มะละกอ เป็นไม้ผลที่ผิวทั่วทั้งลำต้นค่อนข้างแพ้ต่อสารกำจัดศัตรูพืชได้ง่าย (แพ้ยา หรือยาเป็นพืชต่อพืช) ไม่ว่าจะเป็นส่วนของใบ ดอก ผล และลำต้น หรือที่ชาวสวนมักเรียกอาการดังกล่าวว่า เป็นผลมาจาก "ยาร้อน"
ส่วนใหญ่ (ผู้เขียน) จึงมักใช้มะละกอเป็นพืชสำหรับทดสอบอาการเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะต้นกล้ามะละกอ สำหรับชาวสวนที่ปลูกมะละกอการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชหรืออาหารเสริม-ปุ๋ยทางใบ ควรมีการทดสอบความเป็นพิษของสารนั้นๆ ก่อน โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องผสมสารหลายชนิดในการพ่นยา เช่น อาจจะมีการปลูกต้นมะละกอแยกไว้ราว 4-5 ต้น หรือเพาะต้นกล้ามะละกอแยกไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อทดสอบความเป็นพิษดังกล่าว เมื่อราวเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2565 (ผู้เขียน) ได้ทำการทดสอบความเป็นพิษของสารกำจัดแมลง โปรฟีโนฟอส 50% EC ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในรูปสูตรผสมน้ำมัน หรืออิมัลชั่น ในอัตราที่แตกต่างกันและผสมสารจับใบ พ่นในขณะสภาพภูมิอากาศร้อนจัด แดดแรง และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ โดยพ่นช่วง 11.00 น. ของวัน (พ่นในลักษณะอาบใบและลำต้น ณ จ.สุพรรณบุรี) และตั้งต้นกล้ามะละกอให้รับแสงแดดช่วงบ่าย
หลังพ่นสาร 3-7 วัน พบว่า โปรฟีโนฟอส อัตรา 60 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรขึ้นไป ต้นกล้ามะละกอมีอาการใบไหม้ปรากฏ จากการทดสอบสรุปได้ว่า สารกำจัดศัตรูพืชสูตรผสมน้ำมัน "การเป็นพิษต่อพืชจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อัตราการผสม สภาพภูมิอากาศ ลักษณะการพ่น (อาบใบ)"
การทดสอบความเป็นพิษของสารกำจัดแมลง "โปรฟีโนฟอส 50% EC" ในอัตราต่างกัน ช่วงแดดแรงและพ่นในลักษณะอาบใบ
การพ่นสารกำจัดแมลงในพืชชนิดหนึ่งแล้วไม่มีอาการเป็นพิษต่อพืช ใช่ว่าจะไม่เป็นพิษต่อพืชอื่น ตัวอย่างกรณีนี้ เช่น มีชาวสวนมะละกอใช้ยากันยุงพ่นเพลี้ยในต้นมะนาวริมสวนมะละกอ ก่อนจะนำมาพ่นมะละกอ แล้วปรากฏว่า "มะละกอมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง"
Mardubai by James Thirasak
มือถือ. 082-353-5156
อีเมล. thirasak.chuchoet@gmail.com
ร้านหัวถนนการเกษตร-289
เลขที่ 52/4 ถ.นครศรีฯ-ปากพนัง ต.ในเมือง
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
80000