic acetylcholine receptors; nAChR)", ช่องนี้เป็นกลุ่มของโปรตีนรวมตัวกันและเกิดช่องผ่านตรงกลาง แทรกตัวอยู่ในเยื้อหุ้มเส้นประสาท บริเวณส่วนหน้าโพสต์ไซแนปส์ติกนิวรอน ประกอบขึ้นจากโปรตีนหน่วยย่อย 5 หน่วย มี 4 ชนิด คือ หน่วยย่อยอัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ซึ่งเป็นจุดที่สารสื่อประสาทเข้ามาจับ เพื่อกระตุ้นเปิดช่องให้ประจุไอออนบวกไหลเข้าสู่ภายในเซลล์ประสาท และเป็นจุดที่สารกำจัดแมลงเข้าจับเช่นกัน

    สารกำจัดแมลง​ กลุ่ม​ 1 มีโครงสร้างสารเคมี 2 ชนิด​ คือ​ คาร์บาเมท​ จัดเป็นกลุ่ม​ 1A​ (สารในกลุ่มนี้​ เช่น​ คาร์บาริล, เบนฟูราคาร์บ​, ฟิโนบูคาร์บ​ ฯ)​ และ​ออร์กาโนฟอสเฟต​ จัดเป็นกลุ่ม​ 1B (สารในกลุ่มนี้​ เช่น​ ไดคลอวอส, โปรฟีโนฟอส, ไตรอะโซฟอส, พิริมิฟอส​ ฯ)​ แมลงที่มีความต้านทางสารกลุ่ม​ 1 เป็นผลมาจากเอนไซม์อะซีทิลโคลีนเอสเตอเรส​ (acetylcholine esterase) เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี[1]​ ซึ่งปกติเอนไซม์นี้จะมีหน้าที่ย่อยสลายสารสื่อประสาทอะซีทิลโคลีน และสารกลุ่ม​ 1A​ และ​ 1B​ มีกลไกจับที่เอนไซม์นี้และหยุด/ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ​แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเอนไซม์กลับทำให้เอนไซม์ดังกล่าวมีคุณสมบัติย่อยสลายสารกลุ่ม​ 1A​ และ​ 1B​ ได้

    สารกำจัดแมลง​ กลุ่ม​ 3 มีโครงสร้างสารเคมี 2 ชนิดเช่นกัน​ คือ ​ไพริทรอยด์​ /ไพริทริน​ จัดเป็นกลุ่ม​ 3A​ (สารในกลุ่มนี้​ เช่น​ ไบเฟนทริน, ​ไซเพอร์เมทริน,​ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน​ เดลต้าเมทริน​ ซีต้าไซเพอร์เมทริน​ ฯลฯ)​ และ​ดีดีที​ จัดเป็นสารกลุ่ม​ 3B​ (สารในกลุ่มนี้​ คือ​ ดีดีที​ [แบน​ทั่วโลก]​)​ แมลงที่เกิดความต้านทานต่อสารดีดีที​ เกิดจากการกลายพันธุ์​ของสาร​พันธุกรรม​ (ยีน) ​kdr ที่ควบคุมการแสดงออกของช่องผ่านศักย์ไฟฟ้าโซเดียม​ (voltage gated sodium channel)​ ทำให้เกิดความต้านทานต่อสารกลุ่มไพริทรอยด์​ /ไพริทรินด้วย​ เพราะสารทั้ง​ 2 กลุ่ม​ ไม่สามารถจับที่จุดจับ ​"ตัวคุม​ (modulators) ของช่องผ่านศักย์ไฟฟ้าโซเดียม" ได้

ภาพจำลอง: กลไกการออกฤทธิ์ของสารกำจัดแมลง กลุ่ม 5 โดยจับที่ตัวคุมอัลโลสเตอริก ตำแหน่ง วัน ของช่อง nAChR ส่งผลให้ช่องเปิดตลอดวลาและประจุไอออนบวกไหลเข้าสู่เ้ส้นประสาท เกิดการกระตุ้นกระแสประสาทตลอดเวลา โดยกระแสประสาทนี้เกี่ยวข้องกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ การกระตุ้นกระแสประสาทตลอดเวลา (hyperexcitation) ทำให้แมลงเป็นอัมพาต

    อีกตัวอย่าง เป็นการสร้างความต้านทานข้าม แบบข้ามกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว (brown planthopper (BPH): Nilaparvata lugens Stal) ในประเทศไทยพบการแพร่ระบาดรุนแรงมาก (ครั้งที่ 4) ในช่วงปี พ.ศ. 2552-2554 ภายหลังจากนั้นมีรายงาน การสร้างความต้านทาน (ดื้อยา) ข้ามกลุ่มสารกำจัดแมลง ระหว่างกลุ่ม 4A กับ กลุ่ม 9 และเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน (durian leafhopper:Amrasca durianae Hongsaprug)[2] แมลงทั้งคู่อยู่ในอันดับเฮมิพเทอร่า (Orde: Hemiptera) กลไกการสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง กลุ่ม 4A ส่งผลให้เกิดความต้านทานต่อสารกลุ่ม 9 เนื่องจากกลไกความต้านทานนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเอนไซม์ไซโตโครม​ พี450[1] ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ย่อยสลายสารพิษได้อย่างกว้างขวางของแมลง (detoxification enzymes) ดังนั้น เมื่อแมลงสังเคราะห์เอนไซม์ดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสารกลุ่ม 4A ได้ดีและเกิดความต้านทานต่อสารกลุ่ม 4A เป็นผลให้เอนไซม์สามารถย่อยสารกำจัดกลุ่ม กลุ่ม 9 ได้ดีไปด้วย จึงเกิดความต้านทาน (ดื้อยา) ข้ามกลุ่มกลไกออกฤทธิ์[3]

สาเหตุการต้านทานแบบข้าม

    สาเหตุหลักมี​ 2 กลไก​ ตามที่ได้กล่าวข้างต้น​ คือ​ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของเอนไซม์ย่อยสลายสารกำจัดแมลงหรือสารพิษ​[1] และการกลายพันธุ์ของจุดจับ​ นอกจากนี้ยังมีกลไกอื่นด้วย​ แต่ไม่เด่นและชัดเจนมากนัก​ มักเป็นปัจจัยเสริม​ คือ​ การลดการซึมผ่านของสารเข้าสู่ร่างกายของแมลงและพฤติกรรมบางประการของแมลงที่เตือนภัยให้แมลงหลบหลีกพืชที่มีการพ่น​สารกำจัดแมลง

[1]เอนไซม์​ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความต้านทาน​ คือ​ เอนไซม์ไซโตโครม​ พี450​ (Cytochrom​ P450: Cty.​ P450) เอนไซม์​ Cyt. P450 บางชนิดมีคุณสมบัติไม่เฉพาะเจาะจงในการจับและทำปฏิกิริยา​ ซึ่งปกติเอนไซม์​แต่ละชนิดจะค่อนข้างเจาะจงในการทำปฏิกิริยา​ เมื่อ​เอนไซม์​ Cyt.​ P450 ทำปฏิกิริยา​ย่อยสลายสารกำจัดแมลงใดได้ดีเป็นพิเศษ​ สารอื่นๆ​ ที่มีโครงสร้างเคมีหลักเหมือนกันก็จะถูกย่อยสลายไปด้วย​ จึงทำให้เกิดความต้านทานข้าม

[2]ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุ: ช่วงปี พ.ศ.2563-2564 ในเขตพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พบการแพร่ระบาดของเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยทั่วไปชาวสวนจะมีการใช้สารกำจัดแมลง กลุ่ม 4A กับเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียนและเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในลักษณะการพ่นป้องกันก่อนการระบาดและกำจัดเมื่อพบการแพร่ระบาด โดยที่ก่อนหน้าปีนั้นและช่วงปีดังกล่าว สารกำจัดแมลง กลุ่ม 9 แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของชาวสวนและร้านค้าในพื้นที่เลย อีกทั้งในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเองก็แทบจะไม่พบการใช้สารกลุ่ม 9 ต่อเมื่อผมได้เริ่มแนะนำชาวสวนให้หันมาใช้สารกลุ่ม 9 กลับพบว่าอัตราขั้นต้นในการใช้กำจัดเพลี้ยจักจั่นฝอยต้องปรับอัตราการใช้เป็น อัตรา 15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (จากเดิมที่สารกลุ่ม 9 ออกจำหน่ายในประเทศใหม่ๆ ใช้อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล) และในห่วงเวลาสั้นๆ ราว 2 ปี ทั้งที่มีการสลับกลุ่มสารออกฤทธิ์และการใช้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย กลับต้องเพิ่มอัตราเป็น 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร และต่อมาต้องใช้สารกลุ่ม 9 ร่วมกับสารกำจัดแมลงกลุ่มอื่น

[3]เอนไซม์ไซโตโครม​ พี450 เมื่อสามารถย่อยสลายสารกลุ่ม 4A และ 9 ได้ดี ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะย่อยสลายสารกลุ่ม 4C, 4D, 4E และ 4F ด้วย

2. ความต้านทานข้ามหลายกลไก (Multiple resistance)

    ความต้านทานข้ามหลายกลไก (Multiple resistance) เป็นความสามารถต้านทานสารกำจัดแมลง ที่พบว่า แมลงชนิดหนึ่งสามารถมีกลไกต้านทานสารได้มากกว่า 1 กลไก คือ สามารถต้านทานกลุ่มสารกำจัดแมลงได้มากกว่า 1 กลุ่ม ในแมลงชนิดเดียว ความสามารถนี้ทำให้แมลงสร้างความต้านทานต่อกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ได้หลากหลายกลุ่มสาร

3. ความต้านทานข้ามเชิงลบ (Negative cross resistance)

    ความต้านทานข้ามเชิงลบ (Negative cross resistance) เกิดจากแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงกลุ่มหนึ่งแล้ว ความต้านทานดังกล่าว "กลับส่งผลเชิงลบต่อแมลง" กล่าวคือ เมื่อแมลงต้านทานสารกลุ่มหนึ่งแล้ว กลไกความต้านทานนี้ไปทำให้แมลงเกิดความอ่อนแอต่อสารกำจัดแมลงกลุ่มอื่น

ปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อการสร้างความต้านทาน (ดื้อยา) ของแมลง

    ความเร็วในการพัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยร่วมกัน ดังนี้

   1. ความต้านทานเป็นสารพันธุกรรมเด่น (dominant gene): หากสารพันธุกรรม (ยีน) ที่แสดงออกถึงความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงเป็นสารพันธุกรรมเด่น (ยีนเด่น) จะส่งเสริมให้แมลงสร้างความต้านทานได้เร็วกว่าปกติ

   2. อายุของชั่วรุ่นหนึ่งๆ ของแมลง (generation): มีความสบสนกันมากในการนับช่วงอายุเพื่อสลับกลุ่มสารกำจัดแมลง ในการสลับกลุ่มนั้นมีการขยายความกันมากและแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1) การสลับกลุ่มสารตามวงจรชีวิตของแมลง /ชั่วอายุ (life cycle หรือ lifespan) และ 2) การสลับกลุ่มสารตามชั่วรุ่นของแมลง (generation) โดยสาระสำคัญทั้ง 2 แนวทาง ต่างมีจุดมุ่งหมายไปที่การสลับกลุ่มสารเมื่อแมลงเจริญวัยเป็นตัวเต็มวัย (วัยสืบพันธุ์ /ตัวแก่) ที่สามารถผสมพันธุ์และขยายจำนวนประชากรแมลงได้ ดังนั้น การอธิบายว่า "การสลับกลุ่มสารควรสลับตามวงจรชีวิตของแมลง" แลดูจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากวงจรชีวิต จะหมายถึง ตั้งแต่เกิดถึงสิ้นอายุขัย ทั้งที่ในความหมายต้องการที่จะสื่อถึง เกิดถึงวัยสืบพันธุ์ ซึ่งจะตรงกับคำว่า "ชั่วรุ่น (generation)" มากกว่า

    สำหรับแมลงที่มีชั่วรุ่นอายุสั้นเท่าไหร่ (เกิด-สืบพันธุ์) ในรอบปีหนึ่งๆ จะมีแมลงรุ่นต่างๆ ต่อปีมาก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาหรือกลายพันธุ์ต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้เร็วยิ่งขึ้น ตัวอย่าง จำนวนชั่วรุ่นต่อปีของศัตรูพืช เช่น ไรแดงแอฟริกัน ตั้งแต่ระยะไข่ถึงตัวเต็มวัย ใช้เวลาราว 7-9 วัน ดังนั้น ในรอบ 1 ปี (365 วัน) จะมีไรแดงรุ่นลูกหลาน มากถึง 40-52 รุ่น หรือเพลี้ยไฟ[4] จากระยะไข่เจริญเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาราว 14-17 วัน ดังนั้น ในรอบ 1 ปี จะมีรุ่นลูกหลาน มากถึง 21-26 รุ่น

   3. การเคลื่อนย้ายของแมลง: การอพยพย้ายถิ่นของแมลงที่มีความแข็งแรงหรือความต้านทานเข้ามาในพื้นที่และผสมพันธุ์กับแมลงที่มีความแข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว จะยิ่งส่งเสริมการพัฒนาความต้านทานได้เร็วยิ่งขึ้น ในทางตรงข้ามหากแมลงที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาเป็นประชากรแมลงที่มีความอ่อนแอย่อมทำให้รุ่นถัดไปมีความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงลดลง

   4. การคัดเลือกโดยสารกำจัดแมลง: ปกติในพื้นที่หนึ่งๆ จะมีประชากรแมลงที่มีความอ่อนแอและแข็งแรงต่อสารกำจัดแมลงปะปนกันไป การพ่นสารกำจัดแมลงจะเป็นการกำจัดแมลงอ่อนแอออกไป ส่วนแมลงที่แข็งแรงจะเล็ดลอดหลงเหลือและสืบพันธุ์ และถ่ายทอดพันธุกรรมที่แข็งแรงต่อไปยังรุ่นลูกหลาน ยิ่งมีแมลงอพยพเข้ามาเป็นแมลงที่มีความต้านทานร่วมด้วยจะยิ่งสร้างความต้านทานได้เร็วยิ่งขึ้น

[4]อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อการพัฒนาเจริญวัยของเพลี้ยไฟและแมลงอีกหลายชนิดให้เร็วขึ้น ในอดีตกล่าวกันว่า เพลี้ยไฟจากระยะไข่เจริญเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาราว 19-21 วัน หรือมากกว่านี้

ตอนถัดไป: จะกล่าวถึงการระบาดเพิ่มของแมลงและไรศัตรูพืช และสารกำจัดแมลงที่มีแนวโน้มส่งเสริมการระบาดเพิ่ม

แหล่งสืบค้น: 

    สุเทพ สหายา.2561.รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง และไรศัตรูพืช.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ.108 หน้า.

    คู่มือผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร.2566.พิมพ์ครั้งที่ 1.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.183 หน้า.

    เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2559.การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกะหล่ำ เทคนิคการพ่นสารฆ่าแมลงในพืชผักและกลไกการต้านทานสารฆ่าแมลงของแมลงศัตรูผักที่สำคัญ.กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.จัดทำโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย.86 หน้า.

    เอกสารวิชาการ.2564.การใช้สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชเพื่อแก้ไขปัญหาความต้านทานศัตรูพืช.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.146 หน้า.

    IRAC.2019.Insecticide Mode of Action Training slide deck IRAC MoA Workgroup Version 1.0, April 2019.

    (https://irac-online.org)

    IRAC.2024.MODE OF ACTION CLASSIFICATION SCHEME VERSION 11.1, JANUARY 2024.

    (https://irac-online.org)

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: