หนอนกระทู้หอม หรือชื่ออื่นๆ เช่น หนอนหนังเหนียว หนอนหลอดหอม
ชื่อสามัญ (อังกฤษ): beet armyworm
ชื่อวิทยาศาสตร์: สปอด็อพเทอร่า แอ็กซิกั่ว (Spodoptera exigua Hubner)
วงศ์: น็อคทุยดี้ (Noctuidae)
อันดับ: เลพิด็อพเทอร่า (Lepidoptera)
หนอนกระทู้หอมเมื่อแรกฟักออกจากไข่ (หนอนวัย 2)
หนอนกระทู้หอม: ระยะตัวหนอนวัย 3-4
หนอนกระทู้หอม: ระยะตัวหนอนวัย 4-5
หนอนกระทู้หอม: ระยะตัวหนอนวัย 6 ก่อนเข้าดักแด้ในดิน
หนอนกระทู้หอม: ระยะตัวหนอนวัย 6 ก่อนเข้าดักแด้ในดิน
หอมแดงที่ถูกหนอนกระทู้หอมเข้าทำลาย
การเลือกใช้สารกำจัดแมลงสำหรับกำจัดหนอน (ดื้อยา) ในแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต่างๆ อาทิเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาด ความรุนแรง สารกำจัดแมลงที่เลือกใช้บ่อยหรือพ่นเป็นประจำในพื้นที่อำเภอ จังหวัด หรือภูมิภาคนั้นๆ เปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์และอัตราการใช้ในพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเลือกใช้สารกำจัดแมลง เพราะสารกำจัดแมลงที่แนะนำอาจมีประสิทธิภาพดีกับพื้นที่หนึ่ง แต่ในอีกพื้นที่ประสิทธิภาพอาจไม่เป็นที่น่าพอใจเนื่องจากแมลงมีความทนทานยานั้นได้ดี (ดื้อยา) ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยข้างต้น
"คำนิยามที่เกี่ยวข้องต่อการเลือกใช้สารกำจัดแมลงที่มีความต้านทาน (ดื้อยา)"[1]
1) สารกำจัดแมลง (ยา) พื้นฐาน คือสารกำจัดแมลงในกลุ่มกลไกออกฤทธิ์ที่ใช้พ่นในพื้นที่เป็นประจำ และกลุ่มสารกำจัดแมลงที่ออกฤทธิ์ต่อการเจริญพัฒนาของแมลง โดยมีผลต่อการคุมไข่ ยับยั้งการลอกคราบของตัวอ่อนหรือยับยั้งการลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยของแมลง ตัวอย่างเช่น สารกำจัดแมลง กลุ่ม 7C ไพริฟรอกซิเฟน, กลุ่ม 15 โนวาลูรอน ลูเฟนนูรอน คลอร์ฟลูอะซูรอน ไดฟลูเบนซูรอน ไตรฟลูมูรอน, กลุ่ม 16 บูโพรเฟซีน (เฉพาะ/เด่นกับแมลงในอันดับเฮมิพเทอร่า เช่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย แมลงหวี่ขาว มวน) และกลุ่ม 18 เมท็อกซี่ฟีโนไซด์
2) สารกำจัดแมลงที่ยังใช้ได้ผลดี คือสารกำจัดแมลงในกลุ่มกลไกออกฤทธิ์ใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการใช้ในพื้นที่ หรือมีการใช้น้อย-ไม่เป็นที่นิยม และกลุ่มใหม่ที่ยังไม่เคยมีการจำหน่ายในประเทศ (ซึ่งปัจจุบันไม่มี)
[1]คำนิยามนี้เป็นคำนิยามส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ในการทำงานและคลุกคลี่อยู่ในแวดวงสารกำจัดศัตรูพืช มิได้อ้างอิงข้อมูลเอกสารวิชาการมากนัก
การเลือกใช้สารกำจัดหนอนกระทู้หอมในพืชที่พบการระบาดเป็นครั้งคราว เช่น มันสำปะหลัง
ช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2567 นี้ มีการรายงานการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้หอมในมันสำปะหลังรุนแรง โดยพบว่าหนอนเข้ากัดกินทำลายใบและตาใบของท่อนมันสำปะหลังที่ปักท่อนพันธุ์ใหม่และต้นมันสำปะหลังอายุ 2-3 เดือน หนอนมีการระบาดกระจายตัวเกือบเต็มไร่มันสำปะหลัง ต้นมันสำปะหลังต้นหนึ่งๆ อาจพบการเข้าทำลายของหนอนมากกว่า 10 ตัวต่อต้น กัดกินใบและตาใบจนต้นโกร๋น และสร้างความเสียหายมากกว่า 40-80% ของไร่
การกำจัดหนอนกระทู้ที่เข้าทำลายในลักษณะข้างต้น จึงไม่สมควรเลือกใช้สารกำจัดแมลงที่เป็นยาพื้นฐาน หากแต่ต้องเลือกใช้สารกำจัดแมลงที่ในพื้นที่ไม่ค่อยมีการใช้ ตัวอย่าง การเลือกใช้สารกำจัดแมลง
เลือกใช้สารกำจัดแมลง 2 กลุ่ม ในการพ่นแต่ละครั้ง เช่น
หรือเลือกใช้สารกำจัดแมลง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งเป็นสารชีวภัณฑ์ หรือสารยับยั้งการเจริญเติบโต โดยพ่นต่อเนื่อง 2 ครั้ง ห่างกัน 3-4 วัน เช่น
นอกจากนี้ สารกำจัดแมลงที่สามารถใช้ทดแทน อินด็อกซาคาร์บ (กลุ่ม 22A) เช่น อีมาเมกติน 5% อัตรา 30-40 กรัม /อีมาเมกติน 20% อัตรา 10 กรัม (กลุ่ม 6), คลอฟีนาเพอร์ 10% อัตรา 50-60 ซีซี. /คลอฟีนาเพอร์ 24% อัตรา 20-25 ซีซี. (กลุ่ม 13), โทลเฟนไพแรด 16% SC อัตราไม่น้อยกว่า 50 ซีซี. (กลุ่ม 21A), คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% อัตราแนะนำไม่น้อยกว่า 30-40 ซีซี. (กลุ่ม 28) และ/หรือ สไปนิโทแรม 12% อัตราไม่น้อยกว่า 25 ซีซี. /สไปนิโทแรม 25% อัตราไม่น้อยกว่า 12 กรัม ***อัตราแนะนำต่อน้ำ 20 ลิตร***
หลังจากเลือกสารกำจัดแมลงตามคำแนะนำข้างต้นพ่นต่อเนื่อง 2 ครั้ง ห่างกัน 3-4 วันแล้ว ภายหลังจากพ่นครั้งที่ 2 ให้สำรวจติดตามการระบาดและจำนวนประชากรของหนอนอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ายังคงมีหนอนหลงเหลืออยู่บ้างให้พ่นซ้ำอีกครั้ง โดยห่างจากการพ่นครั้งที่ 2 ประมาณ 5-7 วัน และเลือกใช้สารกำจัดแมลงในกลุ่มที่ไม่ซ้ำกับกลุ่มเดิม
*หมายเหตุ:
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารกำจัดหนอนกระทู้ คือช่วงเย็นใกล้พลบค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่หนอนออกมากัดกินพืชผลมากกว่าช่วงเวลากลางวัน
[2]อัตราพ่นทดสอบกำจัดหนอนกระทู้หอม เมื่อเดือน ม.ค. 2566 จ.อุตรดิตถ์ และได้มีการแนะนำใช้ในพื้นที่ จ.ลำพูน และเชียงใหม่ ช่วงปลายปี 2566 - ต้นปี 2567 ซึ่งมีประสิทธิภาพกำจัดหนอนได้ดีเหมือนที่ทดสอบใน จ.อุตรดิตถ์
การเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอมในมันสำปะหลัง
การแพร่ระบาดในลักษณะเป็นฝูงขนาดใหญ่ คล้ายการยกพลของกองทัพ
การพ่นยาสลับหมุนเวียนสารกำจัดหนอนกระทู้หอมในพืชที่พบการระบาดเป็นประจำ หรือมีประวัติพบการระบาด เช่น หอม พริก มะเขือเปราะ มะเขือม่วง มะเขือเทศ ดาวเรือง เนื่องจากพืชเหล่านี้มักพบการระบาดของหนอนกระทู้แบบค่อยเป็นค่อยไปแล้วจึงระบาดเต็มพื้นที่หรือระบาดรุนแรง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพ่นสารกำจัดแมลงในเชิงป้องกันก่อนพบการแพร่ระบาดและควรหมั่นสังเกตุการระบาดของหนอนเข้าสู่แปลง เมื่อพบการระบาดจึงเลือกใช้สารกำจัดแมลงที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพดีในการกำจัด กล่าวคือ ไม่ควรใช้สารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพดีในการพ่นป้องกัน แต่ควรเลือกใช้สารกำจัดแมลงพื้นฐานเพื่อป้องกัน[3]
สำหรับการเลือกใช้สารกำจัดแมลงเชิงป้องกันหนอนกระทู้นั้น
"ไม่ควรใช้อัตราต่ำกว่าคำแนะนำ" หรือ
"ไม่ควรพ่นในลักษณะเพื่อความสบายใจ ว่าอย่างน้อยได้พ่นป้องกันไว้แล้ว หรืออุปนิสัยที่ยึดติดกับยี่ห้อว่าสารกำจัดแมลงนั้นดี ควรพ่นทุกครั้งที่มีการพ่นยา" ตัวอย่างกรณีนี้ เช่น การพ่นสาร spinetoram 12% ในส้มเพื่อกำจัดเพลี้ยไฟ อัตรา 10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หลังจากใช้ต่อเนื่องมา 1-2 ปี พบว่าเริ่มกำจัดเพลี้ยไฟไม่ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงหันมาใช้สารอื่นๆ พ่น แต่ก็ไม่ลืมที่จะใช้สาร spinetoram ผสมไปด้วยและมักลดอัตราลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะยิ่งส่งผลให้แมลงสร้างความต้านทาน (ดื้อยา) เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่าง การพ่นสารกำจัดแมลงเพื่อป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้
เลือกใช้สารกำจัดแมลง กลุ่ม 6 ผสมร่วมกับกลุ่ม 4 เช่น อีมาเมกติน 5% อัตรา 15-20 กรัม ผสมร่วมกับ ไทอะมีทอกแซม 25% อัตรา 15-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
เลือกใช้สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1 ผสมร่วมกับกลุ่ม 11 เช่น ไตรอะโซฟอส 40% หรือโปรพีโนฟอส 50% อัตรา 35-40 ซีซี. ผสมร่วมกับเชื้อบาซิลลัส ทูริเยนซีส อัตรา 80-100 กรัม อัตราต่อน้ำ 20 ลิตร
เลือกใช้สารกำจัดแมลง กลุ่ม 21A หรือ 28 เช่น โทลเฟนไพแรด 16% อัตรา 30-40 ซีซี. หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
เลือกใช้สารกำจัดแมลง กลุ่ม 13 ได้แก่ คลอฟีนาเพอร์ 10% อัตรา 40 ซีซี. หรือ 24% อัตรา 17-20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
รอบพ่นครั้งถัดไปให้วนกลับไปพ่นตามรอบ 1-8, กรณีที่ช่วงใดมีการระบาดของหนอนกระทู้ จึงเลือกใช้สารกำจัดแมลงกลุ่ม 22A ร่วมกับกลุ่ม 3A /กลุ่ม 15 หรือเลือกใช้สารกำจัดแมลง กลุ่ม 5 ร่วมกับกลุ่ม 15 พ่นต่อเนื่อง 2 ครั้ง ทุก 3-4 วัน แล้วจึงใช้สารตามรอบการพ่นปกติ
*หมายเหตุ: ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารกำจัดหนอนกระทู้ คือช่วงเย็นใกล้พลบค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่หนอนออกมากัดกินพืชผลมากกว่าช่วงเวลากลางวัน
[3]โดยส่วนตัวของผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุว่า "สารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดหนอนกระทู้ ณ ขณะนี้ (ก.พ. 2566) คือ กลุ่ม 22A และ กลุ่ม 5"
หนอนกระทู้หอม เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญต่อพืชผักเป็นอย่างมาก หนอนชนิดนี้แพร่ระบาดมานานนับสิบๆ ปี เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้ปลูกหอมแถวอำเภอดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยพบระบาดรุนแรงเป็นประจำทั้งปี และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ปลูกหอมเป็นอย่างมาก จนทำให้เกษตรกรต้องปลูกพืชอื่นทดแทนและย้ายที่ปลูกหอมไปยังแหล่งใหม่ ทั้งนี้ เนื่องจากหนอนได้สร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงหลายชนิด ปัจจุบันพบการเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอมทุกพื้นที่การเพาะปลูกหอม เช่น จ.อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี เป็นต้น
โดยหนอนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะเข้าทำลายพืชโดยการกัดกินบริเวณส่วนต่างๆ ของพืช การทำลายยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ความเสียหายมักพบรุนแรงเมื่อหนอนเติบโตขึ้น ตั้งแต่หนอนวัย 3 เป็นต้นไป โดยหนอนจะแยกย้ายกัดกินทุกส่วนของพืช ในช่วงนี้หากมีประชากรหนอนมากความเสียหายจะรุนแรงมากขึ้น ผลผลิตอาจได้รับความเสียหายมากกว่า 40-80% และคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
การเข้าทำลายดอกดาวเรืองของหนอนกระทู้หอมและหนอนกระทู้ผัก
หนอนกระทู้หอมเข้าทำลายดอกดาวเรือง
หนอนกระทู้หอมเข้าทำลายดอกดาวเรือง
หนอนกระทู้หอมเข้าทำลายพริก
หนอนกระทู้หอมเข้าทำลายพริก
หนอนกระทู้หอมเข้าทำลายคะน้า
หนอนกระทู้หอมมีลำตัวอ้วน ผนังลำตัวเรียบมีหลายสี เช่น เขียวอ่อน เทาปนดำ น้ำตาลดำ น้ำตาลอ่อน ด้านข้างจะมีแถบสีขาวพาดตามความยาวลำตัวด้านละแถบจากส่วนอกจนถึงปลายสุดลำตัว ระยะเป็นตัวหนอนมีการเจริญเติบโต 6 ช่วงวัย มีการลอกคราบเพื่อเติบโตเป็นตัวหนอนวัยถัดไป 5 ครั้ง ตัวโตเต็มที่มีขนาด 2.5 เซนติเมตร ระยะหนอนประมาณ 14 - 17 วัน หนอนเข้าดักแด้ในดินบริเวณโคนต้น ลึกลงไปในดินประมาณ 1-2 นิ้ว เข้าดักแด้นานประมาณ 5-7 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดกลางสีน้ำตาลแก่ปนเทา เมื่อกางปีกกว้าง 2.0 -2.5 เซนติเมตร มีจุดสีน้ำตาลอ่อน 2 จุดตรงกลางปีกคู่หน้า อายุตัวเต็มวัย ราว 4-10 วัน แม่ผีเสื้อจะวางไข่เป็นกลุ่มเล็กๆ ตามใต้ใบ โดยเฉลี่ยวางไข่ประมาณ 20 ฟองต่อกลุ่ม ไข่ มีอายุประมาณ 2-3 วัน แม่ผีเสื้อจะวางไข่ในตอนพลบค่ำ (18.00- 20.00 น.) ชั่วรุ่นหนึ่งๆ จากระยะวางไข่จนถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาราว 21-28 วัน หรือสั้นกว่านี้ วงจรชีวิตตลอดอายุขัย ราว 30-35 วัน
การแยกเพศผีเสื้อหนอนกระทู้มีหลายวิธี ได้แก่ เพศผู้จะมีปีกคู่หน้าสีเข้ม และลวดลายสีขาวเด่นชัดกว่าเพศเมีย ด้านท้องเพศผู้บริเวณปล้องที่ 7, 8, 9 และ 10 จะมีลักษณะคอดเล็กลง และส่วนปลายปล้องที่ 10 จะเป็นพู่หางยาว ส่วนเพศเมียจะมีลักษณะปล้องท้องใหญ่ และมีขนาดเท่ากันทุกปล้อง ไม่มีพู่หางหรือถ้ามีจะเล็กกว่าเพศผู้
ตัวเต็มวัย (ผีเสื้อ) เมื่อออกจากดักแด้ราว 1 วัน จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ โดยจะออกบินและผสมพันธุ์ในเวลากลางคืน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืนของวันถัดไป ลักษณะการวางไข่จะวางเป็นกลุ่มๆ ใต้ใบพืช เรียงตัวกันอย่างมีระเบียบ เป็นชั้นๆ มีลักษณะขนสีน้ำตาลอ่อนบางปกคลุม ไข่มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมแบบคว่ำ มีลายเส้นบางใสเป็นรัศมีโดยรอบ ไข่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ตัวเมียหนึ่งตัวจะวางไข่ได้ 4-6 กลุ่ม ประมาณ 2,000-4,000 ฟอง โดยใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน แต่ละกลุ่มไข่จะมีไข่ประมาณ 400 – 900 ฟอง
วงจรชีวิตของหนอนกระทู้หอม
ไข่ที่วางใหม่ๆ จะมีสีเหลืองอ่อน และวันถัดมาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง วันที่ 3 ไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอน ซึ่งไข่ในระยะก่อนฟักจะมีสีดำจางที่เป็นสีของกระโหลกศีรษะและขนของตัวอ่อน เมื่อถึงกำหนดฟักตัวอ่อนจะกัดเปลือกไข่เป็นวง แล้วใช้ศีรษะมุดออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะฟักในเวลากลางวัน
ตัวอ่อนหนอนกระทู้จะเป็นแบบ Eruciform มีลักษณะศีรษะ Hypognathous types มีขาจริง 3 คู่ ขาเทียม 5 คู่ บริเวณท้องมีรูหายใจ 10 คู่ ที่ปล้องที่ 1 และปล้องท้องทุกปล้อง (ยกเว้นปล้องสุดท้าย) ตัวอ่อนลอกคราบประมาณ 5 ครั้ง โดยแบ่งตัวอ่อนออกเป็น 6 วัย แต่ละระยะมีลักษณะและอุปนิสัย ดังนี้
หนอนวัย 1:
ตัวอ่อนระยะนี้มีอายุราว 3 วัน สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลำตัวมีรูปทรงกระบอกยาว สีเขียวอมเหลือง ส่วนศีรษะจะมีสีดำสนิท มีขนาดเท่าส่วนอก ส่วนอกปล้องแรกจะมีแผ่นแข็ง (Sclerite) สีน้ำตาลเข้ม มีขนสีน้ำตาลอ่อนกระจายข้างลำตัว ขาจริง และขาเทียมจะมองเห็นชัดเจน ส่วนรูหายใจจะยังมองไม่เห็น ตัวอ่อนวัยนี้มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและกัดกินผิวใบพืชรอบๆ บริเวณที่วางไข่
เมื่อตัวหนอนถูกรบกวนจะทิ้งตัวลงที่ต่ำ ด้วยการปล่อยเส้นใยออกจากปากเพื่อพยุงตัวให้ห้อยในอากาศ เมื่อผ่านไป 3 วัน ตัวหนอนจะมีสีเขียวขึ้นมากกว่าเดิม ลำตัวเป็นมันวาว ส่วนศีรษะจะเล็กกว่าส่วนอกปล้องแรก บริเวณท้องปล้องที่ 1 จะเริ่มมีแถบสีดำจางๆ พาดขวางลำตัว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของตัวอ่อนหนอนกระทู้ และจะเริ่มเห็นรูหายใจได้ชัดในวันสุดท้ายของหนอนวัย 1 โดยจะมีลวดลายสีเทาอ่อน-แก่ เป็นเส้นตามยาว และตามขวางลำตัว ด้านหลังส่วนอกปล้องที่ 1 และ 2 มีสีดำปล้องละ 2 จุด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อตัวหนอนได้รับการรบกวนจะพ่นน้ำสีเขียวออกมาในขณะที่สะบัดหัวซ้ายขวา
หนอนวัย 2-4:
ตัวหนอนจะแยกออกจากกลุ่มเพื่อออกหากิน หากพบในแปลงพืชจะพบว่า ตัวหนอนกระจายกันออกทำลายพืชผักทั่วทั้งแปลง ซึ่งจะหลบตัวอยู่ใต้ใบหรือเงามืด ระยะนี้ส่วนอกปล้องที่ 1 จะกว้างที่สุดของลำตัว ซึ่งบริเวณนี่จะมีแถบสีดำคาดขวางลำตัว
หนอนวัย 5:
ระยะนี้หนอนจะโตเร็วมาก หากเลี้ยงในที่แคบและขาดอาหาร หนอนจะกัดกินกันเอง ลำตัวที่มีสีเขียวจะเริ่มซีดลง เปลี่ยนเป็นสีเทา และมีแถบสีดำจางๆ พาดตามยาว ทั้งซ้ายและขวา ด้านละ 2 แถบ บริเวณระหว่างแถบสีดำนี้จะมีแนวสีขาวเล็กๆ คั่นไว้ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ด้านท้องเปลี่ยนเป็นสีเทาอ่อน ระยะนี้จะซ่อนตัวในเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน
หนอนวัย 6:
เป็นระยะสุดท้ายก่อนเข้าดักแด้ ลำตัวจะมีลักษณะอ้วนกลม กินอาหารจุ ขับถ่ายมาก สีลำตัวจะเข้มจนดำสนิท ลวดลาย บนลำตัวจะค่อยๆ หายไป ซึ่งจะเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ที่จะหยุดกินอาหาร ระยะก่อนเข้าดักแด้นี้ ลำตัวจะมีสีดำเป็นมัน แบน และหดสั้นลง ชอบกัดใบพืชเป็นชิ้นเล็กๆ สำหรับนำมาสร้างรัง (Cocoon) เพื่อหุ้มดักแด้ ทำให้ใบพืชแลดูสกปรก หากถูกรบกวนและตกลงดินจะมุดลงดิน จนเมื่อลำตัวเป็นรูปกระสวยจะเดินไม่ได้ แต่จะใช้การพลิกตัวเพื่อเคลื่อนที่แทน เมื่อถึงระยะสุดท้ายก่อนการเข้าระยะดักแด้ ลำตัวจะมีสีเทาดำ ส่วนด้านท้องจะมีสีขาวอมเหลืองและจะเข้าดักแด้ในวันถัดมา
หนอนกระทู้ระยะดักแด้จะเป็นแบบ Obtected pupa เมื่อเข้าดักแด้ใหม่ๆ จะมีสีเขียวอมเหลืองและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนศีรษะจะมีสีเข้ม ดักแด้เพศเมียจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าเพศผู้ เมื่อใกล้ระยะฟักตัว ดักแด้จะหดตัวลง การแยกเพศดักแด้จะใช้วิธีสังเกตที่อวัยวะเพศ โดยเพศผู้จะมีอวัยวะเพศเป็นแถบนูนสีเข้มเล็กๆ 2 แถบ ประกบกันที่ปล้องท้องปล้องที่ 8 ส่วนเพศเมียอวัยวะเพศจะแบนเรียบ มีจุดสีดำเล็กๆ ที่ปล้องสุดท้าย ดักแด้ทั้ง 2 เพศ จะมีรยางค์แหลมขนาดเล็ก 2 อัน (Cremasters) ระยะดักแด้จะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน แล้วจึงฟักออกจากดักแด้เป็นผีเสื้อ เพศเมียจะฟักก่อนเพศผู้ ประมาณ 2-3 วัน
เมื่อฟักออกจากดักแด้เป็นผีเสื้อกลางคืน เพศเมียมีส่วนท้องอ้วนป้อม ลำตัวมีขนเล็กน้อย ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาล มีลวดลายสีขาวทั่วปีก ปีกคู่หลังมีสีเทาบาง ส่วนเพศผู้ท้องจะเรียวยาว ส่วนปลายของท้องจะมีขนเป็นกระจุก ลำตัวมีขนปกคลุมเล็กน้อย ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาล มีลวดลายคล้ายเพศเมีย แต่จะต่างกันที่ปลายปีก ปีกคู่หลังบางใสออกสีเทาขาว ตัวเต็มวัยมีอายุ ประมาณ 7-10 วัน
พบระบาดตามแหล่งปลูกผัก เช่น จังหวัดราชบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปทุมธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบูรณ์ ตาก อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ แหล่งปลูกดังกล่าวมีการระบาดของหนอนกระทู้หอมเป็นประจำ และมักระบาดรุนแรงในช่วงฤดูร้อน
หนอนกระทู้หอม มีพืชอาหารที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากมายหลายชนิด เช่น พืชผักตระกูลกะหล่ำ หอมแดง หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง มันเทศ ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว เผือก มะเขือเทศ มะระ พริก แตงโม องุ่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ฝ้าย ข้าวโพด เบญจมาศ กุหลาบ มะลิ ดาวเรือง และกล้วยไม้ เป็นต้น
แมลงศัตรูธรรมชาติที่พบเข้าทำลายหนอนกระทู้หอม ได้แก่ แมลงเบียน เช่น แตนเบียนหนอน
Microplitis manilae Ashmead แตนเบียนหนอน
Charops sp. แตนเบียนหนอน
Trathala sp. แตนเบียนหนอน
Chelonus sp. แตนเบียนหนอน
Apanteles sp. และแมลงวัน
Peribaea orbata (Wiedemann) แมลงห้ำ เช่น มวนพิฆาต
Eocanthecona furcellata (Woff) และโรคที่ทำลายแมลงเป็นศัตรูธรรมชาติประเภทเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่
Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) ซึ่งได้นำมาพัฒนาใช้กำจัดหนอนกระทู้หอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขยัน สุวรรณ.ไม่ระบุปีที่พิมพ์.แมลงและไรศัตรูพืชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย.ภาควิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่.494 หน้า.
สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น และคณะ.2554.เอกสารวิชาการ แมลงศัตรูผัก เห็ด และไม้ดอก.กลุ่มบริหารศัตรูพืช / กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.พิมพ์ครั้งที่ 1.74 หน้า.
เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2559.การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกะหล่ำ เทคนิคการพ่นสารฆ่าแมลงในพืชผักและกลไกการต้านทานสารฆ่าแมลงของแมลงศัตรูผักที่สำคัญ.กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.จัดทำโดย สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย.86 หน้า.
เอกสารวิชาการ.2564.การใช้สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชเพื่อแก้ไขปัญหาความต้านทานศัตรูพืช.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.146 หน้า.
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000