Logo

ชีววิทยา​ของเพลี้ยไฟ​ (Biology of Thrips)

Thirasak Chuchoet • June 24, 2024
เรื่องเล่า.!! ชีววิทยา​ของเพลี้ยไฟ​ (Biology of Thrips)

ชีววิทยา​ของเพลี้ยไฟ​ (Biology of Thrips)

   เพลี้ยไฟ​ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ​ คือ​ thrips ซึ่งเป็นทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ จึงต้องเขียน ​thrip เติมตัว​s​ เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่อยู่ในอันดับไทซานอฟเทอร่า​ (Order: Thysanoptera)​ ตามการจำแนกลำดับ​อนุกรมวิธานสิ่งมีชีวิต​ ชื่ออันดับนี้มาจากลักษณะของปีก​ คือ​ ลักษณะเป็นก้านยาวและมีขนละเอียดขึ้นเรียงรายที่ขอบทั้งสองข้าง​​ในระยะตัวเต็มวัย​ (ตัวแก่)​ มักมีปีก​ 2 คู่​ (บางชนิดไม่มีปีก)​ ลักษณะ​ที่สำคัญอีกประการ​ คือ​เพลี้ยไฟมีกราม​ (mandible) ข้างซ้ายเพียงข้างเดียว ส่วนกรามข้างขวาหายไปเมื่อลอกคราบจากตัวอ่อนวัยที่​ 1 เป็นตัวอ่อนวัยที่​ 2

    การเจริญเติบโตของเพลี้ยไฟเป็นแบบกึ่งกลางระหว่างแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย (gradual metamorphosis) กับแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) คือตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีรูปร่างคล้ายกัน​ เพลี้ยไฟหลายชนิดสามารถสืบพันธุ์แบบไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ (parthenogenesis) ได้​ เมื่อโตเต็มที่มีความกว้างของลำตัวราว​ 0.2-0.3​ มิลลิเมตรหรือน้อยกว่า ความยาวราว​ 0.8-2 มิลลิเมตร​​ (ขึ้นอยู่กับชนิดของเพลี้ย)​ ซึ่งเทียบได้เท่ากับขนาดของไส้ดินสอกด  ​เพลี้ยไฟมีปากแบบเขี่ย-ดูด (rasping-sucking type) ​โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยใบอ่อน​ ดอก​ ผลอ่อนและตุ่มตาเจริญทำให้เกิดบาดแผล​แล้วจึงดูดกินน้ำเลี้ยงที่ซึมไหลออกมา​ เพลี้ยไฟมักบินได้ไม่ค่อยเก่งแต่ลมสามรถหอบพาไปได้ไกลหลายกิโลเมตร ทำให้การแพร่ระบาดค่อนข้างรุนแรงและเป็นบริเวณกว้าง

    แมลงในอันดับไทซานอฟเทอร่านี้ แบ่งเป็น 2 อันดับย่อย คือ เทเรบรันเทีย​ ​(Sub-order: Terebrantia)​ และทูบูลิเฟอร่า​ ​(Sub-order: Tubulifera)​ โดยแบ่งตามลักษณะของอวัยวะวางไข่ของเพศเมีย

    1. อันดับย่อย:​ เทเรบรันเทีย​ ​(Terebrantia)​

    อวัยวะวางไข่มีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย ​(saw-tailed thrips)​ ยื่นออกมาทางด้านล่างของส่วนปล้องท้อง​ ปล้องที่ 10 และปลายปล้องท้องนี้มีลักษณะเป็นรูปถ้วย (cone) ปีกคู่หน้ามีเส้นปีกตามยาว​ ​ประกอบด้วยวงศ์สำคัญๆ​ 4 วงศ์​ (Family) คือ Aeolothripidae, Merothripidae, Heterothripidae และ Thripidae เพลี้ยไฟที่เป็นศัตรูพืชที่สำคัญเกือบทั้งหมดอยู่ในวงศ์ทรีพิดี้ (Family​: Thripidae)​ มีประมาณ 1,700 ชนิด แบ่งเป็น 6 วงศ์ย่อย วงศ์ย่อยที่สำคัญ คือวงศ์ย่อยแพนชี้โตทริพินี้ (Sub-family​: Panchaetothripinae)​[1] และทริพินี้​ (Sub-family​: Thripinae)

    เพลี้ยไฟในอันดับย่อยนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศเมีย เนื่องจากเพลี้ยไฟเพศเมียพัฒนาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ ในขณะที่เพลี้ยไฟเพศผู้พัฒนามาจากไข่ที่ปฏิสนธิ เพศเมียวางไข่โดยใช้ขอบหยักของอวัยวะที่วางไข่ตัดหรือทำให้เกิดรูเล็กๆ บนใบอ่อน​ ดอกหรือกลีบดอก​ และวางไข่ในรูนั้น

    2. อันดับย่อย:​ ทูบูลิเฟอรา​ (Tubulifera)​

    เพศเมียจะไม่ปรากฏอวัยวะวางไข่ออกมาภายนอกให้เห็น ปล้องท้องปล้องที่ 10 มีลักษณะเป็นท่อยาว (tube) ปีกคู่หน้าไม่มีเส้นปีก มีวงศ์ที่สำคัญ คือ วงศ์พลีโอทริพิดี้ (Family: Phlaeothripidae) ชนิดของเพลี้ยไฟในวงศ์นี้ที่พบบ่อย​ คือ​ เพลี้ยไฟมะเดื่อ​และเพลี้ยไฟไทรคิวบา (Gynaikothrips spp.)

    เพลี้ยไฟในอันดับย่อยทูบูลิเฟอรา​ส่วนใหญ่เป็นแมลงตัวห้ำที่กินเชื้อราหรือแมลงอื่นๆ โดยมีเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นศัตรูพืช​ เพลี้ยไฟเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าเพลี้ยไฟในอันดับย่อยเทเรบรันเทีย​โดยมีความยาว​ 2.5 ถึง 3.0 มิลลิเมตร

[1]เพลี้ยไฟในวงศ์ย่อยแพนชี้โตทริพินี้ มักมีลำตัวสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม และมีลวดลายบนด้านหลังของลำตัวแบบตาข่ายหรือร่างแห

ชนิดของเพลี้ยไฟ

    เพลี้ยไฟที่พบในประเทศไทยมีมากกว่า 100 ชนิด แต่มีเพลี้ยไฟราว 40​ ชนิดเท่านั้นที่ได้รับการจำแนกและตั้งชื่อสามัญแล้ว​ ดังนี้

  1. เพลี้ยไฟกระดังงา (Green house thrips:  Heliothrips haemorrhoidalis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  2. เพลี้ยไฟกล้วยไม้ (Orchid thrips:  Dichromothrips corbetti) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  3. เพลี้ยไฟกินไร (Mite eating thrips:  Scirtothrips asura) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  4. เพลี้ยไฟแกลดิโอลัส (Gladiolus thrips:  Thrips simplex) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  5. เพลี้ยไฟโกโก้ (Red-banded cocoa thrips:  Selenothrips rubrocinctus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  6. เพลี้ยไฟขอบปล้องหยัก (Composite thrips:  Microcephalothrips abdominalis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  7. เพลี้ยไฟข้าว (Oriental rice thrips:  Stenchaetothrips biformis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  8. เพลี้ยไฟข้าวโพด (Corn thrips:  Frankliniella williamsi) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  9. เพลี้ยไฟดอกถั่ว (Flower bean thrips:  Megalurothrips sjostedti) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  10. เพลี้ยไฟดอกไม้ตะวันตก (Western flower thrips:  Frankliniella occidentalis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  11. เพลี้ยไฟดอกไม้ฮาวาย (Hawaiian flower thrips /Banana flower thrips:  Thrips hawaiiensis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  12. เพลี้ยไฟตัวห้า (Predatory thrips:  Aeolothrips sp.) วงศ์ Aeolothripidae
  13. เพลี้ยไฟไต้หวัน (Taiwan thrips:  Thrips taiwanus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  14. เพลี้ยไฟถั่ว (Bean thrips:  Caliothrips sp.) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  15. เพลี้ยไฟถั่วลิสง (Bean thrips:  Caliothrips phaseoli) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  16. เพลี้ยไฟถั่วเหลือง (Soybean thrips:  Caliothrips indicus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  17. เพลี้ยไฟท่อ (Tube thrips:  Haplothrips sp.) วงศ์ Phlaeothripidae; วงศ์ย่อย Phlaeothripinae
  18. เพลี้ยไฟไทรคิวบา​  (Cuban laurel thrips /laurel thrips:  Gainaikothrips ficorum) วงศ์ Phlaeothripidae; วงศ์ย่อย Phlaeothripinae
  19. เพลี้ยไฟฝ้าย /เพลี้ยไฟเมล่อน /เพลี้ยปาล์ม (Cotton thrips /Melon thrips /Palm thrips:  Thrips palmi) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  20. เพลี้ยไฟพริก (Chilli thrips /Yellow tea thrips:  Scirtothrips dorsalis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  21. เพลี้ยไฟมด (Ant thrips:  Franklinothrips vespiformis) วงศ์ Aeolothripidae
  22. เพลี้ยไฟมะเขือ (Honeysuckle thrips:  Thrips flavus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  23. เพลี้ยไฟมะเขือเทศ /เพลี้ยไฟดอกไม้ (Tomato thrips /Cotton bud thrips:  Frankliniella schultzei) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  24. เพลี้ยไฟมะละกอ (Papaya thrips:  Thrips parvispinus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  25. เพลี้ยไฟมะลิ (Jasmine thrips:  Thrips orientalis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  26. เพลี้ยไฟมังคุด (Mangosteen thrips:  Scirtothrips oligochaetus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  27. เพลี้ยไฟสุมาตรา (Sumatra thrips:  Thrips sumatrensis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  28. เพลี้ยไฟแสนสวย (Beautiful thrips:  Mymarothrips garuda) วงศ์ Aeolothripidae
  29. เพลี้ยไฟหญ้า (Grass thrips:  Ayyaria chaetophora) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  30. เพลี้ยไฟหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus thrips:  Chirothrips spiniceps) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  31. เพลี้ยไฟหนาม (Leaf thrips:  Astrothrips globiceps) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  32. เพลี้ยไฟหม่อน (Mulberry thrips:  Pseudodendrothrips mori) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Dendrothripinae
  33. เพลี้ยไฟหลากสี (Color thrips:  Thrips coloratus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  34. เพลี้ยไฟหอม /เพลี้ยไฟมันฝรั่ง (Onion thrips /Potato thrips:  Thrips tabaci) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  35. เพลี้ยไฟเห็ด (Pygmae thrips:  Pygmaeothrips charactis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  36. เพลี้ยไฟโหระพา (Basil thrips:  Bathrips melanicornis) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae
  37. เพลี้ยไฟองุ่น (Gravevine thrips:  Rhipiphorothips cruentatus) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Panchaetothripinae
  38. เพลี้ยไฟอ้อย (Sugarcane thrips:  Fulmikiola serrate) วงศ์ Thripidae; วงศ์ย่อย Thripinae

พืชอาหาร

    เพลี้ยไฟแต่ละชนิดมีพืชอาหารได้มากกว่า 50 ชนิด​ ดังนั้น จึงพบการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในเกือบทุกพืช​ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ ธัญพืช พืชผัก​ พืชไร่ และไม้ผล

ลักษณะการทำลาย

    เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีทั้งประโยชน์และโทษเช่นเดียวกับแมลงอีกหลายชนิด เพลี้ยไฟหลายชนิดเป็นตัวห้ำเพลี้ยไฟด้วยกันเองและเป็นตัวห้ำในไรศัตรูพืช​บางชนิด เช่น เพลี้ยไฟ​  Aeolothrips sp. และ  Scolothrips sp.

    เพลี้ยไฟที่เป็นศัตรูพืชทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย​กรามปากไม่ค่อยสู่จะแข็งแรงมากนัก ลักษณะการทำลายจึงเป็นแบบเขี่ย-ดูด (rasping-sucking type) ส่วนของพืชที่ถูกทำลายจึงเป็นส่วนอ่อนหรือเนื้อเยื่อเจริญ​ของพืช เช่น ใบอ่อน ดอก ผลอ่อน​ ตาใบ​และตาดอก​ ​ทำให้ใบเกิดรอยแผลคล้ายรอยขีดข่วนขนาดเล็กมาก สีซีดและด่าง หรือทำให้ขอบใบแห้ง ตาอ่อนชะงักการเจริญเติบโต​ เมื่อใบหรือผลแก่ขึ้นจะเป็นรอยกร้านสีน้ำตาลหรือรอยทางเป็นเส้นตาข่ายคล้ายขี้กลาก พืชแคระแกร็นชะงักการเจริญเติบโต หากเพลี้ยไฟเข้าทำลายดอก ช่อดอก จะทำให้ดอกเหี่ยวแห้งและหลุดร่วงได้ง่าย​

   กรณี ที่พบแผลในใบแก่หรือผลแก่ เป็นผลมาจากการเข้าทำลายในระยะใบอ่อน ดอกหรือผลอ่อน ดังนั้น การพ่นสารกำจัดเพลี้ยไฟในระยะใบแก่-ผลแก่ จึงไม่ช่วยอะไร

   การเข้าทำลายใบอ่อน

    ใบอ่อนของพืชที่ถูกทำลายจะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะสรีระของใบพืชชนิดนั้นๆ ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ

    1. ใบม้วนงอหงายขึ้น : เช่น พริก มะเขือเทศ มะลิ พืชตระกูลแตง ส้ม

    ใบอ่อนมักจะบิดม้วนงอหงายขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื้อใกล้เส้นใบจะถูกทำให้ฉีกขาด (แผลเล็กมากสังเกตุยาก) ส่วนมากมักเห็นเป็นรอยแผลเป็นเส้นๆ คดไปมา สีขาวหรือขาวอมเทา สำหรับบางพืช เช่น มะเขือเทศ หรือสตรอเบอร์รี่ สีของแผลอาจเป็นสีแดงอมม่วง หรือสีม่วงแดง ตามลำดับ

    2. ใบม้วนงอ บิด ผิดรูป และมีแผลไหม้ : เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด 

    ใบอ่อนที่ถูกทำลายใหม่ๆ จะยังไม่ปรากฏอาการไหม้ให้เห็น แต่ใบจะม้วนงอ บิดผิดรูปทรง ส่วนใหญ่จะม้วนงอหงายหน้าใบ ต่อมาเมื่อแผลฉีกขาดเริ่มแห้งซึ่งเกิดจากเพลี้ยไฟใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื้อบริเวณข้างๆ เส้นใบ หรือเส้นใบ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมแดง บางพืชที่ถูกเข้าทำลายรุนแรงใบอ่อนจะหลุดร่วง แต่หากไม่หลุดร่วงจะเกิดอาการใบไหม้รุนแรง ใบหยุดขยายขนาด ใบจะขนาดเล็กผิดปกติ

   การเข้าทำลายช่อดอกและดอก

    เพลี้ยไฟมักจะเริ่มเข้าทำลายเมื่อดอกเริ่มบาน ในพืชที่ออกดอกเป็นช่อจะเริ่มพบการทำลายเมื่อดอกแรกๆ เริ่มบาน ต่อจากนั้นเพลี้ยไฟจะเข้าทำลายดอกที่ยังตูมตามไปด้วย

    สำหรับดอกทุเรียน เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายดอกที่เริ่มปลิขาวหรือระยะดอกหอมเป็นต้นไป

    การทำลายจะทำให้ดอกแห้ง​ หรือมีอาการแห้งไหม้ ดอกหลุดร่วงได้ง่าย

   การทำลายที่ผล

    เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายต่อเนื่องหลังดอกบาน หรือเมื่อเริ่มติดผลใหม่ๆ เมื่อผลพัฒนาจนเปลือกแข็งแรงขึ้นเพลี้ยไฟจะย้ายไปหาผลที่อ่อนกว่า

    สำหรับผลที่มีผิวเรียบ หรือมันวาว จะพบรอยแผลเป็นร่างแหตาข่ายสานทับกันไปมา ในส้มจะเป็นเส้นสีขาว ส่วนในมะเขือเปาะและมะม่วงจะเป็นเส้นสีน้ำตาลแดง สำหรับมะม่วงอาจพบโรคสเคปเข้าทำลายซ้ำ ทำให้เป็นแผลตกสะเก็ด

    การเข้าทำลายผลอ่อนทุเรียน จะทำให้ปลายหนามฉ่ำ มีสีแดงอมน้ำตาล ต่อมาเมื่อหนามขยายขนาดปลายหนามจะฉีกแตกออกจากกัน​เกิดเป็นอาการหนามจีบ ส่วนใหญ่เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายบริเวณใกล้ขั้วผลมากกว่าส่วนอื่นๆ บางครั้งจะพบว่าร่องระหว่างหนามถูกทำลายด้วยเช่นกัน จนทำให้ร่องหนามเป็นแผลมีสีดำหรือสีแดงอมน้ำตาลเข้ม

    นอกจากความเสียหายดังกล่าวแล้วเพลี้ยไฟยังขับถ่ายของเสียออกมา​ ซึ่งมีลักษณะคล้ายหยดน้ำเล็กๆ ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืช​ ของเสียเหล่านี้เมื่อแห้งจะทำให้เกิดรอยตำหนิเป็นจุดดำ ทำให้ผลผลิตไม่น่ารับประทาน​ จำหน่ายไม่ได้ราคา

พาหะนำเชื้อไวรัส

    เพลี้ยไฟบางชนิดสามารถเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อโรคไวรัสไปสู่พืชได้ ​เช่น เพลี้ยไฟหอม​  Thrips tabaci, เพลี้ยไฟมะเขือเทศ  Frankliniella schullzei, เพลี้ยไฟยาสูบ  Frankliniella fusca, เพลี้ยไฟดอกไม้ตะวันตก  ​Frankliniella occidentalis (เป็นพาหะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด)​ และเพลี้ยไฟพริก​  Scirtothrips dorsalis เพลี้ยเหล่านี้มีรายงานเป็นพาหะนำโรคไวรัสใบเหี่ยว-ลายมะเขือเทศ​ Tomato Spotted Wilt Virus (TSWV), โรคไวรัสใบด่างเหลืองถั่ว​ Peanut Yellow Spot (YSV) และโรคไวรัส​ Tomato Streak Virus​ (TSV)​ และโรคเชื้อไวรัส necrotic spot virus สำหรับโรคไวรัส​ ​Melon Yellow Spot Virus (MYSV) ที่สร้างความเสียหายในพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา​ แตงโม มะระ​ ฟักทอง เมล่อน และแคนตาลูป​ มีเพลี้ยไฟฝ้าย​หรือเพลี้ยไฟเมล่อน​  Thrips palmi เป็นพาหะ

    การเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสของเพลี้ยไฟ​นั้นสัมพันธ์กับช่วงวงจรชีวิตของเพลี้ยไฟ​ กล่าวคือ​ การเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัสเป็นแบบข้ามระยะการเจริญเติบโต (transtadial transmission) เพลี้ยไฟที่จะติดเชื้อไวรัส​จะเกิดขึ้นกับตัวอ่อนวัย​ 1 ของเพลี้ยไฟ​ โดยตัวเต็มวัยไม่สามารถติดเชื้อเองโดยตรง เมื่อตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงและได้รับเชื้อไวรัสจากพืชต้นที่ติดโรคแล้ว เชื้อไวรัสจะมีชีวิตอาศัยอยู่ภายในตัวอ่อนเพลี้ยไฟ​จนกระทั่งตัวอ่อนเจริญพัฒนากลายเป็นตัวเต็มวัยแล้วจึงสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสให้กับพืชต้นอื่นๆ​ ผ่านทางน้ำลายโดยการบินไปยังพืชต้นอื่นและมีลักษณะเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัสแบบพาหะเชื้อไวรัสถาวร​ (persistent)​

    พืชที่ติดเชื้อไวรัสอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเพลี้ยไฟด้วย โดยพืชที่ติดเชื้อไวรัสจะดึงดูดเพลี้ยไฟได้ดีกว่าต้นปกติและเพลี้ยไฟที่ติดเชื้อมักจะกินอาหารมากกว่าเพลี้ยไฟที่ไม่ติดเชื้อ

วงจรชีวิตของเพลี้ยไฟ

    เพลี้ยไฟทุกชนิดมีวงจรชีวิตเหมือนกัน การเจริญพัฒนาของแต่ละช่วงชีวิตเป็นแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย​ (gradual metamorphosis) กับแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีรูปร่างคล้ายกัน เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้น ประกอบไปด้วย​ 4 ระยะ​ คือ​ ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้และตัวเต็มวัย

   ตัวเต็มวัย​ (adults) 

    ตัวเต็มวัย​ หรือบางครั้งเรียกว่า​ ตัวแก่ หรือวัย​เจริญ​พันธุ์​ เพลี้ยไฟมีหลากหลายชนิดมาก​ บางชนิดมีลำตัวสีแดง​ สีส้ม​ สีเหลืองอ่อน​ สีเหลือง​ สีน้ำตาล​ สีดำ​ และ​ 2 สี​ คือ​ ลำตัวส่วนหัวถึงส่วนอกมีสีเหลือง​ส่วนช่วงท้องสีดำ​ เป็นช่วงวัยที่มีอายุมากกว่าวัยระยะอื่นๆ​ อาจมีอายุตั้งแต่ 10 กว่าวัน เรื่อยไปจนถึง 60 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเพลี้ยไฟ​​ ในวัยนี้จะมีปีกและบินได้ไกลโดยอาศัยแรงลม​ บางชนิดเห็นปีกชัดเจน บางชนิดอาจสังเกตุเห็นปีกได้ยาก​ บางชนิดไม่มีปีก

    วัยนี้มีการผสมพันธุ์​เพื่อวางไข่​ บางชนิดสามารถ​สืบพันธุ์​ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ เพลี้ยไฟในอันดับย่อยเทเรบรันเทีย​ เพศเมียวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง โดยการใช้อวัยวะวางไข่เซาะร่องใต้ผิวใบแล้วสอดไข่ไว้ใต้เนื้อเยื่อของพืช ส่วนอันดับย่อยทูบูลิเฟอรา​ เพศเมียวางไข่ครั้งละหลายฟอง บนผิวหน้าของพืช​

    เพลี้ยไฟตัวเต็มวัยเพศเมีย​แต่ละชนิดสามารถวางไข่ได้มากกว่า​ 30​ จนถึง​ 60​ ฟองต่อตัว บางชนิดสามารถวางไข่ได้ถึง 100 ฟองต่อตัว

   ไข่​ (eggs) 

    ไข่มีขนาดเล็ก​ ลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว มีสีขาวใสจนถึงสีเหลือง โดยส่วนมากไข่มีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนท้องของเพศเมีย​ มีความกว้างประมาณ​ 0.10 มิลลิเมตร​ ยาว​ 0.25 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่มักวางไข่บริเวณใกล้เส้นกลางใบ​ หรือใกล้เส้นแขนงใบ​ และกลีบดอก

    อายุไข่ของเพลี้ยไฟที่เป็นศัตรูพืช​ที่สำคัญ​ เช่น​ เพลี้ยไฟพริก​ เพลี้ยไฟดอกไม้ตะวันตก​ เพลี้ยไฟดอกไม้ฮาวาย​ เพลี้ยไฟเมล่อน​ เพลี้ยไฟหอม​ เพลี้ยไฟมะเขือเทศ​ มักมีอายุไข่โดยเฉลี่ยราว​ 1-3​ วัน​ จึงฟักออกมาเป็นตัวอ่อน​ ไข่เพลี้ยไฟบางชนิดหรือบางฤดูอาจมีอายุ​ 6-7 วัน​

   ตัวอ่อน​ (instar หรือ​ nymphs) 

    ตัวอ่อนระยะนี้ไม่มีปีก​ ลำตัวมีสีขาวใส​ สีเหลืองอ่อน​ สีเหลือง สีส้ม​ ​สีแสด​หรือสีแดง​ ขึ้นอยู่กับชนิดของเพลี้ยไฟ บางชนิดชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีความต้องการสารอาหารมาก​จึงดูดน้ำเลี้ยงจากพืชตลอดเวลาและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น​ จึงมักพบพฤติกรรม​เป็นตัวห้ำในวัยนี้ด้วย​ โดยการกินไข่และตัวอ่อนของไรขาว​ และอาจกินแมลงศัตรูพืช​ชนิดอื่นด้วย

    ตัวอ่อน​ทำลายพืชเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย​ แบ่งออกเป็น​ 3 วัย

    ตัวอ่อนวัย​ 1 (first instar หรือ 1st instar)

    ตัวอ่อนวัยแรกนี้มักมีสีขาวใส ลำตัวผอมเรียว​ ขนาดเล็กมาก ขนาดลำตัวยาวเพียง 0.2-0.3 มิลลิเมตร เคลื่อนไหวตลอดเวลาและเริ่มทำลายพืชทันทีเมื่อฟักออกจากไข่​ ตัวอ่อนวัยแรกนอกจากจะทำลายพืชแล้ว ยังเป็นศัตรูของไข่และตัวอ่อนตัวเล็กๆ ของไรศัตรูพืชด้วย เช่น​ ไรขาวพริก​ ดังนั้น ในช่วงที่มีการระบาดของเพลี้ยไฟจึงมักไม่ค่อยพบการระบาดของไรศัตรูพืช

    ตัวอ่อนวัย​ 1 เมื่อแรกฟักออกจากไข่​จะมีกรามปาก 2 ข้าง​และเป็นช่วงวัยที่จะติดเชื้อไวรัสได้ แม้พืชอาหารติดเชื้อไวรัส​ทั้งแบบแสดงอาการและแบบไม่แสดงอาการของโรคไวรัส​

    ตัวอ่อนวัยนี้มีอายุโดยเฉลี่ยราว 1-2 วัน หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเพลี้ยไฟ

    ตัวอ่อนวัย​ 2 (second instar หรือ 2nd instar) 

    หลังจากตัวอ่อนวัย 1 ลอกคราบจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนวัย 2 ลำตัวมีสีเหลืองมากขึ้น มีขนาดลำตัวอวบขึ้นมากกว่าตัวอ่อนวัย 1 โดยเฉลี่ยมีความยาว 0.3-0.4 มิลลิเมตร ในระยะนี้การเคลื่อนไหวจะรวดเร็วและว่องไวมาก แต่ยัง​ไม่มีปีก 

    หลังลอกคราบเป็นตัวอ่อนวัย 2 กรามปากด้านขวาจะหดสั้นลงจนเหลือเพียงแต่กรามปากฝั่งซ้าย

    ตัวอ่อนวัยนี้มีอายุโดยเฉลี่ยราว 2-4 วัน หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเพลี้ยไฟ

   ตัวอ่อนวัย​ 3 หรือระยะก่อนเข้าดักแด้​ (prepupa)​

    ตัวอ่อนวัย 3 เป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ ลำตัวมีสีเข้มขึ้นมากและมีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นหลังจากตัวอ่อนวัย 2 ลอกคราบ มีขนาดลำตัวโดยเฉลี่ยราว 0.5-0.7 มิลลิเมตร มีการพัฒ​นาระยางที่ต่อไปจะพัฒนาเป็นปีก ตัวอ่อนในวัยนี้ยังคงกินอาหารและทำลายพืชอยู่ แต่การเคลื่อนไหวจะช้าลง

    ตัวอ่อนวัยนี้มีอายุโดยเฉลี่ยราว 1-2 วัน หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเพลี้ยไฟ

   ดักแด้​ (pupa)

    เพลี้ยไฟจะเข้าดักแด้ในดินหรือตามเศษซากพืชซากสัตว์บนพื้น​ ดักแด้ระยะนี้จะมีสีเข้มขึ้นมาก แผ่นปีกทั้งสองเจริญมากขึ้นและยาวเกือบถึงปลายส่วนท้อง ระยะดักแด้จะไม่เคลื่อนไหวและไม่กินอาหาร หากพืชอาหารสมบูรณ์​หรือมีพืชอาหารเพียงพอ เพลี้ยไฟจะออกจากดักแด้ได้ภายใน​ 1-3 วัน​ แต่หากไม่มีพืชอาหารหรือพืชขาดแคลน​ เพลี้ยไฟสามารถอยู่ในดินได้นาน​ ในพื้นที่สภาพภูมิอากาศเย็นในต่างประเทศ​ เช่น​ ยุโรป​ จีน​ ญี่ปุ่น​ พบว่าสามารถเข้าดักแด้ได้นานถึง​ 8-9 เดือน​ หลังออกจากดักแด้จะเป็นเพลี้ยไฟตัวเต็มวัย เพลี้ยไฟตัวเต็มวัยจะโผล่ออกมาจากดินและหาที่อยู่ใหม่สำหรับเป็นพืชอาหาร สืบพันธุ์และวางไข่ หากเพลี้ยไฟในระยะตัวอ่อนวัย 1 ติดเชื้อไวรัส เพลี้ยไฟตัวเต็มวัยจะเป็นระยะแพร่เชื้อไปสู่พืชต้นอื่นๆ เนื่องจากเป็นวัยที่สามารถเคลื่อนที่ได้ไกลโดยการบิน แม้การบินของเพลี้ยไฟจะไม่เก่งมากนักแต่ลมจะเป็นตัวช่วยให้บินและลอยไปได้ไกลเป็นกิโลเมตร

    แม้สภาพภูมิอากาศร้อนจะไม่ส่งเสริมให้ดักแด้ของเพลี้ยไฟเข้าดักแด้เป็นระยะเวลานานเพื่อรอพืชอาหารให้สมบุรณ์ แต่เนื่องจากเพลี้ยไฟมีพืชอาหารกว้างมากและมีวัชพืชหลายชนิดเป็นพืชอาหารรอง ดังนั้้น การแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟจึงเกิดขึ้นได้เกือบตลอดปี

    โดยทั่วไป​เพลี้ยไฟจะมีวงจรชีวิตตลอดชั่วอายุขัยนานได้มากกว่า​ 1 ถึง​ 2 เดือน​ แต่อายุขัยชั่วรุ่นหนึ่งๆ​ พัฒนาจากระยะไข่จนเป็นตัวเต็มวัย​อาจใช้เวลาสั้นมากกว่า​ 14​ วัน​ บางครั้งอาจใช้ระยะเวลาเพียง 9-10 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศ​ที่ร้อนขึ้นและแห้งแล้ง โดยพบว่าแมลงศัตรูพืชหลายชนิดมีช่วงพัฒนาดังกล่าวสั้นลงเช่นกัน​ ในสมัยก่อนมีรายงานว่าเพลี้ยไฟชั่วรุ่นหนึ่งใช้เวลาเจริญพัฒนาราว​ 19-21 วัน

การแพร่ระบาด

    การแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟพบได้หลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพื้นตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย รวมถึงไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางการเกษตร เพลี้ยไฟสามารถเข้าทำลายพืชได้เกือบตลอดทั้งปี มักพบการระบาดในช่วงฤดูร้อนหรือช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง

การป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟ​ เร็วๆ​ นี้..

แหล่งสืบค้น:

    ขยัน สุวรรณ.ไม่ระบุปีที่พิมพ์.แมลงและไรศัตรูพืชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย.ภาควิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่.494 หน้า.

    ศรุต สุทธิอารมณ์ และคณะ.2557.แมลงศัตรูไม้ผล.กลุ่มบริหารศัตรูพืช /กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิชาพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การแเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.151 หน้า.

    สมศักดิ์ ศิริผลตั้งมั่น และคณะ.2554.เอกสารวิชาการ แมลงศัตรูพืช เห็ด และไม้ดอก.กลุ่มบริหารศัตรูพืช /กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิชาพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.พิมพ์ ครั้งที่ 1.73 หน้า.

    อรพรรณ วิเศษสังข์ และจุมพล สาระนาค.2558.โรคพืชผักและการป้องกันกำจัด.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : บริษัทสยามคัลเลอร์พริน จำกัด.164 หน้า.

    เอกภพ บุญทอง, อรัญ งามผ่องใส และ กราญ์จนา ถาอินชุม.การเปลี่ยนแปลงประชากรเพลี้ยไฟเมล่อน Thrips palmi Karny (Thysanoptera: Thripidae) และการเกิดโรคไวรัสในเมล่อน 2 สายพันธุ์ที่ปลูกภายใต้สภาพโรงเรือน Population fluctuation of melon thrips, Thrips palmi Karny (Thysanoptera: Thripidae) and viral disease activity in 2 melon varieties under greenhouse condition.แก่นเกษตร 49 ฉบับที่ 2: 381-390 (2564)./doi:10.14456/kaj.2021.33.

    อิทธิพล บรรณาการ ศิริณี พูนไชยศรี สิทธิศิโรดม แก้วสวัสดิ์.อนุกรมวิธานเพลี้ยไฟวงศ์ย่อย Panchaetothripinae Taxonomy of Thrips in Subfamily Panchaetothripinae.รายงานผลงานวิจัยประจำปี ๒๕๕๕ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.หน้า 2148-2165.

    เอกสารวิชาการ แมลง-ไร ศัตรูทุเรียน -- กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2562

    David Held and Jeremy Martin Pickens.Thrips: Pests of Ornamental Plants.The Alabama Cooperative Extension System (Alabama A&M University and Auburn University).www.aces.edu.19 November 2018.

    <https://www.researchgate.net/publication/329044465> 

    Marilyn Steiner.Which thrips is that? A guide to the key species transmitting Tomato Spotted Wilt Virus in NSW.NSW Department of Primary Industries.

    <www.agric.nsw.gov.au/reader/hort.>

เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง มีเพลี้ยเป็นพาหะและติดต่อผ่านการสัมผัส
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
โรคไวรัสวงแหวนมะละกอเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรง การป้องกันแมลงพาหะและการจัดการด้วยวิธีผสมผสานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสียหาย [การกำจัดแมลงพาหะ ห้าม!! ใช้คลอฟีนาเพอร์]
แพคโคลบิวทราโซล มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินและส่งเสริมการออกดอกนอกฤดู
By Thirasak Chuchoet October 7, 2024
พ่นสารแพคโคลบิวทราโซล​ร่วมกับ​เหล้าขาว​​ จะส่งเสริมการออกดอกของทุเรียนดีกว่าไม่ผสมเหล้าข้าว.. จริงหรือ..? หรือแค่อุปทานไปเอง.!!
โรคใบจุดมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกัน-กำจัดโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบจุดในมะละกอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย การป้องกันและจัดการโรคควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างเหมาะสม การกำจัดใบที่ติดเชื้อและการเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรค ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งใบ ลำต้นและผล
By Thirasak Chuchoet October 5, 2024
โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ สร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล การจัดการต้องอาศัยการปฏิบัติทางเกษตรที่เหมาะสม และการควบคุมโรคผ่านการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชร่วมกับวิธีเขตกรรม
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี
By Thirasak Chuchoet September 30, 2024
โรคแอนแทรคโนสในผลมะละกอ ปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดแผลเน่าบุ๋มในระยะสุกแก่หรือผลเปลี่ยนสี แต่ระยะเก็บเกี่ยวผลไม่ปรากฏอาการของโรค ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าทำลายแบบเชื้อแฝง
More Posts
Share by: