เมื่อหลายปีก่อน (4-5 ปี) มีการรายงานและพบการระบาดของหนอนเจาะสมอฝ้ายในทุเรียน ทั้งจากภาครัฐและสื่อโซเชียล ตอนนั้นผมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากหนอนเจาะสมอฝ้ายเป็นหนอนที่มีความสามารถพัฒนาต้านทานสารกำจัดแมลงได้หลายชนิด (ดื้อยา) ในพืชปลูกหลายชนิดทั่วประเทศ ปี 2560 มีรายงานวิจัยทดสอบการดื้อยาของหนอนเจาะสมอฝ้ายที่เก็บหนอนมาจาก จ.กาญจนบุรี โดยการใช้สารกำจัดแมลงพ่นสัมผัสหนอนโดยตรงภายในห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็ป) ผ่านไป 3 วัน พบว่า
1. แลมป์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อัตรา 80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร กำจัดหนอนได้เพียง 67-70%
2. อีมาแมกติน 1.92% อัตรา 20 ซีซี กำจัดหนอนได้ทั้งหมด
3. ลูเฟนนูรอน 5% อัตรา 40-60 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร กำจัดหนอนได้ราว 59-70% และต้องใช้อัตรา 80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร จึงจะกำจัดได้ราว 80%
4. อินด็อกซาคาร์บ 15% อัตรา 15 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร กำจัดหนอนได้ทั้งหมด
จะเห็นได้ว่า อัตราการใช้สารกำจัดหนอนในห้องปฏิบัติการที่ได้ผลในการกำจัดหนอนมากกว่า 80% ขึ้นไป ของสารแลมป์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% (หนอน 100 ตัว กำจัดได้มากกว่า 80 ตัว) ถือว่าเป็นอัตรายาที่ค่อนข้างสูง
ภาพ: หนอนเจาะสมอฝ้าย (หนอนวัย 3-4) ในพริก ถ่ายที่ จ.ศรีสะเกษ
ภาพ: หนอนเจาะสมอฝ้าย (หนอนวัย 5-6) ในพริก ถ่ายที่ จ.ศรีสะเกษ
หนอนเจาะสมอฝ้าย มีพฤติกรรมออกหากินทำลายพืชในช่วงกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตัว การพ่นสารกำจัดแมลงปกติทั่วไปสารมักไม่สัมผัสตัวหนอนโดยตรง เมื่อ 10 ปีก่อน ผมต้องเข้าสวนมะเขือเทศช่วง 19.00 น. เป็นต้นไป เพราะช่วงเวลานี้ชาวสวนกำลังพ่นสารหนอนเจาะสมอฝ้าย ดังนั้น จึงมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่จะต้องใช้อัตราสารกำจัดแมลงมากกว่าอัตราทดสอบในห้องปฏิบัติการพอสมควร
หนอนชนิดนี้มีนิสัย "เจาะทิ้งเจาะขวาง ไม่กินดอกหรือผลจริงจัง" ในแต่ละคืนหนอน 1 ตัว จะเจาะดอกหรือผลหลายดอก เหมือนที่ทำกับมะเขือเทศ พริก ดาวเรือง ดอกทานตะวัน กุหลาบ และพืชอื่นๆ อีกมาก
พฤติกรรมดังกล่าว ทำให้ดอกและผลอ่อนของทุเรียนเสียหายอย่างมาก แต่ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า หนอนเจาะสมอฝ้ายอาจไม่นิยมทุเรีบนเท่าไหร่ จึงพบการระบาดในทุเรียนบ้างเป็นครั้งคราว แต่อาจพบบ่อยในสวนทุเรียนที่อยู่ใกล้แหล่งปลูกพืชผัก มะเขือเทศ พริก กุหลาบ ทานตะวัน
ภาพ: หนอนกระทู้ผัก (หนอนวัย 2-3) ในพืชสกุลเผือก-บอน ถ่ายที่ จ.อุดรธานี
ได้มีโอกาสเห็นคลิปหนึ่งในโลกโซเชียล (เพจ fb: ยามทำเกษตรใจเกษม) ในคลิปมีหนอนกระทู้ผักเข้าทำลายใบแก่ของทุเรียน โดยกัดกินเนื้อเยื่อหน้าใบ ปกติเท่าที่สังเกตุตามแปลงทุเรียนภาคตะวันออกและใต้ มักพบหนอนชนิดนี้เลือกกินพืชอื่น เช่น บอน กล้วย ถั่ว และพืชอื่นๆ เป็นอุปนิสัยพักตัวขณะรอพืชอาหารหลักที่จะเริ่มเพาะปลูก พืชหลักใกล้แปลงปลูกทุเรียน เช่น ถั่วฝักยาว ถั่ว พริก มะเขือเทศ ผักใบชนิดต่างๆ เผือก มันเทศ ต้นกล้าปาล์มปลูกใหม่ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า พืชอาหารสำรองของหนอนชนิดนี้ขาดความสมบูรณ์หรือมีน้อย หนอนจึงเปลี่ยนพฤติกรรมกินพืชอาหารอื่นและเริ่มเข้าทำลายทุเรียน
ช่วงต้น-กลางเดือน พ.ค. 2567 พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช
พบการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ผักเข้าทำลายมังคุด โดยกัดกินใบอ่อน ใบเพสลาด ดอกที่กำลังบาน และผลอ่อน จากการสอบถามโดยละเอียดพบว่า การเข้าทำลายรุนแรงมากและมีจำนวนประชากรหนอนค่อนข้างสูง โดยชาวสวนเล่าว่า ภายใน 1-2 คืน หนอนสามารถแพร่ระบาดและกัดกินใบอ่อนได้เกือบทั้งต้น ในช่วงกลางวันที่แดดจัดและอุณหภูมิสูงหนอนชนิดนี้จะหลบซ้อนตัวตามซอกกลีบดอกมังคุด
ภาพ: หนอนกระทู้ผัก (หนอนวัย 5-6) ในมันเทศ ถ่ายที่ จ.นครศรีธรรมราช
ภาพ: หนอนกระทู้ผัก (วัย 5-6) ในกล้วย ถ่ายที่ จ.ตราด
หนอนกระทู้ผักถือได้ว่า"เป็นหนอนที่มีพฤติกรรมไม่เลือกพืชอาหารมากนัก" กล่าวคือ หนอนชนิดนี้มีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับพืชอาหารได้กว้าง และมีพืชอาหารหลากหลายชนิดมาก จึงเป็นไปได้ว่าพืชอาหารเดิมที่ขาดความสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพอากาศส่งผลให้หนอนปรับตัวเข้ากับพืชอาหารใหม่ได้เร็ว ต่อเมื่อปรับตัวเข้ากับพืชอาหารใหม่ได้ดี ในที่นี้คือ ทุเรียน และมังคุด อาจทำให้ต่อไปพบการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ผักบ่อยครั้งขึ้นและกลายเป็นศัตรูพืชหลักอีกชนิดของทุเรียน และมังคุด
หนอนกระทู้ผัก เป็นหนอนอีกชนิดที่ขึ้นชื่อในเรื่อง"การสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง (ดื้อยา)" ถ้าเทียบหนอนที่มีความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงให้มีระดับสเกลพลัง 1-5 เหมือนปีศาจไคจู จะเทียบได้ ดังนี้
หนอนกระทู้ข้าวโพด = ไคจู ระดับ 2.5-3
หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย = ไคจู ระดับ 3-4
หนอนกระทู้หอม และหนอนใยผัก = ไคจู ระดับ 4-5
ภาพ: หนอนกระทู้หอม /หนอนหลอดหอม /หนอนหนังเหนียว ถ่ายที่ จ.อุตรดิตถ์
ภาพ: หนอนใยผักระยะฟักออกจากใข่ใหม่ๆ (หนอนวัย 1-2) บนใบคะน้า ถ่ายที่ จ.กาญจนบุรี
ภาพ: หนอนใยผักระยะเจริญพัฒนาก่อนเข้าดักแด้ (หนอนวัย 5-6) พบในคะน้า ถ่ายที่ จ.กาญจนบุรี
ช่วง 3 ปีมานี้ (ผม) พบการระบาดของหนอนกระทู้ผักในต้นกล้าปาล์มปลูกใหม่บ่อยครั้งมากในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากพืชอาหารหลักในพื้นที่อาจมีการเพาะปลูกลดลง เช่น มันเทศ และพริก โดยหนอนกัดกินใบปาล์มจนโกร๋นภายในระยะเวลาอันสั้น การกำจัดยังสามารถเลือกใช้ อีมาแมกติน 5% อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น ทาร์กี้) และ อินดอกซาคาร์บ 30% อัตรา 15-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ตัวหนอนกระทู้ผักจะสังเกตุง่าย คือเมื่อหนอนแรกฟักจากไข่เป็นตัวอ่อน จะมีสีเขียวใส แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นเขียวทึบ เมื่อตัวหนอนแก่มากขึ้นลำตัวจะมีสีน้ำตาลอมเทา มีเส้นพาดลำตัวตามแนวยาวของลำตัว ระยะนี้จะพบจุดแต้มตามลำตัวได้ แต่จุดสังเกตุสำคัญ คือตั้งแต่ระยะฟักเป็นตัวหนอนจะมีจุดสีดำข้างลำตัว 2 ฝั่ง บริเวญปล้องลำตัวข้อที่ 3 ฝั่งละ 1 จุด เมื่อตัวหนอนแก่และมีลำตัวสีน้ำตาลเทา จุด 2 จุดนี้ จะขยายยาวขึ้นเกือบพาดขวางลำตัว
เป็นหนอนที่มีพฤติกรรมดุร้ายและก้าวร้าวเช่นเดียวกับหนอนกระทู้ข้าวโพด เมื่อจับตัวหนอน ๆ จะกัดมือทันที ลักษณะของตัวหนอนจะคล้ายหนอนกระทู้ผัก หรือหนอนกระทู้หอมมาก แต่ปล้องแต่ละข้อของลำตัวจะแบ่งปล้องค่อนข้างชัดเจน และมีเส้นขนใสชัดมาก เมื่อตัวหนอนแก่ลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมดำ หลังด้านบนมีแถบสีน้ำตาลอ่อนพาดตามแนวยาวของตัว และที่ด้านข้างลำตัวจะมีเส้นแถบสีเหลืองพาดตามแนวยาว
ขยัน สุวรรณ.ไม่ระบุปีที่พิมพ์.แมลงและไรศัตรูพืชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย.ภาควิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่.494 หน้า.
ศรุต สุทธิอารมณ์ และคณะ.2557.แมลงศัตรูไม้ผล.กลุ่มบริหารศัตรูพืช /กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิชาพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การแเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.151 หน้า.
ธีราทัย บุญญะประภา, พวงผกา อ่างมณี, สุภารดา สุคนธาภิรมณ์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น และสุชลวัจน์ ว่องไวลิขิต.รายงานความก้าวหน้า ความต้านทานของหนอนเจาะสมอฝ้าย,Helicoverpa armigera (Hubner) ต่อสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชบนพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่สำคัญ Insecticide Resistance Level of Cotton Bollworn,Helicoverpa armigera (Hubner), on Important Tomato Cultivation Areas.รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2560 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.หน้า 1187-1196.
สมศักดิ์ ศิริผลตั้งมั่น และคณะ.2554.เอกสารวิชาการ แมลงศัตรูพืช เห็ด และไม้ดอก.กลุ่มบริหารศัตรูพืช /กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิชาพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.พิมพ์ ครั้งที่ 1.73 หน้า.
เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2559.การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกะหล่ำ เทคนิคการพ่นสารฆ่าแมลงในพืชผักและกลไกการต้านทานสารฆ่าแมลงของแมลงศัตรูผักที่สำคัญ.กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.จัดทำโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย.86 หน้า.
เอกสารวิชาการ.2564.การใช้สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชเพื่อแก้ไขปัญหาความต้านทานศัตรูพืช.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.146 หน้า.
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000