ไรสนิมส้ม (Citrus rust mite: Phyllocoptruta oleivora Ashmead) เป็นไรศัตรูพืชในวงศ์อิริโอไฟอิดี้ (Family: Eriophyidae) หรือวงศ์ไรสี่ขา[1] อยู่ในอันดับย่อยแอคติเนดิด้า (sub-order; Actinedida)
ไรสนิมส้มเป็นศัตรูพืชที่แพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว หรือภูมิอากาศชื้น สภาพอากาศเย็นในช่วงกลางคืนถึงเช้าและมีหมอก ในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งการระบาดจะลดลง แต่ในปัจจุบันแมลงและไรศัตรูพืชหลายชนิดปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในภาวะโลกเดือดมากขึ้น เพื่อการอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์ ดังนั้น อาจมีความเป็นไปได้ว่าไรสนิมส้มเองก็ปรับพฤติกรรมเช่นกัน เนื่องจากในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. (พ.ศ. 2567) ที่ผ่านมาพบการระบาดพบสมควรในพื้นที่ปลูกส้มโอ จ.นครศรีธรรมราช
ไรสนิมส้มเป็นศัตรูที่สำคัญของพืชตระกูลส้ม-มะนาว โดยเฉพาะส้มโชกุน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และพบบางในมะนาว โดยทั้งตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จะดูดทำลายใบและผล นอกจากนี้ในกิ่งก้านที่ยังมีสีเขียวก็อาจพบการเข้าทำลายได้เช่นกัน
การเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบของไรสนิมส้ม มักพบไรชนิดนี้อาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบมากกว่าหน้าใบ แต่บางครั้งก็พบตามหน้าใบด้วยเช่นกัน ในส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้งจะทำให้หน้าใบเป็นปื้นสีดำ ใบสูญเสียคลอโรฟิลล์ที่ใช้สังเคราะห์แสง
ภาพที่ 1: ลักษณะการเข้าทำลายของไรศัตรูพืชจะพบคราบฝุ่นละเอียดสีขาว
ภาพที่ 2: ใบส้มเกิดรอยปื้นสีดำระหว่างเส้นใบ ที่เกิดจากไรสนิมส้ม
ภาพที่ 3: ใบส้มเกิดรอยปื้นสีดำระหว่างเส้นใบที่เกิดจากไรสนิมส้ม เมื่อนานวันรอยปื้นจะแข็งและนูนขึ้นเล็กน้อย
สำหรับการเข้าทำลายผลนั้น พบว่า ไรสนิมส้มสามารถเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลได้ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาผล ตั้งแต่ผลอ่อนจนถึงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว แต่จะพบมากในช่วงผลเริ่มสร้างเปลือกหนาขึ้นหรือเมื่อผลอายุตั้งแต่ 1-1.5 เดือนขึ้นไป เนื่องจากระยะนี้การแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟลดลง[2] การเข้าทำลายผลจะเริ่มจากฝั่งของผลที่อยู่ด้านในของทรงพุ่มก่อน ต่อมาจึงขยับมายังด้านที่แสงส่องถึงเมื่อระบาดมาก ในผลส้มที่ติดผลเป็นช่อไรสนิมส้มจะเข้าทำลายตรงช่องระหว่างผลที่ติดกันก่อน ทำให้สังเกตุเห็นอาการถูกทำลายได้ยาก
ในระยะแรกๆ ด้านผลส้มที่ถูกทำลายจะแลดูผิวซีดจางลงเล็กน้อย ผิวไม่มันวาว ผิวกระด้าง ในผลส้มขนาดเล็กอาจพบคราบสีขาวคล้ายฝุ่นละอองละเอียด ซึ่งเป็นคราบที่เกิดจากการลอกคราบของตัวอ่อน เมื่อระบาดมากขึ้นหรือในผลส้มที่อายุมากผิวจะเป็นปื้นสีน้ำตาลอมแดง สีแดงสนิมและขยายวงปื้นออกไปเรื่อย ๆ ค่อนข้างเป็นวงทรงกลม (russeting) ต่อเมื่อนานเข้าคราบรอยปื้นนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ในสภาพอากาศร้อนและแล้ง หรือขาดน้ำรอยปื้นดำจะตกกระ เป็นร่องแตกลายงา หากผลการระบาดรุนแรงตั้งแต่ผลส้มยังเล็กจะทำให้ผลชะงักการขยายขนาด ผลเล็กกว่าปกติ
สำหรับผลส้มและส้มโอ ที่ถูกไรสนิมเข้าทำลายมักพบว่าคุณภาพรสชาติของผลยังมีรสหวาน รับประทานได้แต่ผิวแลดูไม่น่ารับประทานและไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
ภาพที่ 4: ผลส้มที่ถูกไรสนิมดูดกินน้ำเลี้ยง และพบการระบาดรุนแรง
ภาพที่ 5: รอยปื้นสีดำที่เกิดจากไรสนิม เมื่อนานวันหรือส้มขาดน้ำจะเกิดกระตกกระ แตกเป็นลายงา
ภาพที่ 6: ผิวกระตกกระและแตกเป็นลายงา จากการเข้าทำลายของไรสนิมส้ม
ภาพที่ 7: รอยปื้นสีน้ำตาลเข้ม, บางครั้งเป็นสีแดงสนิม จากการเข้าทำลายของไรสนิมส้ม
ภาพที่ 8: ไรสนิมส้มจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลฝั่งที่เป็นร่มเงาก่อนหรือฝั่งที่ผลอยู่ชิดกัน
ภาพที่ 9: หากไรสนิมส้มระบาดรุนแรง อาจพบเข้าทำลายผลที่อยู่ปลายทรงพุ่มด้วย
ไรสนิมส้ม มีรูปร่างคล้ายหนอนตัวป้อมสั้น มีขนาดเล็กมากและไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่มีขนาดความยาวเพียง 160 ไมครอน กว้าง 60-65 ไมครอน ลำตัวเป็นปล้องมีสีเหลือง ด้านหน้ากว้างกว่าส่วนท้าย มีขา 2 คู่อยู่ส่วนหน้า ตัวเต็มวัยเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของแมลงและไรศัตรูพืช
จากการศึกษาของ อังศุมาลย์ (พ.ศ. 2530) ระบุว่า จากระยะไข่พัฒนาเป็นตัวเต็มวัยใช้ระยะเวลาราว 7-8 วัน ภายใต้สภาพอากาศโดยประมาณที่อุณภูมิ 28 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 50-60% แต่ในสภาพภูมิอากาศปัจจุบันอาจใช้ระยะเวลาพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยเร็วกว่านี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้เวลา 7-8 วันหรือน้อยกว่านี้การพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืชยังคงต้องสลับกลุ่มสารกำจัดไรศัตรูพืชตามกลไกออกฤทธิ์ทุกครั้งที่พ่นยา
วงจรชีวิตของไรสนิมส้มเหมือนกับไรศัตรูพืชชนิดอื่นในวงศ์ไรสี่ขา กล่าวคือ ประกอบไปด้วยช่วงวัย 4 วัย และมีระยะพักตัว 2 ช่วง แต่อายุอาจแตกต่างกันบางเล็กน้อย บวก/ลบ อาจไม่เกิน 1 วัน โดยวงจรชีวิตมีดังนี้
ตัวเต็มวัย หรือตัวแก่ (adult): ไรสนิมส้มเพศผู้ มีอายุขัยเฉลี่ย 8-12 วัน และเพศเมียเฉลี่ย 11-12 วันเพศเมียหลังจากเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาราว 4 วัน จึงเริ่มวางไข่ โดยวางไข่เฉลี่ย 5.6 ฟองต่อวัน (40-50 ฟองต่อตัว) ตัวเต็มวัยเพศเมียมีการเจริญพัฒนา 2 ลักษณะ หรือดิวเทอโรไจนี (deuterogyny) ลักษณะแรกเจริญพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยอย่างรวดเร็วภายใต้สภาพอากาศเหมาะสม และมีพืชอาหารสมบูรณ์ ซึ่งจะแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ลักษณะที่สอง คือสืบพันธุ์ได้โดยไม่อาศัยเพศผู้ ในสภาพภูมิอากาศหนาวจัดหรือขาดแคลนอาหารพืชอาหาร เพศเมียจะมีการพัฒนารูปร่างให้ทนทานสภาพอากาศ และนอกจากนี้ไรสนิมส้มและไรในวงศ์ไรสี่ขา สามารถขยายพันธุ์ในลักษณะไม่ต้องอาศัยเพศแบบ "อาร์รีโนโตคัส (arrhenotokous parthenogenesis)" โดยไข่ที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์นี้จะพัฒนาเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ส่วนไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จะเจริญเป็นเพศเมีย การผสมพันธุ์ของไรวงศ์ไรสี่ขา จะเริ่มจากไรสี่ขาเพศผู้ปล่อยถุงหุ่มเสปิร์ม (spermatophore) ไว้ตามพืชอาหาร เมื่อไรเพศเมียมาพบ จะใช้ส่วนท้องที่มีอวัยวะสืบพันธุ์เก็บถุงเสปิร์ม แล้วบีบรีดสเปิร์มเข้าสู่รังไข่เพื่อผสมพันธุ์
ไข่ (egg): หลังจากเพศเมียวางไข่ 3 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนวัยที่ 1
ตัวอ่อนวัย 1 (first nymph): มีอายุขัยราว 1-2 วัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะพักที่ 1 (nymphochrysalis) 1 วัน เป็นระยะที่ลดการเคลื่อนไหว หลังจากนั้นจึงลอกคราบเป็นตัวอ่อนวัยที่ 2
ตัวอ่อนวัย 2 (second nymph): มีอายุขัยราว 1 วัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะพักที่ 2 (imagochrysalis) 1 วัน แล้วจึงลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย
ภาพที่ 10: รูปร่างของไรสนิมส้ม, ถ่ายภาพด้วยกำลังขยายมากกว่า 50 เท่า
1. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง แสงส่องถึงด้านในทรงพุ่ม เนื่องจากไรสนิมส้มสร้างความเสียหายให้กับผลส้มทางด้านร่มเงามากกว่าด้านรับแสงแดด
2. เมื่อพบการเข้าทำลายของไรสนิมส้ม หรือไรศัตรูพืชชนิดอื่น โดยสังเกตุที่ใบหรือผิวผล ว่าปรากฏ คราบผงสีขาวละเอียดๆ คล้ายฝุ่นจับหรือไม่ หากพบการเข้าทำลายควรพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืช หรือสารกำจัดแมลงที่มีฤทธิ์กำจัดไร โดยปฏิบัติดังนี้
2.1 การพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืช ควรปรับหัวพ่นยาให้ยาที่พ่นเป็นละอองฝอยให้มากที่สุด หากเป็นไปได้ควรเลือกใช้หัวพ่นแบบละอองยาเป็นรูปกรวยทึบ (solid cone type) คือ ละอองยาที่พ่นออกมาจะกระจายเต็มวงกรวย แต่จะสิ้นเปลืองยามากกว่าหัวพ่นแบบละอองยากรวยกลวง (hollow cone nozzle)
2.2 การพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืช หากผสมไวท์ออยล์ หรือพาราฟินออยล์ (white oil หรือ parafin oil) ร่วมด้วยจะเสริมประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น โดยออยล์เหล่านี้จะมีลักษณะใส ไม่มีสี หรืออาจสีใสก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต (ไม่แนะนำปิโตรเลี่ยมออยล์ - น้ำดำ) การใช้ออยล์ควรทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนใช้เสมอ โดยอาจทดสอบผสมกับยาที่ต้องการใช้ในการพ่น ทดสอบความเข้ากันได้ทางกายภาพเบื้องต้นและทดสอบพ่นเล็กน้อย 4-5 ช่อดอกหรือยอดอ่อนก่อน และเมื่อใช้ออยล์แล้ว ไม่ควรผสมสารจับใบหรือสารเร่งซึม
3. สารกำจัดไรศัตรูพืชและสารกำจัดแมลง ที่แนะนำมีดังนี้ (อัพเดท ก.ค. 2567)
กลุ่ม 1B: เฉพาะที่เคยใช้และมีข้อมูลในเอกสารที่ค้นได้ เช่น ไตรอะโซฟอส 40%, โพรฟีโนฟอส 50%, อีไทออน 50%, ไตรคลอร์ฟอน 80% อัตราใช้ราว 30-50 ซีซี./กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีฤทธิ์กำจัดแมลงได้มากชนิด และเป็นอันตรายต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน
กลุ่ม 2B: ฟิโพรนิล 5%, 25% และ 80% ตามข้อมูลและจากประสบการณ์ใช้ได้เฉพาะกับไรศัตรูพืชในวงศ์ไรขาว "เท่านั้น" ฟิโพรนิลเป็นยาที่กำจัดแมลงได้มากชนิดและเป็นอันตรายต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน
หมายเหตุ: ฟิโพรนิล 80% มักมีปัญหาเรื่องการละลายเมื่อมีอายุหลังการผลิตมากกว่า 6-8 เดือน
กลุ่ม 3A: ไบเฟนทริน 2.5%, 5% และ 10% (ในอนาคตจะพบเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่านี้ เช่น 24%SC น้ำครีม) อัตราใช้ 80-120 ซีซี., 40-60 ซีซี. และ 20-30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร (ตามลำดับ) ยากลุ่มนี้เป็นยาที่กำจัดแมลงได้มากชนิดและเป็นอันตรายต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน ตามข้อมูลทั่วไปหากไม่คำนึงถึงเรื่องการส่งเสริมการระบาดเพิ่ม (resurgence) จะมียาตัวอื่นที่ใช้ได้เช่นกัน ได้แก่ เดลตาเมทริน, แลมป์ดา-ไซฮาโลทริน, เฟนโพรพาทริน เป็นต้น (แต่ไม่แนะนำให้ใช้)
กลุ่ม 6: อะบาแมกติน 1.8% และ 2.4% เดิมสมัยโบราณมีการใช้อะบาแมกตินเพื่อกำจัดไรแดง ไรขาวกันมาก แต่ปัจจุบันพบว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพแล้ว แต่เมื่อ 5-6 ปีมานี้ มีงานวิจัยในต่างประเทศทดสอบพ่นในแปลงโดยใช้ "อะบาแมกติน ผสมร่วมกับ ไทอะมีทอกแซม" เปรียบเทียบกับยาไรชนิดอื่นๆ โดยพบว่า สามารถใช้ป้องกันและกำจัดไรแดงได้ดีเทียบเท่าหรือมากกว่าสารกำจัดไรศัตรูพืชบางชนิด
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทดสอบใช้ตามงานวิจัย ให้ผลในเชิงป้องกันดีมาก โดยใช้ อะบาแมกติน 2.4% อัตรา 25-30 ซีซี. ผสม ไทอะมีทอกแซม 25% อัตรา 15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (มีผลข้างเคียงต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน)
กลุ่ม 10A: เฮกซี่ไทอะซอก 1.8% ยาเฉพาะไรศัตรูพืชวงศ์ไรแดง (หรืออีกชื่อวงศ์ไรแมงมุม) เป็นยาที่มีกระแสในช่วง 3-4 ปีมานี้ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายกันมากขึ้นและมีการโฆษณากันมาก แต่ขาดการเช็คผลประสิทธิภาพในแปลง เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ยาตัวนี้มีจำหน่ายเพียงบริษัทเดียวและจำหน่ายได้ดีหน่อยในเขตภาคกลาง จ.นครปฐม กาญจนบุรี เพชรบุรี ปทุมธานี ที่อื่นๆ จำหน่ายได้น้อย
ยากลุ่ม 10 ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารไคติน ไทป์ 1 (CHS1) ในช่วงที่พบการระบาดของไรแดงหากพ่นยากลุ่มนี้มักไม่ค่อยได้ผลในการลดจำนวนไรแดง นั้นอาจเพราะวงจรชีวิตที่สั้นมากของไรแดง โดยประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อ 7-8 ปีก่อน เคยติดตามแปลงส้มสายน้ำผึ้งที่พ่นเฮกซี่ไทอะซอก ทั้งอัตรา 30 ซีซี. และ 40 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่สามารถควบคุมประชากรไรแดงให้อยู่ในระดับเป็นที่พอใจของชาวสวนได้ ดังนั้น ยาตัวนี้จะเหมาะกับใช้เป็นตัวเสริมเอาไว้ผสมร่วมกับยาไรชนิดอื่นมากกว่า
กลุ่ม 12: มีให้เลือกใช้ 3 กลุ่มย่อย ดังนี้
- กลุ่ม 12B: เพนบูทาตินออกไซด์ 55% อัตรา 15 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ในพื้นที่ที่มีการใช้โพรพาร์ไกต์เป็นประจำ อาจมีความจำเป็นต้องปรับอัตราใช้เป็น 20-25 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเพนบูทาตินออกไซด์มีกลไกออกฤทธิ์ที่จุดจับเดียวกันกับโพรพาร์ไกต์ แต่มีความปลอดภัยต่อพืช
- กลุ่ม 12C: โพรพาไกต์ 20%, 30% และ 57% เป็นยาที่มีโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วยหมู่ซัลไฟท์ (Sulfite หรือ Sulphite - ester) ซึ่งหากพืชได้รับในปริมาณมากอาจก่อความเป็นพิษต่อพืช หรืิอเป็นพิษต่อพืชง่ายหากผสมร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างจัด ยาน้ำมันเข้มข้น หรืิอพ่นร่วมกับยาจับใบเร่งซึม
- กลุ่ม 12D: เตตระไดฟอน ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นจำหน่ายในท้องตลาด
*ยากลุ่ม 12B, 12C และ 12D แม้จัดอยู่ในกลุ่มกลไกออกฤทธิ์เดียวกัน คือ กลุ่ม 12 แต่มีโครงสร้างทางเคมีต่างกัน คือ 12B กลุ่มสารเคมีออร์กาโนติน, 12C กลุ่มสารเคมีซัลไฟท์เอสเทอร์ และ 12D กลุ่มสารเคมีเตตระไดฟอน
กลุ่ม 13: คลอร์ฟีนาเพอร์ 10%, 24% และ 40% ใช้กำจัดได้ทั้งวงศ์ไรแดง และวงศ์ไรขาว ปกติคลอร์ฟีนาเพอร์จะใช้กำจัดเพลี้ยไฟ และหนอน มีผลต่อด้วงต่ำ อัตราใช้มาตรฐานสำหรับคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เมื่อ 6-7 ปีก่อน (ตอนนั้นมีจำหน่ายบริษัทเดียว) โดยการทดสอบกำจัดเพลี้ยไฟและหนอนกระทู้ในดาวเรือง อัตราที่ใช้ได้ผลคือ 30-40 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร (บริษัทผู้จำหน่ายเป็นผู้ทดสอบ ส่วนผมแค่ติดตามผล) ปัจจุบันคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% ขั้นต้นควรใช้อัตรา 40 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร และสำหรับ 24% และ 40% ควรใช้อัตรา 17 ซีซี. และ 10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร (ตามลำดับ)
กลุ่ม 15: ลูเฟนนูรอน 5% มีข้อมูลแนะนำใช้ลูเฟนนูรอนในไรศัตรูพืชวงศ์ไรสี่ขา "เท่านั้น" ส่วนตัวยังไม่เห็นเอกสารแนะนำใช้กับไรวงศ์อื่นๆ อัตราใช้น่าจะราว 20-30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ยากลุ่ม 15 ยับยั้งการสังเคราะห์ไคตินชนิด 1 (CHS1) โดยค่อนข้างมีผลเฉพาะเจาะจงกับแมลงกลุ่มหนอนผีเสื้อและหนอนด้วง เพื่อลดการลอกคราบ ดังนั้น เมื่อนำมาใช้กับไรสี่ขา ซึ่งมีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้นเช่นเดียวกับไรแดง จึงควรใช้เป็นยาบวกหรือเสริมจากยาไรตัวอื่นๆ
*หมายเหตุ: โนวาลูรอน ในเอกสารต่างประเทศล่าสุดมีอัพเดทใช้กำจัดแมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น
กลุ่ม 19: อามีทราซ 20% ยาไรศัตรูพืชที่มีการใช้กันมากชนิดหนึ่ง อัตราแนะนำราว 40-50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร และมีผลข้างเคียงกับหนอนผีเสื้อบางชนิด เช่น หนอนเจาะผล หนอนเจาะฝักถั่ว หนอนคืบ เพลี้ยอ่อนและเพลี้ยไก่แจ้บางชนิด
กลุ่ม 20D: ไบฟีนาเซต 48% ยาไรที่น่าสนอีกตัว แต่ราคาสูง (มาก) อัตราใช้ราว 5-10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เนื่องจากยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก และยังไม่มียาชนิดอื่นในกลุ่มนี้ออกมาจำหน่าย จึงคาดว่า ไรศัตรูพืชยังไม่ดื้อยากลุ่มนี้
กลุ่ม 21A: ไพริดาเบน 12.5% และ 20%, ทีบูเฟนไพแรด 36%, เฟนไพร็อคซิเมต 5%, ฟีนาซาควิน 20%
ยาในกลุ่มนี้ที่จำหน่ายมากสุดคือ ไพริดาเบน และเฟนไพร็อคซิเมต ปัจจุบันเท่าที่ลองสังเกตุประสิทธิภาพหลังพ่นของไพริดาเบน 20% อัตรา 20 กรัม ร่วมกับไวท์ออยล์ ยังได้ผลพอสมควร (ร่วมกับการสลับกลุ่มยาอย่างเหมาะสม) ส่วนตัวอื่นๆ ผมยังไม่เคยทดสอบประสิทธิภาพอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงไม่มีคำแนะนำเพิ่มเติมในตอนนี้
ทีบูเฟนไพแรดมีผลข้างเคียงกับด้วง จึงมีการใช้กำจัดด้วงหมัดผักมาช้านานมาก ในระยะหลังๆ อาจจะไม่เป็นที่นิยมและไม่ค่อยมีคนทราบเท่าไหร่ ดังนั้น การหยุดใช้ทีบูเฟนไพแรดของชาวสวนมา 4-5 ปี และนำกลับมาใช้ใหม่อาจได้ผลดี
กลุ่ม 23: สไปโรมีซีเฟน 24% สไปโรเตตระแมท 15%, 24% และสไปโรไดโคลเฟน 24% ยาเหล่านี้มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดไขมันสายยาว คือ เอนไซม์อะซีทิลโคเอคาร์บ็อกซิเลส (ACC) มีผลทำให้การสร้างเยื้อหุ้มเซลล์ผิดปกติ
สไปโรมีซีเฟน มีการใช้กำจัดไรศัตรูพืชกันมาอย่างแพร่หลายเกือบ 10 ปี ภายหลังมียา สไปโรเตตระเมท 15% ออกมาจำหน่ายและแนะนำใช้กำจัดเพลี้ยไฟและหนอน แต่กลับได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร ต่อมาช่วง 2-3 ปีนี้ มีสไปโรเตตระเมท 24% ออกจำหน่ายโดยเน้นไปที่การกำจัดเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอย แต่จากการทดสอบส่วนตัวในเพลี้ยหอยแดงแคลิฟอร์เนียในส้มโอ พบว่าให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่นัก
พ.ศ. 2567 สไปโรไดโคลเฟน 24% มีออกวางจำหน่ายแล้ว มีทั้งการโฆษณาและรีวิวมากมาย แต่ส่วนตัวยังไม่มีประสบการณ์การใช้และการทดสอบ
ส่วนตัว ตั้งข้อสังเกตุว่า "ยาในกลุ่ม 23" น่าจะมีการดื้อยาข้ามภายในกลุ่ม 23 คือ ถ้าศัตรูพืชดื้อสไปโรมีซิเฟนก็จะดื้อยาอีก 2 ตัวตามไปด้วย เนื่องจากในการพ่นสไปโรมีซิเฟนเพื่อกำจัดไรศัตรูพืชจะไม่กระทบต่อศัตรูพืชชนิดอื่นๆ แต่มีความเป็นพิษต่ำ ดังนั้น ศัตรูพืชอื่นจึงดื้อยากลุ่ม 23 ไปล่วงหน้าแล้ว
ในต่างประเทศมีรายงานการใช้สไปโรมีซิเฟนและสไปโรไดโคลเฟนกำจัดแมลงหวี่ขาว แต่สำหรับบ้านเราส่วนตัวยังไม่เห็นการทดสอบ (ซึ่งอาจมีผู้ทดสอบแล้วก็ได้)
กลุ่ม 25: ไซฟลูมีโทเฟน 20% และไซอีโนไพราเฟน 30% เป็นกลุ่มยาไรศัตรูพืชที่เปิดตัววางจำหน่ายล่าสุด โดยไซฟลูมีโทเฟน วางจำหน่ายมาราว 5-6 ปีแล้ว ส่วนไซอีโนไพราเฟน พึ่งวางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ.2566
ไซฟลูมีโทเฟน 20% เปิดตัวด้วยอัตราใช้ 8-10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนไซอีโนไพราเฟน 30% เปิดตัวด้วยอัตรา 4-5 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อราว 3-4 ปีที่แล้ว เริ่มพบการรายงานการต้านทานไซฟลูมีโทเฟนของไรสองจุด (วงศ์ไรแดง) ในสตอเบอรี่ และไรแดงส้มในส้มสายน้ำผึ้ง จนในพื้นที่ต้องเพิ่มอัตราใช้เป็น 15 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการใช้ยาตัวนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ในพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยมีการใช้มากเท่าไหร่นั้น อัตรา 10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ยังมีประสิทธิภาพดีอยู่
ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีการใช้ยากลุ่ม 25 อย่างต่อเนื่อง ควรเพิ่มอัตราไปอีกเล็กน้อย โดยเพิ่มอัตราขึ้นราว 5 ซีซี. ทั้ง 2 ตัว
ที่สำคัญการใช้ยากำจัดไรศัตรูพืช คือ การหมุนเวียนสลับกลุ่มยาตามกลุ่มกลไกออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ควรใช้ยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งติดต่อกันมากกว่า 1 หรือ 2 ครั้ง หรือให้ดีควรสลับกลุ่มยาทุกครั้งที่พ่น
การใช้สารกำจัดไรศัตรูพืชในลักษณะป้องกันก่อนการเข้าทำลาย ควรใช้ยากลุ่ม 1, 4, 6, 13 และ 15 โดยส่วนตัวแนะนำใช้ ไตรอะโซฟอส สลับ อะบาแมกติน ผสมร่วมกับไทอะมีทอกแซม สลับ คลอฟีนาเพอร์ เพื่อป้องกันก่อนไรแดงระบาด, ยากลุ่มอื่นๆ ไม่ค่อยเหมาะสมเนื่องจากมีฤทธิ์ดูดซึมหรือแทรกซึมเข้าสู่พืชต่ำ ส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นยาสัมผัส
[1] ไรศัตรูพืช มีทั้งหมดด้วยกัน 4 วงศ์ ดังนี้
1️. วงศ์ : ไรแดง หรือไรแมงมุม (Spider mite) ชื่อวงศ์เตตระไนชิดี้ (Tetranychidae)
2️. วงศ์ : ไรแมงมุมเทียม (False spider mite) ชื่อวงศ์ทีนุยพาลพิดี้ (Tenuipalpidae)
3️. วงศ์ : ไรขาว (Tarsonemid mite) ชื่อวงศ์ทาร์โซเนมิดี้ (Tarsonemidae)
4️. วงศ์ : ไรสี่ขา (Eriophyid mite) ชื่อวงศ์อีริโอไฟอิดี้ (Eriophyidae)
[2] ตัวอ่อนของเพลี้ยไฟหลายชนิดเป็นแมลงตัวห้ำของไรศัตรูพืช เนื่องจากตัวอ่อนของเพลี้ยไฟมีความต้องการสารอาหารมากเป็นพิเศษ
แหล่งสืบค้น:
อังศุมาลย์ จันทราปัตย์.2530.การประชุมทางวิชาการปัญหาแมลงปากดูดและไรที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย “ชีววิทยาและนิเวศวิทยาบางประการของไรสนิมส้ม Some biological and ecological attributes of the citrus rust mite”.สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย; กรมวิชาการเกษตร; กรมส่งเสริมการเกษตร; มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช.กรุงเทพฯ.หน้า 109-127.
เอกสารวิชาการ.2544.ไรศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด Phytophagous mites and their control.พิมพ์ครั้งที่ 1; โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.กลุ่มงานวิจัยไรและแมงมุม กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร.192 หน้า.
เอกสารวิชาการ.2555.การจัดการศัตรูส้มโอเพื่อการส่งออก.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร. 125 หน้า.
เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2560.เทคนิคการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช.กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.119 หน้า.
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000