เตือน!! การใช้ยากำจัดแมลงหวี่ขาวในนาข้าว (Whitefly on Rice)
เตือน!! การใช้ยากำจัดแมลงหวี่ขาวในนาข้าว (Whitefly on Rice)

ช่วงเดือน มิ.ย. ถึงตอนนี้ กระแสข่าวการระบาดของแมลงหวี่ขาวในนาข้าวทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยพบการระบาดในพื้นที่นาข้าวเขตภาคกลาง จ.นครปฐม สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา อ่างทอง ชัยนาท และอาจมีพื้นที่อื่นเพิ่มเติมอีก
สถานการณ์ระบาดแพร่ สามารถพบจำนวนประชากรแมลงหวี่ขาวแลนดิ้งลงในผืนนา (landing) กระจายเต็มพื้นที่ภายใน 2-4 วัน คล้ายลักษณะการอพยพเป็นฝูงขนาดใหญ่ภาในข้ามคืน
จากการติดตามข่าวสารและมีผู้ให้ข้อมูล พอจะอนุมานได้ว่า
1. ชนิดของแมลงหวี่ขาว อาจจะเป็น แมลงหวี่ยาสูบ เมื่อดูจากลักษณะลำตัว (อ้างอิงภาพถ่ายจากเพจ รู้ทันโรคพืช) ซึ่งต่างจากภาพในโพสต์นี้
2. การทำลายข้าว ยังคงพบการทำลายในลักษณะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว “เท่านั้น” โดยมีลักษณะเป็นจุดจ่ำสีขาวหรือสีเหลือง ยังไม่พบลักษณะโรคไวรัสในข้าว (ยังไม่มีการถ่ายทอดเชื้อไวรัส)
3. จำนวนประชากรมหาศาล ในแปลงนาข้าวพบจำนวนแมลงหวี่ขาวต่อ 1 กอข้าว ราว 5-10 ตัว และกระจายเต็มพื้นที่ สภาพการณ์ลักษณะนี้ หากมีการแพร่เชื้อไวรัสน่าจะพบอาการไวรัสกระจายเต็มพื้นที่ แต่ในขณะที่หลายท่านที่ส่งภาพแปลงนาข้าวมาให้ช่วยวิเคราะห์ พบว่า มีอาการของโรคไวรัสประปรายตามขอบแปลง
นอกจากนี้ ข่าวจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เข้าสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น ระบุว่า ไม่พบอาการของโรคไวรัสที่มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ
4. ชาวนานิยมยาน็อค ทั้งจากภาพข่าว คลิป และข้อมูลที่ส่งมาให้ช่วยพิจารณา พบว่า เกือบทุกแปลงข้าวมีการใช้ยาไพมีโทรซีน ยาแมลงกลุ่ม 9 โดยคล้อยหลังจากพ่นยาแมลงยังไม่เสร็จ แมลงหวี่ขาวร่วงสู่ผิวน้ำ ลอยเป็นแพ
บางแหล่งข่าว ระบุ “มีการใช้ยาน็อคเสริมยากลุ่ม 9” บางแหล่งที่โฆษณาพ่นยา ไม่ระบุ “มีการใช้ยาเสริม.. กลุ่ม 9” แต่จากลักษณะการร่วงเป็นใบไม้พลัดใบของแมลงหวี่ขาว เข้าใจได้ว่า “มีการบวกยาน็อคเสริม” ด้วยยากลุ่ม 9 กว่าแมลงจะร่วงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-4 วัน ขึ้นไป (แต่ระหว่างนี้จะหยุดทำลายพืชผล)
การใช้ยาน็อค ส่วนใหญ่นิยมยากลุ่ม 3 (กลุ่มย่อย 3A) เช่น ไซเพอร์เมทริน เดลต้าเมทริน แลมบ์ดาไซฮาโลทริน อัลฟ่าไซเพอร์เมทริน เบต้าไซเพอร์เมทริน ฯ อย่างไรก็ดี แนะนำว่า หากบวกยากลุ่ม 3 ควรเลือกใช้ “อีโทเฟนพรอก หรือ ไบเฟนทริน” เท่านั้น เนื่องจากตัวอื่นในกลุ่ม 3 อาจจะเสริมการระบาดเพิ่ม

หลังพ่น 3-5 วัน กลับมาระบาดเพิ่ม (resurgence)
เท่าที่ได้รับข้อมูลมา พบว่า หลังพ่นยา 3-5 วัน หรือไม่เกิน 10 วัน จะพบการระบาดระลอกใหม่ในแปลงเดิม หากพิจารณาตามวงจรชีวิตและการพ่นยา อาจแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุ
1. ระบาดระลอกใหม่หลังพ่นยา 8-10 วัน หรือมากกว่านี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากยาที่ใช้บางตัวกระตุ้นการระบาดเพิ่ม โดยแมลงหวี่ขาวเพิ่มจำนวนปริมาณไข่ต่อรอบการวางไข่ ความถี่ในการวางไข่ จำนวนสุทธิในการวางไข่ต่อ 1 ตัวเพิ่มขึ้น และเพศเมียไม่ผสมพันธุ์กับเพศผู้ ยากลุ่มนี้ เช่น ยากลุ่ม 3 (ยกเว้น อีโทเฟนพรอกซ์ เพอร์เมทริน และไบเฟนทริน)
2. ระบาดระลอกใหม่หลังพ่นยา 2-5 วัน มีความเป็นไปได้สูงมากที่เกิดจากการใช้อัตรายาแมลงที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะยาน็อคกลุ่ม 3 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการคำนวณอัตรายาผิดพลาดเนื่องจากใช้โดรนพ่น หรือใช้ยาอัตราต่ำในการพ่นด้วยเครื่องสะพายหลัง
ยากลุ่ม 3 จะออกฤทธิ์เร็วมาก (rapid knockdown) โดยมีผลให้แมลงเกิดอาจกล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นตะคริวเฉียบพลัน (muscle cramps) และร่วงหล่น หากใช้อัตราที่น้อยกว่าอัตราที่สามารถกำจัดแมลงได้ (LC80 หรือ LC90) จะทำให้ฤทธิ์ของยาไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งจนเป็นอัมพาต ดังนั้น ภายหลังพ่นยา 2-4 วัน แมลงจึงฟื้นกับมาเป็นปกติ และเช่นเดียวกันการใช้ยากลุ่ม 9 อัตราต่ำก็มีลักษณะไม่ต่างจากการใช้ยากลุ่ม 3 อัตราต่ำเช่นกัน แม้มีการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน แต่จุดที่ออกฤทธิ์ต่างกันจึงมีผลต่อสาเหตุการเป็นอัมพาตและลาโลกต่างกัน

อัตรายากลุ่ม 3 และ 9 ที่แนะนำ
กลุ่ม 3 ไบเฟนทริน 10% อัตราใช้ไม่น้อยกว่า 30-40 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อพื้นที่ 2 งาน และ อีโทเฟนฟรอกซ์ 20% อัตราใช้ไม่น้อยกว่า 30-40 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อพื้นที่ 2 งาน
กลุ่ม 9 ไพมีโทรซีน 50% อัตราใช้ไม่น้อยกว่า 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อพื้นที่ 2 งาน
ที่สำคัญเนื่ิองจากระบาดของแมลงหวี่ขาวเป็นบริเวณกว้าง การใช้ยาควรสลับกลุ่มยาโดยในช่วงนี้อาจใช้ยากลุ่ม 3 ผสมกลุ่ม 9 ส่วนช่วงหลังกลางเดือน ก.ค. ถึงสิ้นเดือน ควรใช้กลุ่มอื่น อาทิเช่น ฟิโนบูคาร์บ 50% (กลุ่ม 1A) 50 ซีซี.ต่อน้ำ 20ลิตร ต่อพื้นที่ 2งาน รว่มกับ ฟลอนิคามิด 50% (กลุ่ม 29) 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20ลิตร ต่อพื้นที่ 2 งาน