Logo

กลไกออกฤทธิ์สารกำจัดแมลง ตอนที่ 4

Thirasak Chuchoet • July 4, 2024
กลไกการออกฤทธิ์​ของสารกำจัดแมลง​ ตอนที่​ 4

คอนเซ็ปต์​กลไกการออกฤทธิ์​ ณ​ ตำแหน่งจับ​ (Concept of binding site) 

   เนื้อหาต่อไปนี้จะกล่าวถึงกลไกออกฤทธิ์​​โดยสังเขป​ ซึ่งเป็นหลักการที่ครอบคลุม​การทำงานของสารเคมีกำจัดแมลง​ โรคพืช​ วัชพืช​ และจุลินทรีย์บางชนิดที่มีการศึกษาแล้ว​ โดยเนื้อหาจะเน้นไปที่สารกำจัดแมลง

ความหมายและนิยาม

    ความหมายและนิยามต่างๆ​ ที่เกี่ยวข้อง​กับกลไกออกฤทธิ์​ของสารกำจัดศัตรูพืช​ ณ​ จุดจับ​ (site of action หรือ​ target site)

   สารออกฤทธิ์​ (Active ingredient หรือ ai.)

    สารออกฤทธิ์​ คือ​สารใดๆ​ ที่แทรกซึม​ ดูดซึม​ หรือซึมผ่านเข้าสู่ภายในร่างกายของศัตรูพืช​และวัชพืช​ แล้วมีผลต่อการยับยั้งหรือกระตุ้นการทำงานของกระบวน​การต่างๆ​ ภายใน​ที่จุดจับ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องต่อเมตาบิลิซึม​ (metabolism)​ หรือปฏิกิริยาบางประการ​ (reaction) จนทำให้กระบวนการดังกล่าวผิดปกติไปจากเดิม​หรือเกิดความเป็นพิษ

   ระบบอวัยวะภายในแมลง​ (Internal system) 

    ระบบอวัยวะภายในของแมลงที่เกิดกระบวนการต่างๆ​ มากมาย​ ส่งผลให้แมลงเจริญพัฒนาและดำรงชีวิตอยู่ได้​ สารกำจัดแมลงจะแบ่งคุณสมบัติ​การออกฤทธิ์​ต่อระบบเหล่านี้​ก่อน​ แล้วจึงระบุกลไกออกฤทธิ์​ย่อยลงไปในระดับโมเลกุลของจุดจับ​

    สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช​ แบ่งการออกฤทธิ์​ออกเป็น​ 4 ระบบ​ และ​อีก​ 1 ที่ยังไม่ทราบชัดเจน​ คือ

    1. ออกฤทธิ์​ต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ​ (nerve and muscle system) 

    2. ออกฤทธิ์​ต่อระบบการหายใจในระดับเซลล์เพื่อสร้าง​พลังงาน​ (cellular respiration)​

    3. ออกฤทธิ์​ต่อระบบการเจริญ​พัฒนา​ (growth system หรือ​ growth regulating system) 

    4. ออกฤทธิ์​ต่อระบบทางเดินอาหารส่วนกลาง​ (midget system) 

    5. ยังไม่ทราบกลไกออกฤทธิ์​ (unknow)​

ภาพ: การออกฤทธิ์ต่อระบบอวัยวะภายในของแมลง ที่มี 4 ระบบ และกลุ่มสารที่ยังไม่ทราบกลไกออกฤทธิ์

   ตำแหน่งออกฤทธิ์​ หรือตำแหน่งเป้าหมาย​ (site of action หรือ​ target site)​

    ตำแหน่งออกฤทธิ์​ (site action)​ หรือตำแหน่งเป้าหมาย​ (target site)​ คือตำแหน่งที่สารกำจัดแมลง​เข้าไปทำปฏิกิริยาจนตำแหน่งดังกล่าวทำงานผิดปกติ ส่งผลให้กระบวนการดำรงชีวิตของแมลงไม่สามารถดำเนินไปโดยปกติ เกิดความเป็นพิษ เป็นอัมพาตและตาย

    สารกำจัดแมลงที่ออกฤทธิ์ต่อตำแหน่งออกฤทธิ์เดียวกันแต่มีกลไกจุดจับ (binding site) คนละตำแหน่ง จะจำแนกเป็นกลุ่มสารกำจัดแมลงคนละกลุ่ม

    ส่วนสารกำจัดแมลงที่มีกลไกจุดจับที่ตำแหน่งเดียวกันและถึงแม้จะมีโครงสร้างเคมีต่างกัน​ จะจำแนกเป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มเดียวกัน โดยจะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย​ (subgroup) เช่น

   สารกำจัดแมลง​ กลุ่ม​ 1: มีตำแหน่งออกฤทธิ์ตรงช่องว่างระหว่างปลายแอกซอนกับปลายเดนไดรต์ของเส้นประสาทและมีจุดจับที่เอนไซม์อะซีทิลโคลีนเอสเทอเรส​ (AChE)​ ที่อยู่บริเวณปลายประสาท​เดนไดรต์ส่วนรับ​ (postsynaptic neuron) แบ่งออกเป็น​ 2 กลุ่มย่อย​ ได้แก่

     -​ กลุ่มย่อย​ 1A มีโครงสร้างเคมีเป็น  "กลุ่มสารเคมีคาร์บาเมท"​ เช่น​ คาร์บาริล​ ฟีโนบูคาร์บ​ เบนฟูราคาร์บ​ สารในกลุ่มนี้ที่ห้ามใช้ในประเทศไทย​ เช่น​ เมโทมิล​ (แลนเนท)​ คาร์โบฟูแรน (ฟูราดาน)​ คาร์โบซัลเฟน​ เป็นต้น​

     -​ กลุ่มย่อย​ 1B​ มีโครงสร้างเคมีเป็น  "กลุ่มสารเคมีออร์กาโนฟอสเฟต"​ เช่น​ โปรฟีโนฟอส​ ไดคลอวอส​ ไตรอะโซฟอส​ ไดอะซินอน​ โปรไทโอฟอส​ พิริมิฟอส-เมทิล เฟนโทเอต​ โอเมโทเอต​ ไดเมโทเอต​ มาลาไทออน​ อีไทออน​ เฟนิโตรไทออน​ สารในกลุ่มนี้ที่ห้ามใช้ในประเทศไทย​ เช่น​ โมโนโคลโตฟอส​ ไดโคลโตฟอส​ อะซีเฟต​ เมทามิโดฟอส​ อีพีเอ็น​ คลอไพริฟอส​ เป็นต้น

   สารกำจัดแมลงกลุ่ม​ 12​: มีตำแหน่งออกฤทธิ์เยื่อหุ้มชั้นในของไมโตคอนเดรีย​ (mitochondria)​ ซึ่งเป็นอวัยวะระดับเซลล์​ (organelle) และมีจุดจับที่เอนไซม์เอทีพี​ (ATP​ synthase)​ แบ่งออกเป็น​ 4 กลุ่มย่อย​ ได้แก่

     -​ กลุ่มย่อย​ 12​A โครงสร้างเคมีเป็น  "กลุ่มสารเคมีไดอะเฟนไทยูรอน"​ (ไม่มีจำหน่ายในไทย)​

     - กลุ่มย่อย​ 12B โครงสร้างเคมีเป็น  "กลุ่มสารเคมีออร์กาโนติน"​ เช่น​ เฟนบูทาตินออกไซด์​

     -​ กลุ่มย่อย​ 12C โครงสร้างเคมีเป็น  "กลุ่มสารเคมีซัลไฟท์เอสเทอร์​" ​เช่น​ โพรพาร์ไกต์

     -​ กลุ่มย่อย​ 12D โครงสร้างเคมีเป็น  "กลุ่มสารเคมีเตตระไดฟอน​" เช่น​ เตตระไดฟอน

ภาพ: (ฝั่งซ้าย) เส้นประสาท และส่วนประกอบต่างๆ, (ฝั่งล่างขวา) ภาพขยายบริเวณปลายเส้นประสาทแอกซอนกับปลายเซลล์ประสาทเดนไดรต์ โดยตรงกลางเป็นช่องว่าง

ภาพ: ตำแหน่งออกฤทธิ์ (site action) ซึ่งเป็นช่องโปรตีนที่แทรกตัวอยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์ในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

    จุดจับ​ (binding site)

    จุดจับ หรือตำแหน่งจับ​ (binding site)​​ คือจุดที่โมเลกุลของสารกำจัดแมลง​เข้าไปจับ​ โดยสารกำจัดแมลง​แต่ละชนิดจะมีความจำเพาะเจาะจง (specificity) ต่อจุดจับ หากโมเลกุลของสารกำจัดแมลงไปสัมผัสกับตำแหน่งอื่นๆ จะไม่สามารถจับหรือทำปฏิกิริยาได้และไม่เกิดความเป็นพิษต่อแมลง เป็นไปตามกฎความจำเพาะของลูกกุญแจกับแม่กุญแจ  (ดูภาพประกอบ: จุดออกฤทธิ์หรือจุดจับของสารกำจัดศัตรูพืช) ส่วนมากจุดจับที่เป็นเป้าหมายของสารกำจัดแมลง​จะเป็นองค์ประกอบของโปรตีน​ที่แทรกตัวอยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์​ โดยโปรตีนเหล่านี้มีบทบาทต่อเซลล์แตกต่างกันไป​ ดังนี้

   1. โปรตีนที่แทรกตัวอยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์ (intergral protein หรือ intrinsic protein)

       1.1 ช่องโปรตีน (protein channel)​: ทำหน้าที่เป็นช่องผ่านไอออน​ชนิดต่างๆ และมีความจำเพาะต่อชนิดของไอออน ได้แก่

       -​ ช่องผ่านที่ควบคุมด้วยศักย์เคมีไฟฟ้า​ (voltage-gated channel)​ ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความเกี่ยวข้องต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ​ ในกระบวนการถ่ายทอด​ (ส่ง)​ กระแสประสาท​ (impulse) ช่องผ่านนี้ควบคุมโดยความต่างศักย์ของไฟฟ้าภายในเซลล์ประสาทกับภายนอกเซลล์ประสาท[1]​ ที่เยื่อหุ้ม​เซลล์​ เป็นช่องผ่านที่มีประตู (gate) เปิด-ปิด

       -​ ช่องผ่านที่ควบคุมด้วยตัวกระตุ้น​ (ligand gated​ channel) ส่วนใหญ่กล่าวถึงกลไกการถ่ายทอดกระแสประสาทเช่นกัน​ โดยโปรตีนช่องผ่านนี้จะแทรกตัวอยู่ตามบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ส่วนปลายตัวรับ​ (postsynaptic​ neuron)​ ของเดนไดรต์​ ทำหน้าที่รับสารสื่อประสาทจากเส้นประสาทที่อยู่ก่อนหน้า[1], [2] ช่องผ่านนี้จะประกอบรวมตัวกันขึ้นจากโปรตีนหน่วยย่อย (subunit protein) แต่ละหน่วยย่อยมีลักษณะคล้ายเป็นพู เช่น หน่วยย่อยอัลฟา (α subunit) หน่วยย่อยเดลต้า (δ subunit) หน่วยย่อยเบต้า (β subunit) หน่วยย่อยแกมม่า (γ subunit) เป็นต้น หน่วยย่อยเหล่านี้บางหน่วยจะทำหน้าที่เป็นตัวรับสารกระตุ้นหรือสารสื่อประสาท (receptors) โดยช่องผ่านที่ควบคุมด้วยตัวกระตุ้นแต่ละชนิดจะมีความจำเพาะต่อสารกระตุ้น (กฏลูกกุญแจกับแม่กุญแจ) ทำหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดช่องผ่าน 

     1.2 โปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวพา​หรือลำเลี้ยงสารบางชนิดเข้าสู่เซลล์​ (carrier protein) ที่เกี่ยวข้อง เช่น​ บริเวณเยื่อหุ้มกระเพาะส่วนกลางของแมลง​หรือหนอน​ โดยสารกำจัดแมลงกลุ่ม​ 11​ ได้แก่​ เชื้อบี​ที​ (บาซิลัส​ ทูริงเยนซีส)​

     1.3 โปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญาณ​หรือกระตุ้นการทำงาน​ (signal or stimulate protein) เช่น​ โปรตีนที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ​เกี่ยวกับฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโต​

     1.4 โปรตีนที่เป็นเอนไซม์และ​โคเอนไซม์ (enzyme และ coenzyme) เช่น กลุ่มของเอนไซม์และโคเอนไซม์ที่ทำหน้าที่รับและส่งอิเล็กตรอนในกระบวนการหายใจระดับเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงพลังงาน (energy conversion) หรือกระบวนการถ่ายทอดอิเล็กตรอนเพื่อสร้างพลังงาน (electron transport chain: ETC) ได้แก่ กลุ่มเอนไซม์คอมเพล็กซ์ 1, 2, 3 และ 4 (complex I, II, III และ IV) เอนไซม์เอทีพีซินเทส (ATP synthase หรือบางครั้งเรียก complex V) โคเอนไซม์ คิว (coenzyme Q) ควิโนน​ (Quinone) ไซโตโครม ซี (cytochrome C) เป็นต้น

   2. โปรตีนที่เกาะอยู่ชั้นนอกของเยื่อหุ้มเซลล์ (periferal protein หรือ extrinsic protein)

        โปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นเอนไซม์​ (enzyme protein) มีเอนไซม์หลายชนิดที่เป็นเป้าหมายของสาร​กำจัดแมลง​ เอนไซม์เป้าหมาย​เหล่านี้เกาะอยู่ชั้นนอกเยื่อหุ้มเซลล์​ เช่น​ เอนไซม์​อะซีทิลโคลีน​เอสเทอเรส (acetylcholinesterase: AChE) เป็นต้น

ภาพ: ช่องโปรตีนชนิดต่างๆ ที่เป็นตำแหน่งออกฤทธิ์ของสารกำจัดแมลง

ภาพ: จุดออกฤทธิ์หรือจุดจับของสารกำจัดศัตรูพืช

   สารกำจัดแมลงที่เป็นพิษต่อเมื่อผ่านการย่อยสลาย (proinsecticide)

    proinsecticide เป็นสารที่ไม่มีความเป็นพิษต่อแมลงจนกว่าเอนไซม์หรือน้ำย่อยภายในแมลงจะย่อยสลายสารกำจัดแมลง หลังจากนั้นสารที่ถูกย่อยจะเป็นพิษต่อแมลง เช่น สารกำจัดแมลงกลุ่ม 11 (เชื้อบีที) กลุ่ม 12A (ไดอะเฟนไทยูรอน) กลุ่ม 13 (คลอฟีนาเพอร์) กลุ่ม 14 (คาร์เทปไฮโดรคลอไรด์, เบนซัลแทป) กลุ่ม 22A (อินดอกซาคาร์บ) กลุ่ม 25A (ไซฟลูมีโทเฟน, ไซอีโนไพราเฟน)

   ความทนทาน (insecticide tolerance) และความต้านทานหรือดื้อยา (insecticide resistance)

    เป็นผลมาจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มเดิมต่อเนื่องโดยไม่มีการสลับกลุ่มหรือใช้ต่อเนื่องมากเกินไป เป็นผลให้แมลงสร้างเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องต่อการย่อยสลายสารพิษ (detoxification enzymes) บางชนิดมากขึ้นหรือมีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อสลายสารกำจัดแมลง จนสารนั้นไม่เพียงพอต่อการก่อพิษ หรือเกิดการกลายพันธุ์ของยีน (mutation) ที่ควบคุมการแสดงออกหรือกำหนดคุณลักษณะโมเลกุลของจุดจับ​ (binding site)​ หรือจุดออกฤทธิ์​ (site action) จนสารกำจัดแมลงไม่สามารถจับ ยึด หรือเกาะจุดจับนั้นได้หรือจับได้น้อยลง สารกำจัดแมลงจึงไม่เกิดความเป็นพิษ

    การประเมิณความทนทานและความต้านทานของแมลงศัตรูพืช จะใช้ค่า LC50 หรือ LD50 เป็นค่าวัดระดับความต้านทาน (resistance ration) โดยนำค่า LC50 หรือ LD50 ของแมลงที่ต้องการทดสอบ หารด้วยค่า LC50 หรือ LD50 ของแมลงที่อ่อนแอ โดยประเมิณ ดังนี้

    - ค่าที่ได้ 2-5 เท่า = ปกติ

    - ค่าที่ได้ 5-7 เท่า = ทนทาน

    - ค่าที่ได้ 7-9 เท่า = ทนทานมาก

    - ค่าที่ได้เท่ากับหรือมากกว่า 10 เท่า = ต้านทาน (ดื้อยา)

    การประเมิณระดับความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง (Resistance factor: RF)[3] แบ่งระดับการดื้อยาไว้ ดังนี้ (Ahmad et al., 2007 และ Ahmad and Mehmood, 2015) 

    ค่า RF = < 1 ไม่มีความต้านทาน (None, N)

    ค่า RF = >1-10 มีความต้านทานต่ำมาก (Very Low, VL)

    ค่า RF = >10-20 มีความต้านทานต่ำ (Low, L)

    ค่า RF = >20-50 มีความต้านทานปานกลาง (Moderate, M)

    ค่า RF = >50-100 มีความต้านทานสูง (High, H)

    ค่า RF>100 มีความต้านทานสูงมาก (Very High, VH)

ภาพ: กลไกการสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง ที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณหรือประสิทธภาพของเอนไซม์ย่อยสลายสารพิษ และการกลายพันธุ์ที่จุดจับของสารกำจัดแมลง

   ค่า LC50 และ LD50 (lethal concentration 50 และ lethal dose 50)

    ค่า LC50 หมายถึง ระดับความเข้มข้นของสารกำจัดศัตรูพืชที่มีผลทำให้ศัตรูพืชเสียชีวิต 50% จากจำนวนทั้งหมดของศัตรูพืชทดลอง มีหน่วยเป็น ppm หรือ มิลลิกรัมของสารออกฤทธิ์ต่อ 1 ลิตร เป็นระดับความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ที่ทำให้ศัตรูพืชทดสอบ 100 ตัว เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ตัว โดยค่า LC50 ไม่ตายตัว อาจเปลี่ยนไปได้ภายหลังมีการใช้สารออกฤทธิ์นั้นๆ ไประยะหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างความทนทานหรือความต้านทานต่อสารออกฤทธิ์ ตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยเรื่องการระบาดเพิ่มของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว (Yang Gao et al, 2023) ก่อนการทดสอบการระบาดเพิ่มได้ทดสอบหาค่า LC50 ของสารอีมาแมกตินเบนโซเอต (EB) ก่อนที่จะเลือกทดสอบระดับเข้มข้นของ EB ที่ส่งผลต่อการระบาดเพิ่ม โดยไม่เลือกใช้ค่า LC50 ที่เคยมีอยู่เดิม

    นอกจากการใช้ค่า LC50 แล้ว ในการทดสอบประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูในห้องปฏิบิติการหรือในแปลงเพาะปลูก ยังมีการใช้ค่า LC80 และ LC90 ด้วย

    ค่า LD50 หมายถึง ปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่สัตว์ทดลอง[4] ได้รับเข้าสู่ร่างกาย โดยการกิน การสัมผัสทางผิวหนังหรือดวงตา แล้วทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งในกลุ่มทดลอง ค่า LD50 มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม หรือกรัมของสารออกฤทธิ์ต่อน้ำหนักของสัตว์ทดลองเป็นกิโลกรัม เช่น 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กก. และนำค่าที่ได้มากำหนดความเป็นพิษเฉียบพลันเมื่อได้รับสารออกฤทธิ์ มีสัญลักษณ์เป็นแถบสีอยู่ด้านล่างของฉลากสารกำจัดศัตรูพืช มี 3 แถบสี 4 ความหมาย ดังนี้

   1. แถบฉลากสีแดง มีเครื่องหมายรูปกะโหลกไขว้ เขียนกำกับว่า "พิษร้ายแรงมาก"

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก สำหรับของแข็งและของเหลว น้อยกว่า 5 และ 20 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ) 

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางผิวหนัง ของแข็งและของเหลว น้อยกว่า 10 และ 40 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ)

   2. แถบฉลากสีแดง มีเครื่องหมายรูปกะโหลกไขว้ เขียนกำกับว่า "พิษร้ายแรง"

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก สำหรับของแข็งและของเหลว เท่ากับ 5-50 และ 20-200 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ) 

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางผิวหนัง ของแข็งและของเหลว เท่ากับ 10-100 และ 40-400 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ)

   3. แถบฉลากสีเหลือง มีเครื่องหมายรูปกากบาท เขียนกำกับว่า "อันตราย"

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก สำหรับของแข็งและของเหลว เท่ากับ 50-500 และ 200-2,000 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ) 

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางผิวหนัง ของแข็งและของเหลว เท่ากับ 100-1,000 และ 400-4,000 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ)

   4. แถบฉลากสีน้ำเงิน เขียนกำกับว่า "ระวัง"

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก สำหรับของแข็งและของเหลว มากกว่า 500 และ 2,000 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ)

        มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางผิวหนัง ของแข็งและของเหลว มากกว่า 1,000 และ 4,000 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. (ตามลำดับ)

        ปัจจุบัน สารกำจัดศัตรูพืชที่มีค่าความเป็นพิษระดับแถบฉลากสีแดง จะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อจัดจำหน่ายแล้ว โดยค่าความเป็นพิษเฉียบพลันยิ่งน้อยยิ่งมีความเป็นพิษต่อผู้ปฏิบัติใช้งานมาก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืชเลยว่า“แถบฉลากสีแดงกำจัดแมลงได้ดีกว่าแถบฉลากสีเหลืองหรือสีน้ำเงิน”

ภาพ: ระดับความเป็นพิษเฉียบพลันของสารกำจัดศัตรูพืช ที่มาจากค่า LD50

[1] การถ่ายทอดกระแสประสาท​ เป็นการส่งกระแสประสาทในทิศทางเดียว​ภายในเซลล์เส้นประสาท​ (synapse)​ โดยการเหนี่ยวนำของศักย์ไฟฟ้าบวก​ และจากเส้นประสาทหนึ่งไปยังเส้นประสาทถัดไป (คล้ายการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า​ จากขั้วลบไปขั้วบวก​ หรือจากจุดศักย์ไฟฟ้าลบสูงไปยังจุดศักย์ไฟฟ้าลบต่ำกว่า)​ โดย​อาศัยช่องโปรตีนที่แทรกตัวอยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์​เป็นช่องทางผ่านของไอออนประจุบวก​ เพื่อกระตุ้นเกิดกระแสประสาทและเหนี่ยวนำการถ่ายทอดกระแสประสาท​ เช่น​ โซเดียมไอออน​ (Na2+)​ โพแทสเซียม​ไอออน​ (K+)​ แคลเซียม​ไอออน​ (Ca2+)​ คลอไรด์ไอออน​ (Cl-)​ ซึ่งอาศัยความต่างศักย์ของไอออน​ (ion gradient) ในภาวะปกติภายในเซลล์จะมีไอออนประจุลบอยู่มาก​ และมีค่าไฟฟ้าราว​ -​70​ mV การไหลเข้าสู่ภายในเซลล์ของไอออนประจุบวกจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นราว​ -​60 mV​ (เมื่อเกิดสิ่งเร้า) ซึ่งทำให้เริ่มขั้นตอนกระตุ้นกระแสประสาท​ และจะเพิ่มขึ้นไปถึงราว​ +50mV เมื่อเกิดกระแสประสาทและส่งกระแสประสาทไปยังจุดถัดไปบนเซลล์ประสาท​ (เส้นเดิม)​ จะเกิดการกระตุ้นจุดถัดไปโดยไอออนบวก​ ส่วนจุดเดิมค่าไฟฟ้าจะลดลง​ แต่ยังมีค่าไฟฟ้าบวกอยู่​ จึงทำให้กระแสประสาทไหลไปทิศทางเดียว​ ต่อจากนั้นจุดแรกของกระแสประสาทจึงกลับมามีค่าไฟฟ้า​ -​70 mV​ ตามเดิม​ ด้วยการปั้มไอออนประจุบวกออกนอกเซลล์เส้นประสาทผ่านโปรตีนช่องโซเดียมปั้ม​ และโปรตีนช่องโพแทสเซียม​ปั้ม​ (Na​2+ pump or Na2+/K+ pump channel)

[2] กระแสประสาทเมื่อถ่ายทอดไปสุดปลายเส้นประสาท​ ​(presynaptic neuron)​ แล้ว​ จะมีปลายเส้นประสาทตัวรับเดนไดรต์​ (dendrite)​ ของเส้นประสาทถัดไปเป็นตัวรับกระแสประสาท​ (postsynaptic​ neuron)​ เส้นประสาท​ 2 เส้นนี้ไม่ได้เชื่อมติดกัน​ แต่จะมีช่องว่างระหว่างเส้นประสาท​ (synaptic cleft) โดยกระแสประสาทจะไม่สามารถส่งไปยังเส้นถัดไปได้โดยตรง​ แต่จะอาศัยสารสื่อประสาท​ (neurotransmitter) จากปลายประสาทก่อนหน้าส่งออกไปยังโปรตีนช่องผ่านตัวรับที่แทรกตัวอยู่ในเยื่อหุ้ม​เซลล์​ประสาท​ ช่องผ่านตัวรับ​จะเปิดช่องให้ไอออนไหลเข้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสประสาทต่อไป

ภาพ: การถ่ายทอดกระแสประสาท และภาพรวมกลุ่มสารกำจัดแมลงที่ออกฤทธิ์ ณ ตำแหน่งต่างๆ

[3] ตัวอย่างแมลงที่ดื้อยา เช่น 

  หนอนใยผัก สร้างความต้านทานต่อสาร spinetoram มากกว่า 100 เท่า ในเขตสุพรรณบุรีและเพชรบุรี ช่วงปี พ.ศ. 2555-2557, เขตสุพรรณบุรี กาญจนบุรี สระบุรี ราชบุรี นนทบุรี อยุธยา อ่างทอง นครปฐมและเพชรบุรี สร้างความต้านทานต่อสาร indoxacarb มากกว่า 100 เท่า

  ไรสองจุดในสตรอว์เบอร์รี สร้างความต้านทานต่อสาร pyridaben, propargite มากกว่า 60 เท่า และสร้างความต้านทานต่อสาร spiromesifen มากกว่า 40 เท่า ในเขต จ.เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2562

[4] สัตว์ทดลอง ได้แก่ หนู หนูตะเภา กระต่าย เป็นต้น

แหล่งสืบค้น:

    เทพชัย โชติมณี.2565.360 Concepts in Biology Part 1.พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : กรีนไลฟ์ พริ้นติ้ง เฮาส์.280 หน้า

    ประศาสตร์ เกื้อมณี.2560.เซลล์และเนื้อเยื่อพืช Plant Cell and Tissue.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.200 หน้า

    สุเทพ สหายา.2561.รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง และไรศัตรูพืช.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ.108 หน้า.

    อาคม สังข์วรานนท์.2538.กีฏวิทยาทางการแพทย์.ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 4; โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง.นนทบุรี.968 หน้า.

    คู่มือผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร.2566.พิมพ์ครั้งที่ 1.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.183 หน้า.

    เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2560.เทคนิคการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช.กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.119 หน้า.

    เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2559.การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกะหล่ำ เทคนิคการพ่นสารฆ่าแมลงในพืชผักและกลไกการต้านทานสารฆ่าแมลงของแมลงศัตรูผักที่สำคัญ.กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.จัดทำโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย.86 หน้า.

    เอกสารวิชาการ.2564.การใช้สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชเพื่อแก้ไขปัญหาความต้านทานศัตรูพืช.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.146 หน้า.

    IRAC.2019.Insecticide Mode of Action Training slide deck IRAC MoA Workgroup Version 1.0, April 2019.

    (https://irac-online.org)

    IRAC.2024.MODE OF ACTION CLASSIFICATION SCHEME VERSION 11.1, JANUARY 2024.

    (https://irac-online.org)

    Yang Gao et al.Pesticide-induced resurgence in brown planthopper is mediated by action ona suite of genes that promote juvenile hormone biosynthesis and female fecundity.October 7, 2023 eLife.Page 1-41.

https://doi.org/10.7554/eLife.91774.1

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: