Logo

ธาตุเหล็ก (Iron; Fe)

Thirasak Chuchoet • July 30, 2024
อาการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)​

ลักษณะ​ใบเหลืองซีดหรือซีดขาว โดยเส้นกลางใบและเส้นใบย่อยมีสีเขียวอ่อน ซึ่งเกิดขึ้นกับใบอ่อน-ใบเพสลาด

ธาตุเหล็ก (อังกฤษ​: Iron, สัญลักษณ์​ธาตุ​: Fe)​

    ธาตุเหล็ก​ที่พืชสามารถ​ใช้ได้ มี 2 รูป​ ซึ่งอยู่ในรูปสารละลายไอออนประจุบวกสอง​ หรือไอออนประจุบวกสาม​ ดังนี้ 

    ・เฟอร์​รัสไอออน​ (Ferrous ion; Fe2+)

    ・เฟอร์​ริคไอออน (Ferric ion; Fe3+)​

[เพิ่มเติม: ไอออน​ เขียนด้วยตัวยก หลังสัญลักษณ์​ธาตุและระบุจำนวนไอออนด้านหน้าเครื่องหมายประจุไอออนบวก​ (+)​ หรือ​ ประจุไอออนลบ​ (-)​, ถ้าประจุหนึ่งบวก​ไม่นิยมเขียนเลขกำกับ​]​

    โดยทั่วไปปริมาณธาตุเหล็กที่เพียงพอต่อพืช จะมีปริมาณราว 50-250 มก.ต่อเนื้อเยื่อแห้ง 1 กก. หรือ 50-250 ppm อาการขาดธาตุเหล็กในพืชทุก​ชนิด จะแสดงอาการขาดที่ใบอ่อน​ ยอดอ่อนก่อน เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นธาตุที่เคลื่อนย้ายได้ปานกลางในต้นพืช (intermediate mobility)​

    ลักษณะ​อาการขาดธาตุ​เหล็ก คือ ใบอ่อนหรือยอดอ่อนจะมีสีเหลืองซีด และต่อมาสีจะซีดขาว​ แต่เส้นกลางใบยังมีสีเขียว​ เป็นผลมาจากขาดคลอโรฟิลล์ที่เป็น​รงควัตถุสีเขียว​ที่ใช้สำหรับการดูดกลืนคลื่นแสงเพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานชีวเคมี​ เรียกอาการใบเหลืองนี้ว่า​ อาการ​คลอโรซีส (chlorosis)​ หากอาการขาดรุนแรงและต่อเนื่อง​ อาจพบอาการขอบใบ หรือปลายใบไหม้ร่วมด้วย (die back)

[เพิ่มเติม: คลอโรฟิลล์​ หรือรงควัตถุสีเขียว​ ทำหน้าที่ดูดกลืนคลื่นแสงและเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวเคมีโดยการถ่ายทอดอิเล็กตรอน กระบวนการสังเคราะห์แสงจะได้สารอาหารให้พลังงาน​ คือ​ น้ำตาล​ โดยน้ำตาลแรกที่ได้​ คือ​ น้ำตาลไตรโอส​ (triose)​ หลังจากนั้นพืชจึงนำไปสังเคราะห์เป็นน้ำตาลกลูโคส และเปลี่ยนเป็นน้ำตาลซูโครสเพื่อลำเลียงไปยังส่วนอื่นๆ ของพืช​ รงควัตถุสีเขียว​สะท้อนแสงสีเขียว​ จึง​ไม่ดูดกลืน​แสงสีเขียว​ ดังนั้นการใช้สแลนสีเขียวพร่าง​แสงจึงไม่ควรทำ]​

สาเหตุการขาดจุลธาตุ

1. ใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสมากเกินความจำเป็น

    ปุ๋ยฟอสฟอรัสเมื่อละลายน้ำ​ จะอยู่ในรูปสารละลายไอออนฟอสเฟต​​ 3 ชนิด คือ

    ・pH ดินน้อยกว่า​ 6.8​ (ดินเป็นกรด)​: สารละลายฟอสเฟตส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสารละลายไอออนของ​ “ไดไฮโดรเจนฟอสเฟต​ (H2PO4-)”​ มีประจุลบหนึ่ง​ เป็นรูปสารละลายฟอสเฟตที่รากพืชใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

    ・pH ดินระหว่าง​ 6.8-7.2 (ดินเป็นด่างเล็กน้อย)​: สารละลายฟอสเฟตส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสารละลายไอออนของ  ​“ไฮโดรเจนฟอสเฟต​ (HPO42-)” มีประจุสองลบ

    ・pH ดินมากกว่า​ 7.2 (ดินเป็นด่าง)​: สารละลายฟอสเฟตส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสารละลาย “ไอออนฟอสเฟต​ (PO43-)” มีประจุสามลบ

    จะสังเกตได้ว่า “ฟอสฟอรัสเมื่อละลายจะมีสถานะประจุไฟฟ้าเป็นลบ”​​ ดังนั้น​ ไอออนประจุลบของฟอสเฟตจึงร่วมตัวกับไอออนของธาตุอื่นที่เป็นสารละลายไอออนประจุบวกได้ง่าย  ​เนื่องจากสารประกอบฟอสเฟต​ออกไซด์ไม่มีความเสถียร จึงจับกับธาตุประจุบวกเพื่อให้เสถียร แต่ผลที่ตามมาคือตกตะกอน เป็นผลึกเกลือฟอสเฟตและไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช

    จุลธาตุที่เมื่อละลายน้ำและมีสถานะเป็นไอออนประจุบวก​ ได้แก่

    ・ ธาตุเหล็ก​: เฟอร์​รัสไอออน​ (Fe2+)​ และเฟอร์​ริคไอออน (Fe3+)​

    ・ ธาตุสังกะสี​: ซิงค์ไอออน​ (Zn2+)​

    ・ ธาตุแมงกานีส​: แมงกานีสไอออน​ (Mn2+)​

    ・ ธาตุทองแดง: คอปเปอร์ไอออน​ (Cu2+)​

    และอีก​ 1 จุลธาตุที่ได้รับการยอมรับเป็นธาตุอาหารพืช​ คือ​ นิเกิ้ล (นิเกิ้ลไอออน​ : Ni2+)​

    นอกจากนี้ธาตุรองอย่างแคลเซียม​และแมกนีเซียม​ มีสถานะไอออนประจุบวก​เช่นกัน

    เมื่อสารละลายที่มีสถานะไอออนประจุลบและบวกอยู่ใกล้กันจะเกิดแรงดึงระหว่างสารละลายเกิดขึ้นและเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไอออนทั้ง​ 2 (แลกเปลี่ยนอิเล็กตรอนรอบนอกตามกฎออกเตด)​ เรียกพันธะที่เกิดขึ้นนี้ว่า  ​“พันธะไอออนิก (ionic bond)” กรณีฟอสเฟตกับจุลธาตุและธาตุรองก็เช่นกัน​ เมื่อเกิดการรวมกันขึ้นจะกลายเป็นผลึกเกลือของฟอสเฟตและละลายน้ำได้น้อยมาก​ จนพืชไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้​ เป็นเหตุให้พืชขาดธาตุเหล่านี้

   ・pH ดินน้อยกว่า​ 6.8​​: เกิดผลึกจุลธาตุฟอสเฟตรุนแรง

   ・pH ดินระหว่าง​ 6.8-7.2: เกิดผลึกจุลธาตุฟอสเฟตรุนแรง​ ได้แก่​ ซิงค์ฟอสเฟต​ และคอปเปอร์ฟอสเฟต​ และเกิดผลึกแคลเซียมฟอสเฟต​ และแมกนีเซียมฟอสเฟตปานกลาง

   ・pH ดินมากกว่า​ 7.2: เกิดผลึกจุลธาตุฟอสเฟตเล็กน้อย​ (เนื่องจากจุลธาตุละลายได้น้อยลง)​ เกิดผลึกแคลเซียมฟอสเฟต​ และแมกนีเซียมฟอสเฟตรุนแรง​ ยิ่งดินเป็นด่างมากยิ่งรุนแรง

[เพิ่มเติม: ฟอสเฟตไอออน​ มักรวมตัวกับธาตุอื่นในสัดส่วน​ 1 ต่อ​ 2​ หรือ​ 1 ต่อ​ 3 ทำให้ธาตุอื่นสูญเสียมาก​]​

2️. สภาพดินปลูก 

    ・กรด-ด่างของดิน​ (pH ดิน)​ : ในดินด่างที่มี​ pH มากกว่า​ 7.5​ ขึ้นไป​ ความสามารถในการละลายของธาตุสังกะสี​ เหล็ก​ แมงกานีส​ และทองแดง​ จะน้อยมาก​ ทำให้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช​ โดยเฉพาะเมื่อพืชเจริญ​เติบโต​เพิ่มขึ้น

    ・ดินเหนียว​ หรือดินที่มีโครงสร้างเป็นดินเหนียวมากกว่าดินชนิดอื่น​: ดินเหนียว​ เหนียวตามชื่อ​ คือ​ "ขี้เหนียว" ธาตุอาหารที่ละลายอยู่ในรูปสารละลายไอออนประจุบวกจะถูกดินเหนียวตรึงอยู่กับผิวดิน​ (อนุภาคดิน)​ และไม่ปลดปล่อยให้พืช​ มีเพียงรากพืชไม่กี่ชนิดที่มีความสามารถในการปล่อยกรดเอนไซม์ไปสลายแรงตรึงระหว่างดินเหนียวกับธาตุออกมาใช้ได้​ ด้วยเพราะสภาพผิวของอนุภาค​ดินเหนียวอุดมไปด้วยไอออนประจุลบมหาศาล​

    ・ดินทราย​: ดินทรายมีขนาดเม็ดดินใหญ่กว่าดินชนิดอื่นๆ​ และไม่มีคุณสมบัติในการดูดซับแร่ธาตุ​และน้ำ​ ดังนั้น​ ดินทรายจึงสูญเสียธาตุอาหารพืชได้ง่ายที่สุดและสูญเสียไวมาก

    ・ดินขาดอินทรีย์วัตถุ​: แหล่งของจุลธาตุและธาตุกำมะถัน​นอกจากได้มาจากการย่อยสลายของหินแร่แล้ว อินทรีย์​วัตถุก็เป็นแหล่งที่สำคัญเช่นกัน​ นอกจากนี้อินทรีย์​วัตถุ​ยังช่วยดูดซับแร่ธาตุและปลดปล่อยช้าๆ​ ให้กับรากพืช

3️. สภาพอากาศ​

    ช่วงที่ฝนตกชุก ฟ้าปิดต่อเนื่องนานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ จะทำให้พืชขาดธาตุอาหารได้​ โดยเฉพาะธาตุรองและจุลธาตุ​ เนื่องจากปากใบพืชปิด​ อัตราการคายน้ำลดลง​  การใช้น้ำและธาตุอาหารของรากสัมพันธ์​กับอัตราการคายน้ำ​ ดังนั้น​ ในช่วงฟ้าปิด​ ฝนไม่ตกควรพ่นธาตุอาหารเสริมทางใบ โดยเฉพาะในระยะวิกฤติของพืช​ เช่น​ ระยะมีดอก​ ผลอ่อน​ ผลกำลังขยาย​ หรือช่วงแตกใบอ่อน

การแก้ไขอาการขาดธาตุเหล็ก

    1️. กรณีใช้ปุ๋ยฟอสฟอสรัสมากเกินความจำเป็น: แก้ไขโดยงดหรือลดการใช้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง​ เช่นสูตร​ 15-15-15, 16-16-16, 17-17-17, 19-19-19, 13-13-21, 12-12-17, 8-24-24, 7-21-21, 9-24-24 เป็นต้น

    2️. สภาพดิน

    ・ดินเหนียว: ถ้า​ดินมีความเป็นด่างควรหว่านด้วย​ยิบซั่ม​ อัตรา​ 100 กรัมต่อเส้นผ่าศูนย์กลาง​ทรง​พุ่ม 1​ เมตร​ โดยหว่านหรือโรยรอบโคนต้นและเขตรากเดือนละครั้ง​ (เฉลี่ยในไม้ผล​ 180-200 กก.ต่อไร่) ถ้าดินมีความเป็นกรด​ ควรหว่าน​ด้วยโดโลไมท์ (ตัวอย่างเช่น กรีนลีฟMIC เป็นโดโลไมท์บดผงละเอียดมากกว่า 350-400 เมซ แล้วปั้นเม็ดผสมแร่จากภูเขาไฟ, เกาลีน, ซิลิกอน​ และเพอร์ไลท์ จึงมีจุลธาตุชนิดต่างด้วย)​ หว่านในอัตรา​ 100-250 กรัมต่อเส้นผ่าศูนย์กลาง​ทรง​พุ่ม 1​ เมตร​ หว่านในลักษณะเดียวกับยิบซั่ม โดยหว่านเดือนละครั้ง

*หมายเหตุ​ การหว่านยิบซั่มร่วมกับโดโลไมท์มีแนวโน้มให้ผลดีกว่าการหว่านอย่างใดอย่างหนึ่ง

    ・ดินทราย​: แก้ไขโดยการหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่หมักเป็นผงละเอียดแล้ว​ ควรหว่านในอัตราและลักษณะเช่นเดียวกับการหว่านโดโลไมท์หรือยิบซั่ม​​

    ・ดินเป็นด่างจัด เติมอินทรีย์​วัตถุ​หรือปุ๋ยอินทรีย์ และใช้ปุ๋ยไนโตรเจนจากปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (ปุ๋ยสูตร 21-0-0) ซึ่งอาจใช้วิธีผสมปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 25 กก. ร่วมกับปุ๋ยสูตร 15-5-25 อัตรา 75 กก. จะได้ปุ๋ยสูตร 17-4-19 โดยหว่านในอัตรา 100-120 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ต่อเดือน กรณีดินเป็นดินทรายควรแบ่งปุ๋ยหว่านให้ถี่ขึ้น 2-3 ครั้งต่อเดือน

    นอกจากนี้ การหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกหมักแล้ว จะช่วยเพิ่มจุลธาตุแก่ดินด้วย

    3️. เมื่อพืชเริ่มแสดงอาการขาดจุลธาตุ​ ควรพ่นจุลธาตุทางใบในอัตราสูงและถี่กว่าอัตราแนะนำการใช้จุลธาตุทั่วไป ซึ่งจะสามารถแก้ไขอาการขาดจุลธาตุได้เร็วที่สุด​ เนื่องจากเป็นธาตุที่พืชต้องการน้อยมาก​แต่มีความสำคัญ​ การพ่นจุลธาตุทางใบแม้พืชจะดูดซึมได้น้อยแต่ก็เพียงพอต่อความต้องการ​ หากสามารถแยกอาการขาดจุลธาตุได้ ควรเลือกใช้จุลธาตุเฉพาะตัวให้ตรงกับอาการขาดที่พบ​ หรือหากไม่สามารถแยกอาการได้ควรเลือกใช้จุลธาตุรวม​ 7-8 ชนิด (โดยทั่วไปมักพบอาการขาดจุลธาตุเหล็ก สังกะสี และแมงกานีสร่วมกัน)

    กรณี ขาดธาตุเหล็ก พ่นด้วย เหล็กอีดีทีเอ 13% อัตรา​ 30-40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 4-7 วัน จนกว่าอาการจะทุเลา 

    อนึ่ง​ หากอาการขาดธาตุเหล็กรุนแรง​ ร่วมกับขาดจุลธาตุอื่นๆ แนะนำพ่นจุลธาตุรวม​ 7-8 ชนิด อัตรา 30-40 กรัม ร่วมกับเหล็กอีดีทีเอ 13% อัตรา​ 20-30 กรัม​ ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก​ 4-7 วัน

แหล่งสืบค้น:

   ลิลลี่ กาวีต๊ะ และคณาจารย์.2560.สรีรวิทยาของพืช.พิมพ์ครั้งที่ 4; กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.270 หน้า.

   ยงยุทธ โอสถสภา.2558.ธาตุอาหารพืช.พิมพ์ครั้งที่ 4; กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.548 หน้า.

   สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์.2544.สรีรวิทยาของพืช Plant physiology.พิมพ์ครั้งที่ 4; กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.237 หน้า.

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: